TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"หนี้ครัวเรือน" ไม่แก้ ประเทศเดินต่อไม่ได้

“หนี้ครัวเรือน” ไม่แก้ ประเทศเดินต่อไม่ได้

“หนี้ครัวเรือน” ยิ่งนับวันยิ่งจะวิกฤติขึ้นเรื่อย ๆ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจนิยามหนี้ครัวเรือนเสียก่อนว่า คืออะไร ภาษาง่าย ๆ คือ หนี้ส่วนบุคคล เช่น หนี้ของนาย ก. นาย ข.ที่กู้หนี้ยืมสินไม่ว่าจะเป็นบ้าน บัตรเครดิต ผ่อนรถ กู้ก่อนผ่อนทีหลัง ล่าสุด ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยนำหนี้กยศ. ราว 4.83 แสนล้านบาท และหนี้สหกรณ์บางส่วน 2.65 แสนล้านบาท รวมไปถึงหนี้การเคหะเข้ามาร่วมอยู่ในหนี้ครัวเรือน

ทุกวันนี้ หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งกระฉูดอยู่ที่ระดับ 90.6% หรือ 17.62 ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้ประชาติ คือรายได้รวมหรือผลิตภัณฑ์มลรวม (GDP) ทั้งประเทศของไทยมี 17.6 ล้านล้านบาท

ลองนึกภาพดูว่า สมมติประเทศเปรียบเป็นคน คน ๆ หนึ่งมีรายได้ปีละ 17.6 ล้านบาทต่อปี เป็นหนี้อยู่ 17.62 ล้านบาท เรียกว่ารายได้กับหนี้พอ ๆ กัน เผลอ ๆ อาจจะติดลบ แถมแต่ละเดือนแต่ละวันต้องจ่ายดอกเบี้ยอีกต่างหาก รายได้ย่อมชักหน้าไม่ถึงหลัง ในที่สุดก็ต้องก่อหนี้เรื่อย ๆ กลายเป็นดินพอกหางหมู การที่แบงก์ชาติปรับข้อมูล ทำให้เห็นภาพหนี้ครัวเรือนที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนไทย ภายใต้ข้อมูลใหม่ของธปท.แม้จะดูน่ากลัวแต่นั่น ครอบคลุมหนี้ในระบบ เพียง 70% เท่านั้น แต่ยังมีหนี้อีกจำนวนหนึ่งราว 30% ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ดังนั้น การแก้ไขหนี้ อาจต้องทำให้ข้อมูลมีความครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้การแก้ไขหนี้ ครบถ้วน เป็นรูปธรรมมากที่สุด

ต้องบอกว่าคนทั้งประเทศก่อหนี้ แบกหนี้ไว้เกินขีดอันตรายสากลถือในการก่อหนี้ไม่ควรเกิน 80% ของ GDP แต่ตอนนี้ กว่า 90% ของ GDP อย่างที่บอกว่านี่คือสัดส่วนแค่ 70% ของหนี้ทั้งหมด หากรวมอีก 30% ที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ แล้วจะน่ากลัวแค่ไหน

ยกตัวอย่างแค่อาชีพครูอาชีพเดียว ตัวเลขจากเครดิตบุโร ระบุว่าหนี้ที่ครูกู้สหกรณ์ออมทรัพย์มีราว 8 แสนล้าน เป็นการกู้มากินมาใช้จ่ายเท่านั้นยังไม่พอ ยังมีครูที่เกษียรแล้ว และครูที่ทำงานอยู่ ยังไปกู้แบงก์เอกชน กู้แบงก์รัฐและเป็นหนี้นอนแบงก์มาแล้วราว 6 แสนล้าน ตอนนี้ครูที่ติดบ่วงหนี้ 4-6 แสนคน เป็นหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้าน สมมติว่าครูมีรายได้ 3.5 หมื่น เมื่อหักกลบลบหนี้ เบ็ดเสร็จเหลือ 3,000-35,000 บาทต่อเดือน ตกวันละ 100 บาท ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ รายได้ไม่พอรายจ่ายอย่างนี้ จะทำให้การศึกษามีคุณภาพได้อย่างไร

นี่ยังไม่รวมอาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ต่างกัน ทุกวันนี้ มีคนติดกับดักหนี้หรือหนี้เสีย ตามตัวเลขของเครดิตบูโร 9 แสนล้าน ในหนี้เสียนี้ 3 แสนล้านบาทมาจาก 3 ล้านคนที่ก่อนช่วงโควิดเป็นลูกหนี้เกรดเอ ไม่เคยเบี้ยวหนี้ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดจึงไม่มีรายได้เข้ามา แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้นแต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่รายได้จึงยังไม่เท่าเดิม ดอกเบี้ยเก่าเคลียร์ไม่หมด ดอกใหม่ก็เพิ่มเข้ามา

ถ้าหากดูอัตราการเป็นหนี้ของคนไทย ในระบบของเครดิตบูโรที่มีราว 32 ล้านคน ซึ่งหากคิดเป็น 100 คน จะมีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียราว 23 คน นั่นความถึงว่า 23 คนเหล่านี้ จะไม่สามารถเข้าสู่ระบบการเงินในระบบได้ เนื่องจากเป็นหนี้เสีย ส่วนใหญ่ที่คนเป็นหนี้ ที่มีปัญหา เช่น การกู้เพื่อไปกินไปใช้ ใน 100 บาท เป็นการกู้ยืมไปกินไปใช้ 26 บาท การที่คนไทยมีหนี้เยอะแถมยังเป็นหนี้เสียสูง ถือเป็นตัวถ่วงที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ไปไหน ที่น่าห่วงที่สุดคือ ลูกหนี้ในกลุ่มเจนวาย และกลุ่มเจนเอ็กซ์ ที่เป็นกลุ่ม ที่มีอัตราการก่อหนี้ และการเป็นหนี้เสียค่อนข้างสูง โดยเฉพาะช่วงอายุ 35-40 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ลูกหนี้ที่มีปัญหากระจายอยู่ในเมืองใหญ่ เพราะเป็นหนี้เพื่อการบริโภค พอการบริโภคไม่เพียงพอ ก็ต้องเติมด้วยหนี้

หากดูไส้ในกลุ่มนี้ พบว่า กลุ่มเจนวาย ที่เป็นหนี้เสียแล้ว 3.7 แสนล้านบาท และกลุ่มเจนเอ็กซ์ 2.7 แสนล้านบาท รวมทั้งกลุ่มเจนวายและเจนเอ็กซ์ เป็นหนี้เสียอยู่ทั้งสิ้น กว่า 6 แสนล้านบาทกลุ่มนี้เป็นกลุ่ม ช้อปง่ายจ่ายแหลก แดกด่วน ใช้จ่ายเกินตัว ฉะนั้นเรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาจัดการโดยเร่งด่วนและเอาจริงเอาจัง ควรจะตั้งสถาบันหนี้แห่งชาติเข้ามาดูแล ทำการสำรวจหนี้ครัวเรือนทั้งหมดว่ามีเท่าไหร่ แล้วเอามารวมอยู่ในหน่วยงานเดียวกันแล้วค่อย ๆ คลี่ออกมาดูว่าหนี้เกิดจาก แบงค์พาณิชย์จำนวนเท่าไหร่ แบงก์รัฐเท่าไหร่ และนอนแบงก์เท่าไหร่ รวมถึงหนี้ที่รัฐเป็นหุ้นส่วนเช่น หนี้กยศ. หนี้กองทุนหมู่บ้าน พร้อมกับแบ่งลูกหนี้ออกเป็นกลุ่มๆว่ากลุ่มไหน มีหนี้เพราะอะไร เช่น หนี้เกษตรกร หนี้กู้เงินเรียนหนังสือ เงินกู้กองทุนหมู่บ้าน

หากเป็นหนี้ด้วยความจำเป็นอาจจะยกหนี้ให้บางส่วน แต่หนี้แบงก์รัฐก็อาจจะดูเรื่องดอกเบี้ยผ่อนหนักเป็นเบา ส่วนหนี้นอกระบบที่เป็นปัญหาอาจจะต้องมาดูว่าดอกเบี้ยที่จ่ายสมเหตุสมผลหรือไม่ จ่ายซ้ำซ้อนหรือไม่ พวกนี้เรียกว่าเป็นหนี้มาเฟีย ต้องเอากฎหมายเข้ามาดำเนินการให้ถูกต้องและต้องลงโทษให้หนัก

อย่าชะล่าใจการที่ปล่อยให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลกระทบกับกำลังซื้อของประชาชน ทำให้การบริโภคน้อยลงเพราะไม่มีเงิน การออมก็ไม่มีเมื่อไม่มีการออมเศรษฐกิจก็ไม่มีการลงทุน หากปล่อยเรื้อรังประเทศก็ติดหล่มเดินต่อไปไม่ได้

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

แฟชั่น, อาหาร, ท่องเที่ยว 3 เสาหลักเศรษฐกิจอิตาลี

เศรษฐกิจไทย “หมดบุญเก่า”

“การเมือง” เดดล็อก ..“ตลาดหุ้น-ลงทุน-กำลังซื้อ” วูบ

1 ทศวรรษ วงจรอุบาทว์ ทำลายข้าวไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ