TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"วิกฤติ" หรือ "ไม่วิกฤติ"

“วิกฤติ” หรือ “ไม่วิกฤติ”

ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า เศรษฐกิจไทยวันนี้เข้าสู่ภาวะ “วิกฤติ” หรือเป็นแค่เติบโตอย่างช้า ๆ รัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะตัวนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และบรรดากุนซือด้านเศรษฐกิจ พยายามตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤติแล้ว 

นายกฯ เศรษฐา ย้ำบ่อย ๆ ว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือจีดีพีของไทยโตเฉลี่ยแค่ 1.8% ขณะที่ประเทศคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จีดีพีโตกว่าไทย 3-4 เท่า เศรษฐกิจไทยจึงอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างมิอาจปฏิเสธได้ 

ยืนยันว่ารัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อเดินหน้านโยบาย “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” กระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน  

นั่นคือ มุมมองซีกรัฐบาล ขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเลตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของรัฐ โต้กลับว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่เป็นการเติบโตอย่างช้า ๆ เท่านั้น

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาฯสภาพัฒน์ ออกมาแถลง จีดีพี. ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัว 1.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 1.8% เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยติดลบ 3.1% ทำให้สาขาอุตสาหกรรมติดลบไปด้วย 4% 

การบริโภคภาครัฐบาล ติดลบ 4.9% สภาพัฒน์ฯจึงปรับประมาณการ

จีดีพี.ปี 2566 ใหม่จากเดิมประเมินว่าจะขยายตัวได้ 2.5-3% เหลือ 2.5% โดยประเมินว่า การลงทุนภาครัฐจะหดตัวไปถึง 1.8% เพราะติดปัญหาเรื่องของงบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่ได้ใช้ ส่วนปี 2567 คาดว่าไทยจะโต 3.7% เป็นการคาดการณ์ที่ยังไม่ได้รวมผลจากการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เข้าไปด้วย 

เลขาสภาพัฒน์ ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าขั้นวิกฤติยังขยายตัวได้ดี แม้หลังการระบาดโควิด-19 จะผันผวนตลอดจากปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่เศรษฐกิจภายในของไทย ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค หรือ การท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี

หากจะให้ดีกว่านี้ เศรษฐกิจไทยต้องปรับโครงสร้าง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคที่มีขนาดใหญ่ มีผลต่อการเติบโตของประเทศและเกี่ยวข้องกับการส่งออก ถ้าไม่อยากเห็นการการเติบโตอยู่แค่ 3%กว่าแบบนี้ไปเรื่อยๆ 

หากเป็นไปตามที่เลขาสภาพัฒนฯอธิบาย นั่นหมายความว่า เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มีแค่การบริโภคภายในประเทศตัวเดียวที่ยังทำงานได้ดี แต่ที่ไม่ทำให้ จีดีพี.โตเพราะการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นไม่ได้นำไปสู่การผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลเพียงให้สต็อกสินค้าลดลง เท่านั้น ทั้งนี้ หากดูจากข้อมูลจะเห็นว่ากำลังซื้อไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ปัญหาหลักที่รัฐบาลต้องเร่งแก้คือการส่งออก ทำไมส่งออกน้อยลงและการลงทุน ทำไมนักธุรกิจไม่ลงทุน 

เศรษฐศาสตร์นั้นมีหลายเหลี่ยมหลายมุม เข้าตำรา สองคนยลตามช่อง เศรษฐกิจวิกฤติหรือไม่วิกฤติ จึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ 

แต่น่าสนใจ ขณะที่รัฐบาลพยายามตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติ แต่ในการจัดตั้งรัฐบาลกลับทำตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง แทนที่จะเอาบุคคลมีความรู้ความสามารถมาร่วมครม. แต่กลับจัดสรรตำแหน่งตามโควต้าแต่ละมุ้ง การจัดครม. ชุดนี้จึงแก้วิกฤติการเมืองมากกว่าจะแก้วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นการแก้ปัญหาการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น 

สะท้อนจากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่สามารถกุมกระทรวงเศรษฐกิจที่มีความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชาชน  คณะรัฐมนตรีชุดนี้ ไม่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจทำหน้าที่ช่วยนายกรัฐมนตรีดูภาพรวม ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจในประเทศมีปัญหาเต็มไปหมด ตลาดหุ้นยังโงหัวไม่ขึ้น ส่งออกติดลบ ค่าเงินบาทผันผวน การใช้จ่ายภาครัฐก็ยังไปไม่ถึงไหน แนวโน้มดอกเบี้ยสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนยังเสี่ยง เอสเอ็มมอี.ก็กำลังโคมา 

รัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงคลังจากเพื่อไทยก็ไม่ได้จบเศรษฐศาสตร์ เรื่องดิจิทัลวอลเลตจึงไปไม่ถึงไหน อธิบายไม่ได้ กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องการส่งออก หารายได้เข้าประเทศ แต่รัฐมนตรีที่ดูแลกลับมีความเชี่ยวชาญเรื่องการมือง จึงวุ่นอยู่กับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มากกว่าปัญหาปากท้องชาวบ้านและการส่งออกงานที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง การบริหารกระทรวงจึงเป็นหน้าที่ของข้าราชการประจำ

กระทรวงอุตสาหกรรมก็เป็นมือใหม่หัดขับเป็นรัฐมนตรีครั้งแรก อย่าลืมว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีนักการเมืองรุ่นก่อนๆวางคนของตัวเองไว้ทุกจุด คนใหม่ต้องเก่งจริง จึงจะเอาข้าราชการอยู่ ยิ่งหากข้าราชการเก๋ากว่า มีประสบการณ์ทำงานมากกว่า รัฐมนตรีใหม่บริหารงานลำบาก ขณะที่กระทรวงเกษตร รัฐมนตรีว่าการกับรัฐมนตรีช่วยขัดแย้งกันในเรื่องหาการแบ่งงาน เรื่องอำนาจหน้าที่ตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน 

กระทรวงพลังงาน ก็ทำงานแบบเอกเทศเป็นรัฐอิสระ สะท้อนจากการลดราคาพลังงาน ไฟฟ้าและน้ำมัน แม้เป็นมติคณะรัฐมนตรีแต่ดูเหมือนจะพยายามช่วงชิงผลงานไปเป็นของพรรค

แต่น่าเป็นห่วงที่สุดคงจะเป็น กระทรวงท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการหารายได้เข้าประเทศ ราว12%ของจีดีพี.เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านมากที่สุดกลับได้รัฐมนตรีมือใหม่ถอดด้ามไม่มีประสบการณ์ในการบริหาร ตอนนี้กำลังเจอวิกฤต นักท่องเที่ยวจีนไม่มาตามนัด  งานนี้ก็คงหนักหน่อย

น่าแปลกใจรัฐบาลตีปิ๊บเศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤติ แต่ดูองคาพยพในครม. ชุดนี้กลับมีแต่มือใหม่หัดขับตั้งคนไม่ตรงกับงานทั้งนั้น 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

แจก “เงินดิจิทัล” หนึ่งหมื่นบาท … ยาแรงที่ต้องระวัง

“5 แสนล้านบาท”… ใช้อย่างไรให้คุ้มค่า

“หุ้นตก-บาทอ่อน” บทพิสูจน์รัฐบาลป้ายแดง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ