TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเปิดแผน "ประคองเศรษฐกิจ" ช่วงสุญญากาศการเมือง

เปิดแผน “ประคองเศรษฐกิจ” ช่วงสุญญากาศการเมือง

การจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยขยับขึ้นมาเป็นแกนนำแทนพรรคก้าวไกล คืบหน้าแต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่ง 376 เสียง และดัน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้หรือไม่ ?

ขณะเดียวกันสื่อเริ่มเสนอข่าววนไปวนมาว่า หากตั้งรัฐบาลช้าจะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ เพราะงบกระตุ้นขาดตอน การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งตามปีปฏิทินนั้นจะต้องเริ่มเดือนตุลาคม หรืออีกเดือนกว่า ๆ ต้องล่าช้าออก ซึ่งส่งผลกระทบไปยังงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 24 แห่ง ที่มีเม็ดเงินรวม 149,382 ล้านบาท ต้องยืดยาวตามไปด้วย

อย่างที่ทราบ ๆ กันว่างบประมาณจากรัฐมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากมีเม็ดจำนวนมหาศาล เมื่อมีข่าวว่าการจัดทำงบประมาณฯ ปี 2567 ล่าช้าออกไปจึงเกิดอาการปริวิตกในหลายภาคส่วนว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่าน “หน่วยงานประจำ” ที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจออกมาสื่อสารกับสังคมว่าไม่ต้องปริวิตกจนเกินเหตุกับการล่าช้าของการจัดทำงบประมาณปีหน้า เพราะมีแผนรองรับระหว่างรอ “ฝ่ายการเมือง ” เข้ามาบริหาร

เริ่มจาก พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง คาดว่าหากมองอย่างเลวร้ายสุด ๆ งบประมาณฯปี 2567 จะล่าช้าไม่เกิน 6 เดือน หรือไม่เกินไตรมาสแรกของปีหน้า (2567) ซึ่งความล่าช้าดังกล่าวทำให้จีดีพีหายไปเพียง 0.05% เท่านั้น นัยหนึ่งคือสถานการณ์ไม่น่ากลัวจนขนหัวลุกอย่างที่บรรดากูรูทั้งหลายที่เรียงหน้ากันสลอนออกมาให้ความเห็นผ่านสื่อ

โฆษกกระทรวงการคลังยังกล่าวด้วยว่าระหว่างรอรัฐบาลใหม่และงบประมาณฯปี 2567 ยังมีเม็ดเงินจากแหล่งอื่นที่จะผลักดันเศรษฐกิจให้ขยับ เช่น การเร่งรัดให้หน่วยงานราชการใช้จ่ายในช่วงต้นปีงบประมาณ (โค้งสุดท้ายปีนี้) ซึ่งมีเม็ดเงินราว 50,000 ล้านบาท ตามด้วยเม็ดเงินสินเชื่อจากแบงก์รัฐที่รัฐบาลได้อนุมัติไว้ก่อนหน้าอีก 70,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบประจำ (80% ของงบประมาณฯอยู่ตรงนี้) และยังมีงบในโครงการต่อเนื่องที่ไม่ได้รับผลกระทบจากงบประมาณปี 2567 ล่าช้า

ถัดมา ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ได้ออกมาให้ข้อมูลช่วยคลายกังวลอีกทางว่าสภาพัฒน์ฯเตรียมจะเร่งรัดให้งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ระบบในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงสุญญาศทางการเมือง

เลขาสภาพัฒน์ฯ แจงตัวเลขเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจว่ามีอยู่ราว 342,000 ล้านบาท แยกเป็นงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ตั้งตามปีปฎิทิน 142,731 ล้านบาท และงบลงทุนที่เป็นงบผูกพันของรัฐวิสาหกิจที่ตั้งงบตามปีงบประมาณอีก 200,000 ล้านบาท โดยแผนการนี้หลังคณะกรรมการสภาพัฒน์ฯอนุมัติจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป
ตัวอย่างรัฐวิสาหกิจที่ตั้งงบลงทุนตามปีงบประมาณ อาทิ บมจ.ปตท. วางไว้ 92,289 ล้านบาท บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) อีก 5,172 ล้านบาท บมจ. อสมท. 82 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วนงบผูกพันของรัฐวิสาหกิจที่เด่น ๆ เช่น รัฐวิสาหกิจที่สังกัดกระทรวงพลังงาน มีงบฯรวม 13,468 ล้านบาท ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 12,597 ล้านบาท บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (E-inter) 587 ล้านบาท บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด 284 ล้านบาท เป็นต้น

อีกด้าน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ได้ประเมินผลจากการเมืองต่อเศรษฐกิจอีกครั้งระหว่างร่วมสัมมนาที่สำนักงานแบงก์ชาติสาขาภาคเหนือเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยผู้ว่าแบงก์ชาติย้ำอีกครั้งว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลให้งบประมาณ (2567) ล่าช้าไปราว 2 ไตรมาส ผลกระทบไม่มาก เพราะรายจ่ายประจำยังดำเนินการได้ตามปกติ แม้กระทบงบลงทุนบ้างแต่ไม่ได้มากจนทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

พร้อมกับสื่อสารไปยังรัฐบาลใหม่ด้วยว่า (แบงก์ชาติ) ไม่อยากเห็นนโยบายที่บั่นทอนเสถียรภาพ การจัดทำนโยบายประชานิยมนั้นทำได้ แต่ขอให้อยู่ในกรอบและมีวิธีการบริหารจัดการเงินที่ชัดเจน

ผู้ว่าแบงก์ชาติได้ประเมินเศรษฐกิจล่าสุดด้วยว่า เศรษฐกิจไตรมาสสองที่สภาพัฒน์ฯ จะแถลงเร็วๆนี้จะจีดีพีจะต่ำกว่าคาดการณ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนจากการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งสตอรี่ของปัจจัยตามที่กล่าวมานั้นไม่ได้เปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ

เศรษฐพุฒิ สรุปภาพเศรษฐกิจทั้งปีว่าแบงก์ชาติอาจจะปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ เนื่องจากภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่จะได้เห็นจีดีพีขยายตัวราว 3% กลาง ๆ จากเดิมที่แบงก์ชาติมองไว้ที่ 3.6% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับศักยภาพ

รวมแล้วสถานการณ์เศรษฐกิจในห้วงเวลาที่พรรคการเมืองยัง “ดีลซ้อนดีล” เรื่องผลประโยชน์ยังไม่จบ จนการจัดทำงบประมาณ 2567 ต้องล่าช้าออกไป 2 ไตรมาส แม้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติน่ากังวล แต่ไม่ควรกลัวถึงขั้นหยุดจับจ่ายจนเศรษฐกิจแผ่วเอาเข้าจริง ๆ เพราะยังมีเม็ดเงินจากส่วนต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น สามารถหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไม่ให้จังหวะฟื้นตัวเสียทรง

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน  

หนี้ครัวเรือน หลอนเศรษฐกิจ

เงินเฟ้อชะลอ แต่ดอกเบี้ยยังไม่ลด

“ทุน”​ ถอยตั้งหลัก คอย “ตั้งรัฐบาลใหม่” ชัดเจน

จับตา ‘เศรษฐกิจ’ ก่อนและหลัง การเลือกตั้ง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ