TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistมรดกทางความคิด

มรดกทางความคิด

“ช่างแม่..มัน” อาจจะเป็นคำอุทานที่ออกจะหยาบอยู่สักหน่อย แต่ก็เป็นการปล่อยอารมณ์สุดกั้น สุดตีบตันที่ไม่มีทางออกกับปัญหาที่อยู่ล้อมรอบตัวในขณะนี้

วันนี้ปัญหา “หนี้” เป็นสถานการณ์ต่อเนื่องที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่คนเป็นรัฐบาลเอง ก็มองปัญหาหนี้ของประชาชน หรือเรียกเพราะ ๆ ว่าหนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาที่แก้ยาก!! (จนไม่อยากจะแก้)

ตั้งแต่มีการพูดกันถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เริ่มเก็บข้อมูลมา 20 กว่าปี จะพบว่าปัญหาหนี้ของคนไทย เติบโตอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม สมัยก่อน เราสร้างหนี้จากการซื้อบ้านซื้อรถ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นหนี้ที่จากการซื้อทรัพย์สินที่มีค่า ซึ่งเมื่อหมดภาระหนี้ก็จะได้ทรัพย์สินขึ้นมา

แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราเริ่มมีหนี้ที่ไม่เป็นทรัพย์สินหลักอย่างบ้านหรือรถ แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากการบริโภคพูดง่าย ๆ คือเป็นหนี้ที่เกิดจากการกินการใช้ ที่ไม่ได้เกิดจากการซื้อทรัพย์สิน แต่เป็นการซื้อความสะดวกสบาย ซื้อสิ่งของที่ไม่ได้เกิดจากความจำเป็น เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของชีวิตขึ้นมา ตามการเปลี่ยนแปลงและค่านิยมทางสังคม

หนี้ครัวเรือนไทย อยู่ในระดับสูงมากมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดการแถลงข้อมูลภาวะสังคมไตรมาสที่ 4/2566 และภาพรวมปี 2566 พบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยหากคำนวณเป็นระดับหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะอยู่ที่ 90.9%  

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณามูลค่า สัดส่วน และอัตราการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือน จำแนกตามวัตถุประสงค์ในการกู้เงิน จะพบรายละเอียดดังนี้

  1. สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 5.5 ล้านล้านบาท สัดส่วน 33.8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
  2. สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ มูลค่า 2.9 ล้านล้านบาท สัดส่วน 17.8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
  3. สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น ๆ มีมูลค่ารวม 4.4 ล้านล้านบาท สัดส่วน 27.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยหนี้ส่วนนี้แบ่งเป็น
    • สินเชื่อส่วนบุคคล 3.1 ล้านล้านบาท สัดส่วน 19.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
    • สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ,สินเชื่อบัตรกดเงินสด) มูลค่ารวม 8 แสนล้านบาท คิดเป็น 5.1% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
    • สินเชื่อบัตรเครดิตมูลค่ารวม 5 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด  

ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่ออื่น ๆ เช่น สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ สินเชื่อเพื่อการศึกษา และสินเชื่อที่ไม่สามารถจำแนกวัตถุประสงค์ได้ มูลค่ารวม 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.9% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

ทั้งนี้ข้อมูลจาก สศช.ระบุว่าครัวเรือนไทยชะลอการก่อหนี้ในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล โดยในไตรมาสสามปี 2566 สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนสูงสุดของหนี้สินครัวเรือน ขยายตัว 4.6% ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อน

เช่นเดียวกับสินเชื่อเพื่อยานยนต์ ที่ขยายตัว 0.2% ลดลงจาก 1% ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสถาบันการเงินยังคงกำหนดเงื่อนไขสัญญาการกู้ยืมที่เข้มงวด ตามคุณภาพสินเชื่อ ที่มีแนวโน้มด้อยลง ด้านสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นขยายตัวชะลอลงจาก 5.6% ของไตรมาส ที่ผ่านมาเป็น 5.4% จากการชะลอตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิต

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 3.5% จาก 3.2% ของไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือนบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็นต้องใช้เงินหรือนำไปชำระหนี้สินหรือรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย

การก่อหนี้ในระยะหลัง ๆ ได้สร้างพฤติกรรม “รวยทางลัด” จากการที่ใช้หนี้ตามปกติทำท่า “ไม่รอด” คนยุคปัจจุบันส่วนหนึ่งหันหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อหาช่องทางสร้างความร่ำรวย

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ทำการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการ-มูเตลู ของคนไทย พบว่า คนไทยกว่า 88% เชื่อเรื่อง “มูเตลู” โดยมีคนเพียง 12% เท่านั้นที่ระบุว่า ไม่เชื่อเรื่องมูเตลู เลย

นอกจากนั้น ยังระบุว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ น่าจะช่วยดลบันดาลให้ดีขึ้นได้ด้วย หรือ สำหรับบางกลุ่มมองว่า “ชีวิตถูกลิขิตเอาไว้แล้ว” ดังนั้น จำเป็นจะต้องมูเตลู เพื่อให้ชะตาชีวิตเปลี่ยนแปลงไป โดยกว่า 65% มองว่า การมูเตลูเป็น “เรื่องส่วนตัว” คำขอส่วนใหญ่! จึงเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับเรื่องครอบครัวมากเท่าไรนัก สอดคล้องกับผลสำรวจที่บอกว่า คนไทยมูเตลู เรื่อง “เงิน” มากที่สุดถึง 44%

อีกวิธีหนึ่งที่เป็นความเห่อของคนไทยในยุคพ.ศ.นี้ จะนิยมการเป็นคนที่มีอิทธิพลในโลกออนไลน์หรือ INFLUENCER ซึ่ง สภาพัฒน์ฯ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2566 อ้างอิงข้อมูลจากบริษัทสำรวจเรตติ้ง (Nielsen) ระบุว่าปี 2565 ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีจำนวน INFLUENCER รวมกันมากถึง 13.5 ล้านคน โดยประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน มากเป็นอันดับ2 รองจากอินโดนีเซีย

ซึ่งเป็นผลจากการที่สามารถสร้างรายได้ ที่เป็นไปได้ทั้งการเป็นอาชีพเสริม หรือไม่ก็เป็นอาชีพหลัก ว่ากันว่าในปี 2566 สามารถสร้างรายได้จากการโฆษณา,การรีวิวสินค้า โดยในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับทั่วโลกได้ถึง 19.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ในรายงานชิ้นเดียวกันบอกว่าสำหรับประเทศไทย INFLUENCER ได้รับความสนใจเนื่องจากสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยตั้งแต่ 800-700,000 บาทต่อโพสต์ และการสามารถสร้างรายได้ที่ตื่นตาแบบนี้ ทำให้เกิดการแข่งขันในด้านการผลิตเนื้อหาและการแข่งขันในด้านจำนวนผู้เข้าชม จนทำให้สร้างผลกระทบในทางลบ มีการพูดกันว่าในกลุ่ม Gen Z นิยมแสดงตัวตนในใช่องทางนี้มากที่สุด จนมีความกังวลว่า การไม่มีกฎระเบียบในการควบคุมดูแล ทำให้เกิดค่านิยมที่ผิดให้กับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในการก่อหนี้เพื่อนำมาซื้อสินค้าและบริการ

การแก้ปัญหาหนี้ ในวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนนอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังกลับซ้ำเติมเพิ่มเติมเข้าไปอีก ด้วยอารมณ์ “ช่างแม่..มัน” (เหมือนจะบอกว่าถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ปล่อยเลยตามเลย) การแก้ปัญหาหนี้ แบบปลายทางจึงค่อนข้างจะยาก หากไม่ไปดูที่ต้นทาง ว่าเราก่อหนี้จากสาเหตุอะไร ซึ่งสาเหตุสำคัญก็คือความอยากมีอยากได้ โดยยังไม่พร้อม และเชื่อว่าวิธีการทางลัดทั้งหลายเป็นทางออก เพราะการที่คนเราขาดสิ่งที่เป็น”ความอดทนและอดออม” เนื่องจากไม่ได้รับมรดกมาจากครอบครัวนั่นเอง

ความ “อดทน”และ “อดออม” เป็นสิ่งที่หล่นหายไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเทคโนโลยี และควรนำกลับมาให้คนรุ่นต่อไป เพราะคนรุ่นนี้ไม่ทันแล้วครับ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

การบริหารชีวิตให้มี “ความสุข” ด้วย “สำเร็จ” ด้วย นั้นเป็นเรื่องยาก แต่ทำได้

BORN TO BE หรือ LIKE TO BE

ชีวิตที่ไม่มีเป้าหมาย ก็เป็นได้แค่ “ความฝัน”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ