TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเศรษฐา-เศรษฐพุฒิ ห่างไม่ได้ ใกล้ไม่ดี

เศรษฐา-เศรษฐพุฒิ ห่างไม่ได้ ใกล้ไม่ดี

ความขัดแย้งในแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลเพื่อไทยไม่ใช่ครั้งแรก มีมาตั้งแต่รัฐบาลพลังประชาชน ต่อมาคือพรรคเพื่อไทย ตอนนั้นสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีคลัง ส่วนแบงก์ชาติมีธาริษา วัฒนเกส เป็นผู้ว่าฯขัดแย้งกันในเรื่องนโยบายดอกเบี้ย 

ในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมีรองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังชื่อ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็ขัดแย้งกับแบงก์ชาติในยุค ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นผู้ว่าฯ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ จนมีข่าว จะปลดผู้ว่าฯทุกวัน

กระทั่งมาในยุค เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีควบเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง ที่มี กิตติรัตน์ เป็นประธานที่ปรึกษานายกฯขึ้นมาบริหารประเทศไม่ทันไรความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติก็กลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง 

คราวนี้เห็นต่าง 3 เรื่องใหญ่ ๆ แรกแรก การแจกเงินดิจิทัล วอลเลต 1 หมื่นบาททุกคนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ให้เกิด ”พายุหมุนเศรษฐกิจ” ตั้งเป้าว่าจะช่วย GDP. โต 5%

ขณะที่ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติที่ต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ออกโรงค้านไม่เห็นด้วย หากรัฐบาล กู้เงินมาแจกจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นจะเป็นภาระลูกหลานในอนาคต โดยเสนอให้แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นจริงๆจะใช้งบฯน้อยลง

ต่อมาเห็นต่างในเรื่อง “เศรษฐกิจวิกฤติหรือไม่วิกฤติ” รัฐบาลมองว่า เศรษฐกิจไทยเข้าขั้น ”วิกฤติ” โดยชูประเด็นปี 66 GDP. โตต่ำเตี้ยเรี่ยดินเหลือแค่ ร้อยละ 1.8 เงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนติดต่อกันต่ำสุดในรอบ 35 เดือน พร้อมกับตั้งคำถามถึงแบงก์ชาติว่าทำไมไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย

ด้านแบงก์ชาติเห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติแต่เติบโตอย่างช้า ๆ จากปัจจัยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีปัญหามานาน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกโตช้า ทำให้กระทบกับส่งออกและการท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักของประเทศ แต่การบริโภคในประเทศศยังไปได้ดี 

ส่วนเงินเฟ้อติดลบ แบงก์ชาติเห็นว่าเพราะรัฐบาลไปอุดหนุนค่าไฟ ค่าน้ำมันและค่าแก๊ซ หากรัฐบาลยกเลิกเมื่อไหร่ เงินเฟ้อก็จะกลับมาพุ่งกระฉูดจนเอาไม่อยู่ ในที่สุดก็ต้องขึ้นดอกเบี้อาจจะสูงกว่าอัคราดอกเบี้ยในปัจจุบัน

สุดท้ายคือกรณี ส่วนต่างดอกเบี้ย รัฐบาลเห็นว่าดอกเบี้ยเงินกู้สูงเกินไป แต่ดอกเบี้ยฝากต่ำจึงเกิดส่วนต่างค่อนข้างกว้าง ล่าสุดแบงก์พาณิชย์มีกำไรมหาศาลกว่า2แสนล้าน รัฐบาลเห็นว่าแบงค์ชาติควรลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อช่วยเหลือธุรกิจอยู่รอดและคนเป็นหนี้สามารถผ่อนชำระได้ 

ความขัดแย้งระหว่างนายกฯกับผู้ว่าฯแบงก์ชาติของไทย กลายเป็นที่จับตามองของบรรดาสื่อใหญ่และนักวิเคราะห์ในต่างประเทศ สำนักข่าว Bloomberg พาดหัวข่าวว่า “ความขัดแย้งระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย กับธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างความกังวลแก่นักลงทุนนานาชาติ นิตยสาร Central Banking ซึ่งเป็นสื่อสำหรับแวดวงธนาคารชาติของโลก พาดหัวข่าวว่า “นายกรัฐมนตรีของไทย ขัดแย้งในเรื่องนโยบาย กับผู้ว่าการธนาคารชาติ” 

เช่นเดียวกับเว็บไซต์ข่าว Financial Times เผยแพร่บทความเชิงวิเคราะห์ที่ได้รวบรวมความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเผชิญกับการเติบโตที่ชะลอตัวลงอย่างมาก 

Financial Times รายงานอีกว่า ปัจจุบันแผนการดังกล่าวตกอยู่ในภาวะชะงักงัน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีของไทยกำลังงัดข้ออยู่กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้คำถามสำคัญที่ว่า เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤตจนจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อออกโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ 

ขณะที่ Peter Mumford หัวหน้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Eurasia Group กล่าวว่า การโต้เถียงยืนหยัดของสองฝ่ายคือ รัฐบาลและแบงก์ชาติ ทำให้การคาดการณ์แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และข้อพิพาทดังกล่าวยังเป็นการตอกย้ำจุดยืนที่ไม่มั่นคงของประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและแบงก์ชาติ ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวแต่เป็นปัญหาแนวทางในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ต่างกัน อันเนื่องด้วยภาระกิจที่แตกต่างกัน รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งเน้นนโยบาย”Quick Win”ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตเร็วๆเพราะมีเวลาทำงานสั้นๆและต้องเรียกคะแนนนิยมจากประชนขณะที่แบงก์ชาติมีภาระกิจที่ ดูแลเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดูปัญหาระยะยาว

เหนือสิ่งใด แบงกชาติต้องมีอิสระในการทำงานปลอดจากการเมือง ถ้ารัฐบาลแทรกกแซงหรือก้าวก่ายจะสร้างความเสียหายเศรษฐกิจได้ มีตัวอย่างมาแล้วในยุคก่อนต้มยำกุ้งที่การเมืองแทรกแซงจนเกิดวิกฤติ ในที่สุดต้องมีการออกกฏหมายให้แบงก์ชาติมีความเป็นอิสระ

ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าแบงก์ชาติ ต้องทำงานร่วมกันแต่ต้องมีระยะห่าง ใกล้เกินไปก็ไม่ดี เพราะโดนการเมืองแทรกแซงง่ายแต่ห่างกันก็ไม่ได้เพราะนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังที่กระทรวงคลังดูแลต้องไปคู่กัน

ฉะนั้น ทั้งนายกฯและผู้ว่าแบงก์ชาติต้องจัดวางตัวเองอยู่ในระยะที่เหมาะสม หากมีปัญหาอะไรโทรคุยกันไม่ควรนำเสนอผ่านสื่อให้สาธารณชนทราบเพราะจะเกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจและภาพลักษ์ประเทศได้

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“วิกฤติ” หรือ “ไม่วิกฤติ”

ทำไม “นักท่องเที่ยวจีน” ไม่มาตามนัด?

แก้ “หนี้นอกระบบ” 2 ทศวรรษที่ล้มเหลว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ