TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistแจก “เงินดิจิทัล” หนึ่งหมื่นบาท ... ยาแรงที่ต้องระวัง

แจก “เงินดิจิทัล” หนึ่งหมื่นบาท … ยาแรงที่ต้องระวัง

ทันทีที่ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ประกาศเดินหน้านโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (Digital Wallet) แจก “เงินดิจิทัล” คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เป็นไปตามสโลแกน “หยิบเงินในโลกยุคใหม่ใส่มือประชาชน”

ประเมินว่ามูลค่าโครงการนี้จะสูงถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทเลยทีเดียว เม็ดเงินจำนวนนี้ถือว่ามหาศาลนับเป็นการแจกเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียวจบที่มากที่สุด โดยกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินดังกล่าวให้ใช้กับสินค้าในชุมชนในรัศมี 4 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนผู้มีสิทธิ์ใช้บริการในกลุ่มนี้ประมาณกว่า 50 ล้านคนหรือ 85% ของประชากรไทยทั้งหมด 

อันที่จริงนโยบายแจกเงินนี้ คล้าย ๆ กับโครงการ “คนละครึ่ง” ของรัฐบาลที่แล้วจะต่างตรงที่ คราวนี้มีการนำเทคโนโลยี “บล็อกเชน” มาใช้” ขณะที่โครงการคนละครึ่งผ่าน “เป๋าตัง” แต่โครงการนี้ผ่านอีวอลเลต โครงการคนละครึ่งใช้วิธีทยอยใส่เงินไปทีละก้อน แต่โครงการนี้แจกตูมเดียว 10,000 บาท ระยะเวลาใช้จ่ายภายในเวลา 6 เดือน เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมเศรษฐกิจครั้งใหญ่เป็น “พายุหมุนเศรษฐกิจ” ที่พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตอย่างก้าวกระโดดหลังจากซบเซามานาน 

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า เงิน 560,000ล้านบาทที่ใช้ในโครงการนี้ ไม่ใช่เงินสดที่ใส่ลงไป แต่เป็นเครดิต เป็นตัวเลขที่โอนกันตอนซื้อของจากร้านค้าในชุมชน เมื่อผู้ซื้อกับผู้ขายมีการทำธุรกรรมกันแล้ว ร้านค้าจึงมาขึ้นเป็นเงิน และเมื่อเกิดการซื้อขายแล้วก็ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นรายได้เข้ารัฐ ภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่จะมาชดเชยเงิน 560,000 ล้านบาทที่ตั้งไว้ 

เดิมทีพรรคเพื่อไทยคาดว่าเม็ดเงินจำนวนเงิน 560,000 ล้านบาทจะหมุนเข้าสู่ระบบเกิดการหมุนเวียนแบบทวีคูณ 6 รอบหรือ 6 เท่า จะได้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการนี้ 3 ล้านล้านบาท หรือราว ๆ 2.5% ของจีดีพี รวมกับของเดิมที่คาดว่าจีดีพีจะโต 2.5-3% ก็จะทำให้จีดีพีปีนี้โตขึ้นมาทันที ไม่ต่ำกว่า 5% แน่นอน

แต่ต่อมาทางพรรคเพื่อไทยก็ออกมายอมรับว่าจะเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหรือตัวคูณเพียง 2.7 เท่า เท่านั้น แต่มีงานวิจัยทั่วโลกระบุว่าตัวคูณจริง ๆ อยู่ระหว่างที่ 0 ถึง 0.7 เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นโอกาสที่จะเห็นจีดีพีโต 5% ตามที่พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าไว้ ก็คงเป็นไปได้ยากเช่นกัน

พรรคเพื่อไทยยังคาดหวังอีกว่าเมื่อนโยบายนี้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวจะส่งผลให้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีอยู่แค่ 60% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ก็จะขยายการผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อธุรกิจมีรายได้มากขึ้นก็จะเสียภาษีนิติบุคคลมากขึ้น รัฐก็จะมีรายได้มากขึ้นตามมา

นั่นหมายความว่า เมื่อหักกลบลบกันก็อาจจะใกล้เคียงกับเงินที่ใช้จ่ายในโครงการนี้ ท้ายที่สุดรัฐอาจจะไม่ต้องใช้เงินใหม่เลยก็เป็นได้ 

ฟังดูแล้วพรรคเพื่อไทยค่อนข้างมองโลกในแง่ดี ดูทุกอย่างเพริศแพร้วศิวิไลซ์ไร้อุปสรรค แต่ในโลกความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด อย่าลืมว่าคราวนี้การแจกไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่จำเป็นจริง ๆ แต่แจกแบบหว่านแหแจกทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ลำพังแค่คนที่ได้รับแจกมีทั้งจนสุดจนถึงรวยสุด การศึกษาแตกต่างกันดังนั้นพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอย ในการใช้เงินย่อมแตกต่างกัน

นั่นหมายความว่าเงินส่วนหนึ่งที่แจกไปตกอยู่ในมือของผู้ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินหรือคนรวย เงินหนึ่งหมื่นบาทแทบไม่มีความหมาย คนเหล่านั้นอาจจะไม่ใช้เงินที่ได้รับ หรือใช้แต่ไปทดแทนแผนการใช้จ่ายเงินปกติของเขา ทำให้เกิดการลดการใช้จ่ายในอนาคตได้ อย่างที่รู้ ๆ คนรวยแล้วเงินหนึ่งหมื่นไม่ได้มีความหมาย เงินที่ได้รับอาจจะไปซื้อมือถือซื้อซื้อของฟุ่มเฟือยซึ่งก็ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่คนจนเงินหนึ่งหมื่นบาทย่อมมีความหมาย แต่ความจำเป็นก็แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ก็คงจับจ่ายใช้สอยในสิ่งจำเป็นในชุมชน แต่บางคนอาจจะไม่ได้เอาไปซื้อของในชุมชนตามเป้าหมาย และมีไม่น้อยจะเอาเงินไปใช้หนี้ ซึ่งไม่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

นี่คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยกังวลและหาทางแก้ไขรวมถึงความกังวลว่า คนรุ่นใหม่อาจจะไปซื้อของออนไลน์ ที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนส่วนใหญ่เป็นสินค้าจีน ทำให้เม็ดเงินไม่ตกอยู่กับชุมชน 

อีกทั้ง มีคนส่วนหนึ่งต้องย้ายถิ่นฐานมาทำงานในต่างถิ่น ไม่ได้อยู่ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะถูกตัดสิทธิ์เลยหรือไม่ ถ้าไม่ถูกตัดสิทธิ์ส่วนหนึ่งก็อาจจะกลับมาใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังมีคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะคนสูงอายุที่มีฐานะยากจนในชนบท คนกลุ่มนี้ก็มีไม่น้อย 

ในต่างจังหวัดในถิ่นทุรกันดารอาจจะไม่มีร้านค้าในรัศมี 4 กิโลเมตรจะขยายรัศมีกว้างขึ้นหรือไม่ ทั้งหมดนี้คือโจทก์ที่พรรคเพื่อไทยต้องขบให้แตก

เหนือสิ่งใดหากภาษีที่คาดว่าจะเก็บได้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหนีไม่พ้นต้องกู้เพิ่ม แต่จะกู้จากที่ไหนอย่างไร ก็คงต้องรอดูต่อไป แต่ก็มีแพลนออกมาว่า จะมาจากรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้านก่อนแล้วจะใช้คืนทีหลัง แต่ถ้าต้องกู้เพิ่มนั่นเท่ากับว่าตัวเลขหนี้สาธารณะที่จากเดิมอยู่ราว ๆ 10 ล้านล้านบาท ต้องเพิ่มสูงขึ้น หรือราว 61% กว่า ๆ ต่อจีดีพี จะเพิ่มเป็น 64% กว่า ๆ ต่อจีดีพี จากเพดานที่ขยายล่าสุด 70% ต่อจีดีพี 

นโยบายนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเพราะเป็นการลงทุนเงินก้อนใหญ่มีความเสี่ยงสูงหากไม่เป็นตามเป้า เม็ดเงินขนาดนี้เอาไปลงทุนด้านสาธารณูปโภค การศึกษาจะได้ประโยชน์ในระยาวมากกว่า 

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ถ้าได้ผลก็คงเป็นแค่ระยะสั้น ๆ แต่ภาระหนี้ที่ประชาชนต้องแบกรับนั้นระยะยาวรวม ถึงกระบวนการแจกเงินแทนที่จะใช้เป๋าตังที่มีอยู่แล้วยิงตรงถึงไวกว่ามีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันจะใช้ เทคโนโลยีบล็อกเชนก็ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งคนใช้อาจจะเกิดความสับสนได้ และไม่สะดวกการใช้งานและการยอมรับยังอยู่ในวงจำกัด 

เหนือสิ่งอื่นใดในสถานการณ์เศรษฐกิจหลังโควิดที่เริ่มจะกระเตื้องขึ้นมีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเสี่ยงเอาเงินก้อนใหญ่ทุ่มลงไปแทนที่จะนำมาลงทุนวางโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว หรือเก็บเป็นกระสุนสำรองรับมือวิกฤติรอบใหม่ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่น่าจะดีกว่า

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“หนี้ครัวเรือน” ไม่แก้ ประเทศเดินต่อไม่ได้

แฟชั่น, อาหาร, ท่องเที่ยว 3 เสาหลักเศรษฐกิจอิตาลี

เศรษฐกิจไทย “หมดบุญเก่า”

“การเมือง” เดดล็อก ..“ตลาดหุ้น-ลงทุน-กำลังซื้อ” วูบ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ