TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistผู้ว่าแบงก์ชาติส่งจม. บอกนายกฯ ดิจิทัลวอลเล็ต “ ไม่เหมาะสมครับท่าน”

ผู้ว่าแบงก์ชาติส่งจม. บอกนายกฯ ดิจิทัลวอลเล็ต “ ไม่เหมาะสมครับท่าน”

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือแจก 5 แสนล้านทั่วไทยของรัฐบาลเศรษฐา โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง เคลื่อนตัวใกล้จุดเดือดเข้าไปทุกที ๆ

สัปดาห์ก่อน หลังรัฐบาลออกมาแถลงว่าที่ประชุม คณะรัฐมนตรีครม. (23 เม.ย. 67) เห็นชอบในหลักการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกหัวละหมื่น พร้อมนำหัวหน้าและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลออกมาจัดแถวยืนประกอบการแถลงข่าวของนายกฯ เศรษฐา ที่ตามข่าวระบุว่าเป็นการแถลงแบบกระชับสุด ๆ ใช้เวลาไม่มาก เน้นถ่ายรูปหมู่ เป็นสักขีพยานร่วมกัน เพื่อสื่อไปสู่สังคม ครม.พร้อมใจหนุนดิจิทัลวอลเล็ต พรรคเพื่อไทยไม่ได้เดินคนเดียว

คล้อยหลังจากนั้นไม่นานสื่อหลาย ๆ หลาย ๆ สำนักรายงานเนื้อหาในจดหมายจาก เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่ส่งถึงเลขาฯ ครม.เพื่อส่งต่อให้ที่ประชุมครม.ได้รับทราบถึงข้อห่วงใยอย่างยิ่ง “จากแบงก์ชาติ” ต่อโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แจก 5 แสนล้าน

จดหมายที่ผู้ว่าแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ ส่งถึงนายกฯ เศรษฐา และครม. นั้น ถือว่ายาวและแจกแจงรายละเอียดอย่างชัดเจน ถึงจุดเสี่ยงที่อาจจะนำเศรษฐกิจไปสู่จุดตาย หากรัฐบาลยังขืนดำเนินโครงการดิจิทัลฯ แบบเมินความเสี่ยงและมองข้ามความสำคัญของเสถียรภาพระยะยาว

จดหมายฉบับนี้ ซอยออกเป็น 4 ประเด็นหลัก

หนึ่ง ..ความคุ้มค่าและความจำเป็นในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตลอดจนผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังของประเทศ

สอง ..ความหวาดเสียวจากแหล่งเงินที่นำมาดำเนินโครงการ

สาม ผู้ออกแบบระบบและดำเนินการ และสี่ การบริหารจัดการไม่ให้เกิดรั่วไหล ทุจริต หรือถูกโจรไฮเทคมาล้วงเอาข้อมูลไป

ผู้ว่าแบงก์ชาติพยายามเชิญชวนนายกฯ และครม. ให้ปรับมุมมองในการใช้งบประมาณฯ โดยพุ่งเป้าแจกเงินไปที่กลุ่มเปราะบางที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 14 ล้านคนเศษ ๆ ที่ใช้งบประมาณฯราว 150,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นภาระการคลังมากเกินไป และยังกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตรงจุด หากซัดทีเดียว 500,000 ล้านบาทจะก่อให้เกิดภาระการคลัง ทั้งมากและยาว และจะฉุดประเทศเข้าสู่จุดเสี่ยงด้านการคลังในที่สุด

“…โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody’s ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของวิสัยทัศน์เป็นองค์กรที่มองไกล มีหลักการ และร่วมมือ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่ม Baa 1 ไว้ว่าไม่ควรเกิน 11% ทั้งนี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์นี้ ในปี 2568 ซึ่งหากไทย ..ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม

ประเด็นถัดมาคือที่มาของงบประมาณในการดำเนินโครงการและการจัดการ ที่มาจากงบประมาณฯปี 2567 และ 2568 จำนวน 175,000 ล้านบาท และ 152,700 ล้านบาท ตามลำดับ อีกส่วนไปล้างจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีก 172,300 ล้านบาท ความตอนหนึ่งในจดหมายเน้น “การใช้เงินงบประมาณจากแหล่งต่าง ๆ จะต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน” พร้อมกับย้ำอย่างจริงจังซ้ำว่า

“..  การใช้จ่ายภายใต้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้นจะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงกร โดยหากรัฐบาลยังไม่สามารถ fully earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการ ด้วยเหตุใด ๆ เช่น ไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ ก็จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับเป็นการสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา ซึ่งเป็นความผิด ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501”                     

ความหมายบรรทัดสุดท้ายต้องระวังมีงบประมาณเต็มจำนวนกับ เหรียญโทเคน ที่รัฐบาลจะใช้เป็นตัวกลางแจกเงินหาก ไม่สามารถนำงบประมาณรองรับได้เต็มจำนวนจะมีสภาพไม่ต่างจากเงินเถื่อนไปเลย      

พร้อมกันนั้นแบงก์ชาติยังได้ขอให้ (รัฐบาล) เห็นใจ ธ.ก.ส.ที่ถูกหนดให้เจียดสภาพคล่อง 172,300 ล้านบาท มาหนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แล้วรัฐบาลจะตั้งงบประมาณผ่อนคืนเป็นงวด ๆ ในภายหลัง แต่จะจบเมื่อไรยังไม่แจ้ง ซึ่งผู้ว่าแบงก์ชาติมองว่าการเพิ่มภาระให้ธนาคารที่มีหน้าที่หลักดูแลเกษตรกรนั้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสภาพคล่องและฐานะของธนาคาร เนื่องจากเวลานี้รัฐบาลมีหนี้ค้างกับ ธ.ก.ส. อยู่ 800,000 ล้านบาท

อีกประเด็นที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นห่วงอย่างยิ่งคือระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแจกและชำระเงินดิจิทัล 5 แสนล้านนั้น เพราะขนาดแบงก์พาณิชย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญมากมาย ยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เลย “..ผู้ดำเนินการระบบ (Operator) ต้องสามารถดูแลระบบที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายของประชาชนมีความติดขัด หรือเกิดการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องมีการยกเลิกธุรกรรมและเรียกคืนสิทธิจากประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก รวมทั้งในกรณีที่มีการโจมตีทางไซเบอร์หรือมีการรั่วไหลของข้อมูลจะต้องสามารถหยุดยั้งและแก้ไขเหตุได้อย่างทันท่วงที

กับความกังวลของแบงก์ชาติที่มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจของชาติ ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังที่มีหน้าที่ดูแลการคลังของชาติ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวแบบชิล ๆ ว่า ข้อห่วงใยดังกล่าว ไม่เป็นประเด็นใหม่ในที่ประชุม (คณะกรรมการนโยบายเดิมเงิน 1 หมื่นบาท) มีการชี้แจงข้อกังวลนี้เรียบร้อยแล้ว และผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นหนึ่งในนี้ กรรมการท่านอื่นอีก 20 คนไม่มีความเห็นเช่นนี้

ดูลีลาของปลัดคลังแล้ว ขอบอกว่า “เหมาะสมครับท่าน”  …

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน          

เศรษฐกิจไทย ยังไม่วิกฤติ

ผ่าแผน “ล้างหนี้” แห่งชาติ

2567 สงครามฟรีวีซ่า ชิงนักท่องเที่ยว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ