TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเพื่อไทย VS แบงก์ชาติ คู่กัดตลอดกาล

เพื่อไทย VS แบงก์ชาติ คู่กัดตลอดกาล

ไม่แปลกใจอะไรที่เห็น ขึ้นมาบริหารประเทศไม่ทันครบ 100 วันก็เปิดศึกกับแบงก์ชาติมาเป็นรอบที่ 3 แล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะด้วยวิธีคิดในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่ต่างกันจนดูสวนทางกันมาโดยตลอด ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลเพื่อไทยกับแบงก์ชาติที่ขัดแย้งกัน

หากพลิกปูมดูก็จะเห็นว่า ความขัดแย้งมีมาตั้งแต่รัฐบาลพลังประชน จนกลายร่างมาเป็นเพื่อไทยในปัจจุบัน เชื้อแห่งความขัดแย้งของทั้งคู่สืบเนื่องกันมาตลอด เริ่มจากความขัดแย้งสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในนามพรรคพลังประชาชนก่อนที่จะมาเป็นพรรคเพื่อไทย 

คราวนั้น “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีคลังก็เห็นต่างในเรื่องนโยบาดอกเบี้ยกับแบงก์ชาติ ในยุคผู้ว่าฯ ธาริษา วัฒนเกสมาโดยตลอด เนื่องจากช่วงเวลานั้นเงินเฟ้อพุ่งแรง บางเดือนเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปถึงกว่า 9% แบงก์ชาติจึงขยับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งหมอเลี้ยบเห็นว่าน่าจะมีมาตรการอื่นๆในการคุมเงินเฟ้อได้และต้องการให้แบงก์ชาติดำเนินนโยบายการเงินหนุนนโยบายการคลังของรัฐบาล 

ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ก็ขัดแย้งกับแบงก์ชาติในยุคดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นผู้ว่าฯ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ จนมีข่าว จะปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติทุกวัน 

ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับแบงก์ชาติได้ประทุขึ้นมาอีกครั้งในยุคนายกฯเศรษฐา ทวีสินกับดร.เศรษฐพุฒิ สุทธวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนปัจจุบัน ตั้งแต่เพิ่งเริ่มเข้ามาบริหารประเทศไม่กี่วัน กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากที่มีคนตั้งคำถามถึงแบงก์ชาติว่า ทำไมเศรษฐกิจไม่ดี แต่แบงก์มีกำไรสูงถึง 2.2 แสนล้านบาทสูงเป็นประวัติการณ์  

นายกฯเศรษฐาอาจจะอัดอั้นตันใจมานานเที่ยวนี้จึงโพสต์ข้อความผ่านโซเชียล พาดพิงถึงการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติอย่างทันท่วงทีในโพสต์ระบุว่า “การที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย”

นี่คือสัญญาณความขัดแย้งระลอกใหม่ นับเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่นายกฯเศรษฐา กับผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ต้องปะทะกันทางความคิด โดยครั้งแรก หลังจากพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลเศรษฐา เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ทันไร ก็เกิดวิวาทะในกรณีนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาทให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน จะใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาทซึ่งดร.เศรษฐพุฒิออกโรงท้วงติงทันควัน ว่าไม่ควรแจกเป็นการทั่วไปเพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ และจะเป็นภาระหนี้สินในระยะยาว ในครั้งนั้นนัดเคลียใจที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว 

ไม่นานก็มีครั้งที่ 2 เมื่อเศรษฐาไม่ค่อยสบอารมณ์ต่อท่าทีของแบงก์ชาติในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยมีทิศทางลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 และปรับลดเป้าตัวเลขจีดีพีลง 0.8% เหลือ 2.8% จาก 3.6% สวนทางนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 

แต่ครั้งที่ 3นี้ค่อนข้างดุเดือดกว่าสองครั้งแรกประกอบกับคราวนี้มีบรรดาลูกคู่ออกมาขานรับทันควันช่วยกันรุมถล่มแบงก์ชาติ บางคนแรงจนถึงขั้นบอกว่าแบงก์ชาติเป็นคนทำให้เศรษฐกิจพังเลยทีเดียว

พรรคเพื่อไทยกับแบงก์ชาติจึงเปรียบเสมือนขมิ้นกับปูนเป็นคู่กัดมาโดยตลอดด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน เพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตไวๆด้วยการกระตุ้นการบริโภคอย่างการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ตคนละหมื่นบาท การลดค่าน้ำค่าไฟเพื่อลดภาระของประชาชน

ขณะที่แบงก์ชาตินั้นถือเป็นคลังสมองด้านเศรษฐกิจ ทุกคนเป็นมืออาชีพจะมองภาพรวมและมองระยะยาว นโยบายเน้นไปที่เสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นหลักจึงไม่เห็นด้วยกับการกระตุ้นแบบหวังผลสั้นๆ พรรคเพื่อไทยกับแบงก์ชาติแม้จะมีเจตนาดีทั้งคู่แต่วิธีการและเป้าหมายสุดท้ายต่างกันจึงหลีกไม่พ้นที่จะกระทบกระทั่งกัน 

จนมีข่าวจะปลด ผู้ว่าฯแบงก์ชาติทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้ง ครั้งนี้ก็เช่นกันข่าวหนาหูขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ง่ายเพราะ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีกฎหมายตีกรอบป้องกันเอาไว้ แม้กฎหมายให้อำนาจคณะรัฐมนตรีสามารถปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้ แต่รัฐมนตรีคลังต้องพิสูจน์ให้คณะรัฐมนตรีเห็นว่า ผู้ว่าแบงก์ชาติมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งไม่สามารถรวมถึงความขัดแย้งเรื่องนโยบาย 

กรณีนี้ยังไงก็ไม่เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ขืนทำไป นายกฯเศรษฐาที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังด้วยนั้น เสี่ยงถูกกระแสสังคมประณามอีกด้วย จะเห็นว่าเวลานายกฯเศรษฐาสื่อสารถึงแบงก์ชาติมักจะให้เกียรติไม่เหมือนกับรัฐมนตรีคลังของพรรคเพื่อไทยในอดีต 

การที่รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยขัดแย้งกับแบงก์ชาติมาตลอดจนดูเหมือนว่าไม่เชื่อในหลักการความเป็นอิสระแบงก์ชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งและไม่เป็นผลดรกับพรรคเพื่อไทย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

ปลุก “ความเชื่อมั่น” ก่อนสายเกินแก้

“หุ้นไทย”…. ไร้เสน่ห์

“ส่วนต่างดอกเบี้ย” โจทย์ยากแบงก์ชาติ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ