TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistแบงก์ "ลดดอกเบี้ย"​ แค่น้ำจิ้ม 

แบงก์ “ลดดอกเบี้ย”​ แค่น้ำจิ้ม 

หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” เล่นเกมงัดข้อกันนานหลายเดือน จากกรณีที่ “นายกฯเ ศรษฐา” พยามยามกดดันให้แบงก์ชาติ “ลดดอกเบี้ยนโยบาย” ช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจรายย่อยและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงประชาชนที่มีหนี้ครัวเรือนให้หายใจหายคอได้คล่องขึ้น 

คำขอร้องแกมบังคับของนายกฯเศรษฐา กลับไม่ทำให้แบงก์ชาติเห็นดีเห็นงามด้วย ที่สำคัญล่าสุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประชุมมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปีเช่นเดิม

ในมุมของแบงก์ชาติอาจจะมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ ไม่วิกฤติตามที่รัฐบาลเข้าใจ การลดดอกเบี้ยนโยบายกลับจะมีผลข้างเคียงมากกว่า เรียกว่าแบงก์ชาติมองว่าเสียมากกว่าได้ แต่รัฐบาลก็มองว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้เข้าขั้นวิกฤติแล้ว การลดดอกเบี้ยคือหนทางเดียวที่จะพยุงเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

กระทั่งเมื่อวันอังคารที่ 23 เมษายน ก่อนการประชุมครม. นายกฯ เศรษฐาได้เชิญผู้บริหารและตัวแทนธนาคารของรัฐและเอกชนเข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล ประกอบด้วย ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย หมวกอีกใบในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย

นอกจากนี้ ยังมี อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เพื่อขอความร่วมมือเรื่องของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยใช้เวลาหารือประมาณ 30 นาที

ต้องบอกว่าแบงก์พาณิชย์ที่ถูกเชิญไปจิบกาแฟร่วมโต๊ะนายกฯ เศรษฐานั้น จัดอยู่ในระดับ “บิ๊กโฟร์” แปลว่าหากขาใหญ่ 4 ราย เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายกฯ เศรษฐา แบงก์รายกลางรายเล็กก็ต้องทำตาม ส่วนแบงก์รัฐไม่ต้องพูดถึงแค่รอสัญญาณไฟเขียวเท่านั้น 

ในที่สุดสมาคมธนาคารไทยก็สนองนโยบายทันควันด้วยการประกาศลดดอกเบี้ย MRR (ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเรียกเก็บลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ลง 0.25% ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SMEs ในส่วนของแบงก์รัฐไม่ยอมตกขบวน ขานรับทันทีทันควัน 

การที่นายกฯ เศรษฐา ใช้วิธีขอร้องให้แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ย ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นายกฯ เศรษฐาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่สมารถโน้มน้าวแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ยตามแนวคิดของตัวเองได้ จึงต้องใช้วิธีทางอ้อมด้วยการไปคุยกับแบงก์พาณิชย์แทน แต่ผลที่ตามมาอาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจว่ารัฐบาลกับแบงก์ชาติขัดแย้งกันหนัก ยิ่งก่อนหน้านี้ท่าทีของนายกฯ เศรษฐาใช้วิธีกดดันผ่านสื่อ ยิ่งทำให้ภาพออกมาดูไม่ดี กลายเป็นว่าการเมืองแทรกแซงแบงก์ชาติ 

อย่าลืมว่า ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญอย่างมาก หากแบงก์ชาติขาดความเป็นอิสระ รัฐบาลสามารถสั่งการได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้านลบ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

อันที่จริงการพูดคุยกับแบงก์พาณิชย์ควรจะเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติมากกว่า ในอดีตก็เคยพูดคุยกันมาตลอด แต่การที่ผู้นำประเทศออกมาแอคชั่นขอร้องธนาคารพาณิชย์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยโดยตรงโดยไม่ผ่านแบงก์ชาติ ครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรก 

เหนือสิ่งอื่นใด การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มีแค่นโยบายทางการเงินโดยผ่านแบงก์ชาติเท่านั้น ยังสามารถทำได้โดยใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐ 

แต่ที่นายกฯ เศรษฐามีปัญหาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะมีเครื่องมือจำกัดในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากพ.ร.บ.งบประมาณล่าช้า อีกทั้งดิจิทัล วอลเล็ตที่รัฐบาลหวังจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดได้หรือไม่ 

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นผลพวงมาจากสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งปี 66 ทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีและการตั้งรัฐบาลเสียเวลาไปมาก การออกพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ก็พลอยล่าช้าตามไปด้วย 

สอดคล้องม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีคลังและอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติระบุว่าปัจจัยน่ากังวลการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า รัฐบาลเข้ามาทำงาน 5-6 เดือน งบประมาณยังไม่ออก ทำให้เศรษฐกิจโตช้า ถ้ารัฐบาลเข้ามาและเร่งออกงบประมาณ มีการใช้จ่าย เศรษฐกิจก็จะเดินหน้าได้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ทิ้งท้ายด้วยว่าการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าทำให้การลงทุนภาครัฐติดลบ ที่ผ่านมาไม่เคยติดลบ มีแต่เป็นบวก จึงดึงให้เศรษฐกิจลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ ความหวังที่ฝากไว้กับการท่องเที่ยวของไทยก็ไม่เป็นตามเป้า แม้รัฐบาลจะผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นตัวเลขนักท่องเที่ยวแล้วก็ตาม แม้จะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวสูงขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวกลับต่ำลง

เรียกว่าในห้วงเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเกือบทุกตัวติดขัดไปหมด นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายกฯ เศรษฐาต้องไปกดดันแบงก์ชาติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวดังกล่าวจะไม่ได้ช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนตามที่คาดหวังคงแค่ช่วยบรรเทา เนื่องจากเป็นการลดเพียง 0.25% เท่านั้น 

ขณะเดียวกันก็คงไม่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากมายเท่าใดนักเพราะดอกเบี้ยที่ลดหนี้ให้นั้นเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อย สัดส่วนก็ไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวทั้งระบบ อีกทั้งระยะเวลาสั้น ๆ แค่ 6 เดือนเท่านั้น 

การที่นายกฯเศรษฐาผลักดันให้แบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐลดดอเบี้ยก็คงได้ใจคนกลุ่มหนึ่งอย่างน้อยก็มีเสียงโห่ร้องดีใจจากภาคธุรกิจพอสมควรม าช้าดีกว่าไม่มา ได้น้อยดีกว่าไม่ได้ทำนองนั้น

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ท่องเที่ยวไทย… ต้องตีโจทย์ให้แตก

เศรษฐา-เศรษฐพุฒิ ห่างไม่ได้ ใกล้ไม่ดี

ทางออกจากวิกฤติต้อง … ปลดล็อก เศรษฐกิจนอกระบบ

เศรษฐกิจไทย หมดบุญเก่า

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ