TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเตรียมรับมือกับ “ความเสี่ยงใหม่”

เตรียมรับมือกับ “ความเสี่ยงใหม่”

สื่อรายงานข่าววาระครบ 1 เดือย สงครามกาซา โดยอ้างแหล่งข่าว กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ เผยว่า ณ วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้ว 10,022 คน หลังอิสราเอลเปิดฉากโจมตีฉนวนกาซ่า และฝ่ายอิสราเอลเสียชีวิต 1,400 คน 

ที่น่าตกใจคือชาวปาเสลสไตน์ที่สังเวยชีวิตนั้นเป็นเด็กถึง 4,102 คนหรือราว 40% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ตัวเลขที่ชวนสลดดังกล่าวนั้น อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติถึงกับออกมาเตือนว่าฉนวนกาซากำลังกลายเป็น “สุสานเด็ก” เชื่อว่าโศกนาฎกรรมที่กาซ่าจะเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่ออิสราเอลไปอย่างสิ้นเชิง

กลับมาที่บ้านเรา มีการประเมินผลต่อเศรษฐกิจหลังสงครามกาซ่าผ่านมา 1 เดือน โดย พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ออกมาประมวลและสรุปสถานการณ์ว่ายังไม่ส่งผลกระทบรวดเร็วและรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกเหมือนกับสงครามรัสเซียยูเครนที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน เนื่องจาก อิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ได้มีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก

ตัวชี้วัดว่าสงครามกาซ่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและประเทศมากนัก ที่ผู้อำนวยการสนค.ยกมาอ้างอิง คือ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 6% เท่านั้น ในขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตร โลหะส่วนใหญ่ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง 

มีเพียงประเด็นเดียวที่สนค.กังวล คือ แรงงาน เพราะมีคนไทยไปทำงานอิสราเอลราว 25,000 คน นับเป็นอันดับ 2 ของไทย รองจากไต้หวัน เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้ต้องว่างงานแบบฉับพลับ โดยถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีแรงงานกลับบ้านแล้ว 8,917 คน ตามนโยบายของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ที่เรียกร้องให้แรงงานไทยกลับบ้านก่อนเนื่องจากประเมินว่าสงครามกาซ่ามีแนวโน้มขยายวง โดยรัฐบาลจะดูแลค่าเดินทางพร้อมออกมามาตรการอื่นสนับสนุนแรงงานกลุ่มดังกล่าว   

เรื่องนี้คงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีแรงงาน พิพัฒน์ รัชกิจประการ ว่าจะมีมาตรการเยียวยาและหางานรองรับแรงงานกลับบ้านจากอิสราเอลอย่างไร หากมาตรการออกมาไวคงพอบรรเทาความเดือดร้อนได้พอสมควร 

วันนี้แม้ผลจากสงครามกาซ่ายังอยู่ในวงจำกัด แต่อนาคตนั้นคาดเดายาก เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีผู้สนับสนุนทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดจึงมี ซึ่งหากเกิดขึ้นจะส่งผลต่อราคาน้ำมันที่สามารถน็อคเศรษฐกิจโลกได้ง่าย ๆ     

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารโลกออกมาเสนอฉากทัศน์สงครามกาซ่าจำนวน 3 ฉาก ซึ่งพอสรุปความโดยสังเขปได้ตามนี้ว่า   

ฉากทัศน์แรก หากสถานการณ์ความตรึงเครียดในตะวันออกกลางมีผลกระทบเล็กน้อย จะส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกหายไปประมาณ 500,000 บาร์เรล – 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน กรณีนี้จะทำให้ให้ราคาน้ำมันดิบดีดตัวเล็ก ๆ ขึ้นไปอยู่ระหว่าง 93-107 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล

ฉากทัศน์ที่สอง ถ้าสถานการณ์ลุกลามเป็นวงกว้าง กรณีนี้อุปทานน้ำมันจะหายไปจากตลาดโลก 3-5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้นไปถึง 121 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ระดับนี้โลกเริ่มอึดอัดละ

ส่วนฉากทัศน์ที่สาม กรณีเลวร้ายสุด ๆ ธนาคารโลกประเมินว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกหายไปเป็นจำนวนมากถึง 6-8 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงเทียบเท่ากับเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์คว่ำบาตรน้ำมันของชาติอาหรับในช่วงทศวรรษ 1970 สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับ 157 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถ้าขึ้นถึงระดับนี้ได้ขนหัวลุกกันทั้งโลกแน่

วันนี้ โลกถูกบดบังด้วยเมฆหมอกของความไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น

วันก่อนผู้ว่าแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจไทยจะมั่งคั่ง ยั่งยืนได้ นอกจากเสถียรภาพแล้วยังต้องมีความยืดหยุ่น ทนทาน ล้มแล้วต้องลุกให้ไว  เนื่องจากโลกตอนนี้เปลี่ยนไปชัดเจน ความเสี่ยงต่าง ๆ สูงขึ้น ไม่ใช่ความเสี่ยงที่คุ้นเคย เช่น ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือความเสี่ยงใหม่ที่ไม่คุ้นเชินทำให้การคาดการณ์ลำบากว่าผลสุดท้ายและผลข้างเคียงของความเสี่ยงดังกล่าวจะเป็นอย่างไร 

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยกตัวอย่าง “ ความเสี่ยงใหม่ “ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ความไม่สงบในฉนวนกาซ่า อาจนำไปสู้เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ซึ่งจะมีผลข้างเคียงตามมาค่อนข้างสูง โดยตอนนี้โลกอยู่ในโหมดที่ชะล่าใจไม่ได้ 

การที่จะสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงใหม่นั้น ต้องเริ่มต้นจากการใช้ชีวิตอย่าง “รู้คิด” จะจ่ายหรือจะกู้ต้องคิดหลายตลบ เลือกจ่ายในสิ่งที่จำเป็น ของไร้สาระพักไว้ก่อน หลีกเลี่ยงการกู้แบบดาวน์ต่ำ ผ่อนยาวเพราะหนี้แบบนี้จะผูกพันยาว และสร้างภาระดอกเบี้ยมากจนเหมือนกับโซ่ตรวน ยิ่งตัวเบา ยิ่งยืดหยุ่น

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

หนี้ครัวเรือน … หนี้ชั่วนิรันดร์

“ทุน”​ ถอยตั้งหลัก คอย “ตั้งรัฐบาลใหม่” ชัดเจน      

เงินเฟ้อชะลอ แต่ดอกเบี้ยยังไม่ลด

เมื่อ “ตลาดส่งออกทุเรียนไปจีน” ของไทย ถูกท้าทาย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ