TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistได้รัฐบาลช้า บั่นทอนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ

ได้รัฐบาลช้า บั่นทอนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ

เส้นทางการสรรหานายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่สุดผกผัน หลัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พลาดเก้าอี้นายกฯ จากการโหวตในสภา ก่อนสถานการณ์ย้วยมาถึงผู้ตรวจราชการแผ่นดิน มีมติตามคำร้องของนักวิชาการว่ามติ 2 สภา ว่าด้วยการแสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ ครั้งที่สองนั้นเป็นญัตติซ้ำหรือไม่ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทำให้บรรยากาศการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง ชักคาดเดายากขึ้นเรื่อย ๆ 

กับความอึมครึมทางการเมืองที่กล่าวมานั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ว่าแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ มีทเดอะเพรส หรือพบสื่อ ตามวาระเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นอกจากรีวิวเศรษฐกิจ ทั้งแนวโน้มภาพใหญ่และภาพย่อยตามวาระแล้ว ยังไล่เรียงเกี่ยวเนื่องไปจนถึง ผลจากการเมืองที่ผูกโยงกับเศรษฐกิจด้วย   

ผู้ว่าแบงก์ชาติฉายภาพใหญ่ว่า “ความไม่แน่นอนเรื่องรัฐบาล ใครจะมา มาเมื่อไหร่ จะไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ให้เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะในประมาณการ ธปท. ได้รวมสมมติฐานไปหมดแล้ว คาดว่างบประมาณจะล่าช้าไป 1 ไตรมาส แต่ข้อเท็จจริงกระบวนการยังเป็นไปตามปกติ งบประจำยังเบิกจ่ายได้ โดยไตรมาส 4/2566-ไตรมาส 1/2567 ที่หายไปจริง ๆ คือ งบลงทุน แต่ก็ไม่ได้มีสัดส่วนมาก คงไม่กระทบปีนี้ แต่จะไปกระทบปี 2567” 

ทั้งนี้ แบงก์ชาติคงคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ว่าจะขยายตัว 3 -4% จากแรงส่งของภาคท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 29 ล้านคนในปีนี้ แม้นักท่องเที่ยวจีนชะลอลง แต่คาดว่าจะได้นักท่องเที่ยวจากตลาดอื่น ๆ มาชดเชย

ส่วนเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยนั้น ผู้ว่าแบงก์ชาติระบุว่า เงินเฟ้อที่ลดลงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลจากฐานเงินเฟ้อช่วงปีก่อนหน้าสูง และผลจากช่วยเหลือค่าไฟฟ้าชั่วคราวของรัฐบาล แต่เงินเฟ้อยังถือว่ามีความเสี่ยงสูงจาก 2 ปัจจัยคือ หนึ่ง อุปสงค์จากการฟ้นตัวของภาคท่องเที่ยว และแรงกระตุ้นจากมาตรการรัฐ และ สอง การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการเมื่อกำลังการผลิตตึงตัว

ด้วยเหตุผลที่ว่าข้างต้นนั้น นโยบายดอกเบี้ยของแบงก์ชาตินับจากนี้ไปคือ “ ….ทยอยปรับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเข้าสู่ระดับที่ช่วยรักษาสมดุลของเศรษฐกิจในระยะปานกลางจึงยังเหมาะสม (ถอนคันเร่ง แต่ไม่ได้เหยียบเบรก) โดยเป้าหมายของการดำเนินนโยบายยังเน้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่สะดุด โตได้ตามศักยภาพ เงินเฟ้อมีเสถียรภาพและอยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งต้องไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจการเงินที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง การคำนึงถึงเรื่องการรักษา policy space เพื่อรองรับ shock ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจึงมีความสำคัญมากขึ้น

สรุปคือ จะยังไม่เห็นแบงก์ชาติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายแบบ ฮวบฮาบ หรือ คงอัตราดอกเบี้ย เช่นธนาคารกลางหลายประเทศ  เพราะแบงก์ชาติคงยึด สายกลาง ขยับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป

จากภาพใหญ่ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยังกล่าวถึง นโยบายเพิ่มแบงก์เสมือน Virtul Bank ว่า เป้าหมายคือเพิ่มช่องทางเข้าถึงเงินทุนของ เอสเอ็มอี และ กระตุ้นการแข่งขันอย่างเหมาะสม  พร้อมย้ำจากมุมมอง ของผู้มีหน้าที่พิทักษ์เสถียรภาพเศรษฐกิจว่า การเพิ่มจำนวนแบงก์พาณิชย์ “จำนวนมาก” อาจไม่ได้ช่วยให้ลูกค้ากู้แบงก์ได้ดอกเบี้ยต่ำลง เนื่องจากการ แบงก์กำหนดดอกเบี้ย “จากความเสี่ยงของลูกหนี้” เป็นสำคัญ และอาจส่งผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้เช่น เกิดการแข่งขันจนแบงก์บางรายไม่สามารถอยู่รอด ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อลูกค้า หรือสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น เพิ่มการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อย จนกระตุ้นการก่อหนี้เกินตัวและซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน

ท่าทีข้างต้นเป็นการตอบคำถาม ศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล อดีตว่าที่รัฐมนตรีคลัง ที่นำเคยนำเสนอไอเดียต่อสาธารณะว่า เพิ่มจำนวนแบงก์ การแข่งขันมากขึ้น แล้วดอกเบี้ย (เงินกู้)จะลดลงเอง

แม้โดยรวมภาพเศรษฐกิจไทย ยังโอเคอยู่ยังไม่มีอะไรซีเรียส ณ ตอนนี้ แต่สิ่งที่ผู้ว่าแบงก์ชาติเริ่มกังวล คือผลต่อความเชื่อมั่นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาถ้าพิจารณาจากรายงานจัดอันดับความเชื่อมั่นของต่างชาติหลายราย ก็เป็นห่วงในเรื่องของความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย

แน่นอนว่า หากความเชื่อมั่นเปลี่ยนไปย่อมส่งผลต่อการความน่าเชื่อถือของประเทศ และหากสถานการณ์การเมืองบานปลาย ย่อมกระทบถึงการลงทุนโดยตรง เพราะเงินทุนจะไหลไปตรงไหนนั้น ความแน่นอนและสถานการณ์ที่คาดได้คือหนึ่งในเงื่อนไขลำดับต้น ๆ หากสถานการณ์เลยเถิดไปถึงจุดนั้น จะยิ่งตอกย้ำจุดอ่อนเรื่องเงินลงทุนจากต่างประเทศของไทยให้ย่ำแย่ลงไปอีก

ผู้ว่าแบงก์ชาติ กล่าวถึงประเด็นนี้ด้วยว่า การขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยควรมาจากการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมา การลงทุนของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ และล่าสุดแทบไม่ต่างจากระดับก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 40

แม้เศรษฐกิจไทยอยู่ในจังหวะฟื้นตัว และยังดูดีในสายตาโลก ขนาดรายงาน ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี ฉบับล่าสุดยังปรับคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เป็น 3.5 % จากเดิม 3.3% นับเป็นประเทศเดียวใน 6 ประเทศอาเซียนที่เอดีบีปรับคาดการณ์เพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากสถานการณ์การเมืองบานออกไป ๆ ถึงขั้นลงถนนกันต่อเนื่องแบบกิจวัตรประจำวัน ความเชื่อมั่นคงค่อย ๆ ถดถอยหายไป โอกาสที่ดูสดใสตอนนี้จะถูกแทนที่ด้วยโทนเทา ๆ หม่น ๆ ทันที

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ได้รัฐบาลช้า บั่นทอนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ

หนี้ครัวเรือน หลอนเศรษฐกิจ

เมื่อ “ตลาดส่งออกทุเรียนไปจีน” ของไทย ถูกท้าทาย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ