TH | EN
TH | EN

Soft (No) power

ซอฟต์พาวเวอร์ ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงเลือกตั้งที่ตีคู่มากับนโยบายดิจิทัลวอลเลต แต่ทั้งสองนโยบายกำลังประสบชะตากรรมคล้าย ๆ กัน ต่างก็เจอคลื่นลมมรสุมโหมกระหน่ำ ในขณะที่ตัวนโยบายยังไม่มีความพร้อม จนป่านนี้เรือธงทั้งสองทำท่าว่าจะอับปางระหว่างทางเอาดื้อ ๆ

ล่าสุด นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ก็เจอมรสุมโหมกระหน่ำอย่างหนัก จากการประกาศลาออกของอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยลาออกยกทีมทั้ง 24 คน ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นนโยบายต้องถูกบั่นทอนลงอย่างมิอาจปฏิเสธได้

แม้ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี เลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ จะอ้างว่าคณะอนุกรรมการฯที่ลาออกเพราะมีข้อจำกัดด้านเวลา นั่นก็อาจจะเป็นแค่ฟางเส้นเล็ก ๆ แต่หากไปดูความรู้สึกของ “กมลนาถ องค์วรรณดี” ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่นที่ได้โพสต์ในหนังสือขอลาออกได้แจ้งเหตุผลในทำนองว่า ภาระกิจที่ได้รับมอบหมายเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นการลงรายละเอียดตามแผนงานซึ่งเกินความสามารถของอนุกรรมการฯและที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ เนื่องจากมีภาระกิจต้องดูแลธุรกิจของตนเอง

จากเหตุผลทั้งสองฝ่ายอ้างนั้น น่าจะมีการพูดคุยกันก่อนที่จะประกาศลาออกเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์การเมืองของรัฐบาล แต่ฟังดูเหตุผลของอนุกรรมการฯ แล้วรู้สึกทะแม่ง ๆ เพราะก่อนที่จะอาสาเข้ามาทำงานนั้น ก็น่าจะพอรู้ว่าต้องใช้เวลาและต้องเสียสละต้องทุ่มเทอย่างมาก เชื่อว่าทั้ง 24 คนที่อาสามา ก็พร้อมทำงานเต็มที่และก็คงรู้ว่าอาจจะต้องยอมเสียเวลาหลาย ๆ ปีกว่าจะบรรลุจุดมุ่งหมาย

ยิ่งบอกว่าเกินความสามารถก็ยิ่งแปลกใจ เพราะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งถือว่าเป็นแถวหน้าสุดของวงการแฟชั่นที่คลุกคลีตีโมงกับอาชีพและอุตสาหกรรมนี้มานาน ไม่ว่าจะเป็น “กมลนาถ องค์วรรณดี” นักออกแบบและผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ประเทศไทย ภานุ อิงคะวัฒน์ นักสร้างสรรค์งานโฆษณา นักออกแบบแฟชั่น ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์เกรย์ฮาวด์ พลพัฒน์ อัศวะประภา หรือที่รู้จักกันในแวดวงนาม ”หมู อาซาวา” ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และธีระ ฉันทสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบไลฟ์สไตล์และสินค้าแฟชั่น ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบให้กับผลิตภัณฑ์โอทอป

เห็นแค่รายชื่อไม่กี่คน ต้องบอกว่าระดับเซียนทั้งนั้น ยังนึกไม่ออกว่าคณะอนุกรรมการฯชุดใหม่ที่จะหามาให้ได้ 24 คนจะมีคนให้เลือกพอหรือไม่

ประเด็นที่หลายคนต่าง ๆ วิพากษ์วิจารณ์ ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อนุกรรมการฯ ตัดสินใจยกทีมลาออกน่าจะเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในวันที่ 17 มกราคม 2567เมื่อ ”กมลนาถ องค์วรรณดี” ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้โพสต์ข้อความพร้อมแชร์โพสต์ ของเพจ Uninspired by Current Events เรื่อง Creative Tourism ซึ่งเป็นภาพของเด็กนักเรียนแข่งกันใส่กางเกงช้าง ว่า

“คณะอนุกรรมการสาขาแฟชั่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับไอเดีย Guinness นี้นะคะ อยากเห็นหน้าคนอนุมัติงบมากห้ามก็ไม่ได้ ปรึกษาก็ไม่ปรึกษา คิดกันเองเห็นดีเห็นงามกันเอง ทำแล้วได้อะไรคะ ทีมเอกชนอาสาทำงานกันหนักมากเพื่อวางกรอบคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะที่หน่วยงานทำอีเวนท์จุดพลุแล้วไงต่อ สร้าง value อะไรขึ้นมา ฝากหน่วยงานทุกหน่วยที่อยากเอาใจนาย ก่อนจะทำอะไรปรึกษาหารือกรรมการยุทธศาสตร์ หรือคิดให้รอบด้านด้วยค่ะ เงินภาษีประชาชน”

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้ มักจะไม่ค่อยเห็นบ่อยนักจากภาคเอกชนเข้าร่วมงานตามคำเชิญรัฐบาล แล้วจะยกทีมลาออกยกชุดแทนที่จะลาออกเป็นรายบุคคล ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรก แม้จะอ้างภาระกิจที่รับมอบหมายเสร็จแล้ว หรืออ้างเรื่องไม่มีเวลาต้องกลับไปดูแลธุรกิจ ทุกคนก็ไม่น่าจะมีปัญหาพร้อม ๆ กัน จากข้อเขียนย่อมสะท้อนเป็นนัย ๆ ถึงกระบวนการทำงานที่อาจจะไม่เป็นอิสระมีการเมืองเข้ามาแทรก น่าจะเป็นความอึดอัดที่สะสมมานาน ไม่ใช่แค่เรื่องกางเกงช้างเท่านั้น ทำให้ต้องโบกมือลายุติบทบาทในการร่วมงานกับรัฐบาลเพราะงานนี้เป็นการทำเพื่อชาติถ้าไม้หนักหนาสาหัสก็คงไม่หักกันขนาดนี้  

นั่นแปลว่า ในการบริหารจัดการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่มี ”เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เป็นประธานซึ่งในทางปฏิบัติ งานนี้พรรคเพื่อไทยพยายามผลักให้ดันนโยบายซอฟต์เพาเวอร์เป็นผลงานของ ”อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร รองประธาน โดยมีหมอเลี๊ยบ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี กรรมการเลขานุการเป็นพี่เลี้ยง กำลังมีปัญหาต้องเร่งแก้ก่อนจะเกิดกระแสลาออกอีก

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ซอฟต์พาวเวอร์มา ดูเหมือนว่าทุกอย่างดูไม่ราบรื่น มีปัญหาแทรกซ้อนมากมาย เริ่มตั้งแต่การให้นิยามซอฟต์พาวเวอร์ไม่ชัดเจน จนป่านนี้ไม่รู้ว่านิยามซอฟต์พาวเวอร์ในความรู้ของคณะกรรมการชุดนี้คืออะไร เมื่อนิยามไม่ชัดเจนทุกอย่างก็สะเปะสะปะ อย่างที่เห็น ตั้งแต่ อุ๊งอิ๊ง นำเสนอเรื่องจะจัดงานสงกรานต์ทั้งเดือน ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก 

รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณ 5,000 ล้านบาทเพื่อนำมาสนับสนุนโครงการนี้ ก็มีคำถามมากมายเนื่องจากเม็ดเงินส่วนใหญ่ก็ไปตกอยู่กับ งานด้านประชาสัมพันธ์และจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ที่มีถึง 10,000 อีเวนต์ในปีเดียว โดยสาขาเฟสติวัล ได้งบฯ กว่า 1,000 ล้านบาท อาหาร 1,000 ล้านบาท และท่องเที่ยว 700 กว่าล้านบาท แต่งบประมาณสำหรับการพัฒนาแก่นของซอฟต์เพาเวอร์นั้นน้อยมาก ๆ มีแต่งบฯ ตีปิ๊บ

ล่าสุด การโหมประโคมข่าว ของการท่องเที่ยวประเทศไทย (ททท.) ที่จัดงาน อีเวนต์ ใหญ่ THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS CHALLENGE จัดแข่งขัน 5 ที่สุดของโลก หนึ่งในนั้นคือ ใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1นาที เรื่องนี้ เป็นคำถามว่าการจัดงานแบบนี้ใช่แก่นซอฟต์เพาเวอร์จริงหรือ เชื่อว่ายังมีอีกหลายหน่วยงานที่พยายามโหนซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเอาใจใครบางคน สะท้อนถึงความรู้เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของกรรมการชุดนี้ยังห่างไกลกับแก่นแท้ซอฟต์พาวเวอร์จริง ๆ

เริ่มแรกขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็น Soft (No)Power เสียแล้ว

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

จุดตาย “ดิจิทัล วอลเล็ต”

“วิกฤติ” หรือ “ไม่วิกฤติ”

ทำไม “นักท่องเที่ยวจีน” ไม่มาตามนัด?

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ