TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistผ่าแผน "ล้างหนี้" แห่งชาติ

ผ่าแผน “ล้างหนี้” แห่งชาติ

ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาระดับชาติมาตั้งแต่หลังวิกฤติโควิด รัฐบาลประยุทธ์ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน รัฐบาลปัจจุบันยกให้เป็นวาระแห่งชาติ ล่าสุดตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่กระทรวงการคลังแถลงอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท หรือราว 91% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ความมั่นคงของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ที่กำหนดไว้ว่าหนี้ครัวเรือนไม่ควรเกิน 80% โดยหนี้ครัวเรือนที่ว่านั้นมีหนี้เสีย 1.6 ล้านล้านบาท หรือราว ๆ 10% และมีแนวโน้มว่าก้อนหนี้เสียที่ว่านั้นโตขึ้น ๆ เรื่อย พร้อมกับเพิ่มแรงกดดันไปยังเศรษฐกิจ  

เมื่อวันอังคารที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมาเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ออกมาแถลงด้วยลีลาขึงขังถึงมาตรการจัดการหนี้ทั้งระบบ หลังออกมาประกาศยกปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน โดยร่ายยาวถึงสูตรในการแก้ปัญหาหนี้ครั้งนี้ ด้วยการแบ่งลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่มคือ

หนึ่ง ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดระหว่างปี 2563-2564 ซึ่งมีจำนวน 1.1 ล้านรายมีทั้งเอสเอ็มอีและบุคคล  

สอง ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำแต่มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนเกินศักยภาพในการชำระหนี้ แยกเป็นกลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ และทหาร และกลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิต รวม สินเชื่อบุคคล

สาม กลุ่มมีรายได้ไม่แน่นอนทำให้การชำระหนี้ไม่ต่อเนื่อง อาทิ เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

สี่ กลุ่มหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมานาน  

โดยสูตรล้างหนี้ที่นายกฯเศรษฐาและรมว.คลังแถลงส่วนผสม ประกอบด้วยปรับ โครงสร้างหนี้ พักหนี้ ลดหนี้ ยกหนี้ พักดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ย เพื่อดึงลูกหนี้ออกจากบัญชีดำเครดิตบูโร โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม เช่น 

หนี้รหัส 21 หรือหนี้โควิดที่ค้างชำระมาเกิน 90 วัน ในส่วนเงินกู้ฉุกเฉินที่รัฐบาลตอนนั้นให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจากวิกฤติโควิดรายละ 10,000 บาท รวมแล้วหนี้ก้อนนี้อยู่ 40,000 ล้านบาท และเป็นหนี้เสียราว 30% หรือ 7,000 ล้านบาท ส่วนนี้รัฐบาลจะตัดหนี้ให้เลย และนำเงินจากการกันสำรองหนี้เสียตั้งแต่ตอนเริ่มโครงการไว้ 50% ราย 20,000 ล้านบาทมาชดเชยให้ธนาคาร

กลุ่มถัดมาหนี้ ครู ทหาร ตำรวจ ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยหนี้กลุ่มนี้ใช้สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นกลไกในการแก้ไขหนี้ โดยให้กลุ่มข้าราชการที่ประสงค์เข้าโครงการต้องโอนหนี้จากเจ้าหนี้เดิมมารีไฟแนนซ์ (เปลี่ยนเจ้าหนี้) กับสหกรณ์ฯ และสหกรณ์ฯ จะตัดเงินกู้จากบัญชีเงินเดือนจากลูกหนี้โดยตรง โดยยึดหลักให้ลูกหนี้รายนั้น ๆ มีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% ทั้งนี้ สหกรณ์ฯ จะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด เนื่องจากได้สนับสนุนซอฟท์โลน (เงินกู้ต่ำพิเศษ) จากธนาคารออมสินแลกกับการที่สหกรณ์ฯ จะต้องเข้าเครดิตบูโร 

สำหรับหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ตามที่แผนล้างหนี้กลุ่มนี้ระบุว่าจะลดดอกเบี้ยเหลือ 3-5% ทำเอาฮือฮากันทั้งประเทศ เนื่องจากเป็นหนี้ที่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุดประเภทหนึ่ง และเป็นหนี้ที่แบงก์ชาติบอกว่าเป็นห่วงสุด ๆ  ปัจจุบันมีบัตรเครดิตในระบบ 23.8 ล้านใบ ในจำนวนนี้มี 1.1 ล้านใบ “อาการน่าเป็นห่วง โดยยอดหนี้บัตรเครดิตทั้งระบบอยู่ประมาณ 540,000 ล้านบาท และเป็นหนี้มีปัญหาประมาณ 60,000 ล้านบาทเศษโดยประมาณ  

ช่วงวิกฤติโควิดแบงก์ชาติให้แบงก์และบริษัทผู้ออกบัตรลดยอดเก็บหนี้ขั้นต่ำเหลือ 5% จาก 10% เพื่อแบ่งเบาภาระ ปรากฎว่าลูกหนี้กลุ่มนี้บางส่วนเกิดอาการติดเชื้อ หนี้เรื้อรัง หรือ ผ่อนเท่าไหร่หนี้ก็ไม่จบเสียที ก่อนหน้านี้ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าแบงก์ชาติพบว่าหนี้บัตรเครดิตบางรายหากผ่อนชำระตามเกณฑ์ขั้นต่ำอย่างสม่ำเสมออาจต้องใช้เวลาถึง 100 เดือน และในข้อเท็จจริง หนี้จะไม่จบแค่นั้นเพราะระหว่างทางจะมีการกู้ซึ่งทำให้ระยะเวลาการจบหนี้ช้าออกไปอีก 

กรณีหนี้บัตรเครดิตใครที่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิตจนขยับตัวไม่ได้ให้สมัครเข้าเยียวยากับโครงการคลินิกแก้หนี้ของแบงก์ชาติที่เปิดรักษาผู้มีอาการหนี้ค้างเรื้อรังมาระยะหนึ่งแล้ว   โดยแนวทางรักษาอาการป่วยหนี้บัตรเครดิต ทางคลินิกจะให้รวมหนี้เป็นก้อนเดียวกันกรณีมีบัตรเครดิตหลายใบ จากนั้นปรับโครงสร้างหนี้ แบ่งชำระรายงวดตามความสามารถที่แท้จริงของลูกหนี้โดยมีระยะเวลาผ่อนสูงสุด 10 ปี อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 3-5% ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิตที่อยู่ระหว่าง 15-25%  

สรุปว่าใครอยากได้ลดดอกเบี้ยเพื่อล้างหนี้บัตรเครดิตต้องเข้าโครงการดังกล่าว ส่วนใครที่สถานะหนี้ปกติดี กิตติรัตน์ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกฯ ตอบคำถามสื่อที่ว่า ลูกหนี้ปกติเข้าโครงการนี้ได้หรือไม่? ว่า สามารถเข้าโครงการเพื่อรับดอกเบี้ย 3-5% ได้เช่นกัน แม้เจ้าตัวบอกว่าไม่ได้ยุ แต่ขอว่าหากเป็นหนี้ปกติก็อยากให้ชำระปกติ 

มาในส่วนของกลุ่มหนี้เกษตรกรที่ค้างอยู่กับธ.ก.ส. รัฐบาลกำหนดให้เกษตรกรสามารถพักหนี้ไม่เกิน 3 ปี จากเงินต้นทุนสัญญากู้รวมกันไม่เกิน 300,000 บาท เบื้องต้นเกษตรผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการนี้มีอยู่ราว 2 ล้านรายจากยอดหนี้ 283,000 ล้านบาท จากการเปิดเผยของ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังว่า รัฐบาลจะควักเงินงบประมาณแผ่นดิน 54,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยให้ธ.ก.ส.แทนเกษตรกร 

มาถึงกลุ่มหนี้เสียที่ค้างกับสถาบันการเงินมานานจนมองไม่เห็นอนาคต แผนล้างหนี้แห่งชาติงัดโมเดลตั้งการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 โดยธนาคารออมสินจะร่วมกับเอเอ็มซีเอกชน ตั้ง AMC ขึ้นมา กฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง อีกคนได้บอกกับสื่อว่า การแก้หนี้ผ่านช่องทางเอเอ็มซี เงื่อนไขผ่อนปรนกว่าการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้เอ็สเอ็มอีสามารถเดิมหน้าต่อได้

หนี้ในส่วนอื่นอย่าง ลูกหนี้เช่าซื้อ กรณีออกรถใหม่ รถยนต์ ให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 10% และจักรยานยนต์ไม่เกิน 20% ลดดอกเบี้ยผิดนัด ได้ส่วนลดหากลูกหนี้ปิดบัญชีก่อนกำหนด ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้านลูกหนี้กยศ. ช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย ลดเบี้ยปรับ เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ และยกเลิกผู้ค้ำประกัน

แม้แผนล้างหนี้กลุ่มต่าง ๆ ที่ส่วนงานที่ดูแลจะเริ่มเปิดให้ลูกหนี้ที่สนใจเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป และต้องทำสัญญาก่อนวันที่ 31 มีนาคมปีหน้า ครอบคลุมและมีมาตรการ ลดต้น ลดดอก และปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะจบภายในรัฐบาลนี้ตามที่นายกฯ เศรษฐาประกาศเอาไว้ เพราะหัวใจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในแผนล้างหนี้ครั้งนี้ อยู่ที่ตัวลูกหนี้เป็นสำคัญ ว่าพร้อมจะจำศีลทางการเงิน งดก่อหนี้ รักษาวินัยการเงิน จนกว่าสถานการณ์หนี้ของตัวเองจะดีขึ้นหรือไม่ … ขมเป็นยาเสมอ

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

เศรษฐกิจไทย ยังไม่วิกฤติ

เตรียมรับมือกับ “ความเสี่ยงใหม่”

หนี้ครัวเรือน … หนี้ชั่วนิรันดร์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ