TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistVirtual Bank ในอุ้งมือทุนใหญ่ ประชาชนได้อะไร

Virtual Bank ในอุ้งมือทุนใหญ่ ประชาชนได้อะไร

จุดเปลี่ยนธนาคารพาณิชย์เริ่มงวดเข้ามาทุกที ทันทีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” มีนโยบายเปิดให้มีธนาคารรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Virtual Bank หรือบางคนก็เรียกว่า ”ธนาคารเสมือน” แต่ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “ธนาคารไร้สาขา” นั่นเอง ตอนนี้บรรยากาศเริ่มคึกคัก ผู้ที่สนใจเข้ามาเล่นในเกมนี้เริ่มเปิดหน้าออกมาเรื่อย ๆ 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ กลุ่ม Gulf AIS KTB และ OR จับมือเป็นพันธมิตร ประกาศพร้อมยื่นขอใบอนุญาตทันทีที่แบงก์ชาติเปิดให้ยื่นใบสมัคร เปิดหน้าออกมาแล้วต้องบอกว่ากลุ่มนี้น่ากลัวไม่น้อย เพราะล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่ในแต่ละธุรกิจ แต่ระรายล้วนมีจุดแข็งในแต่ละด้านและมีฐานลูกค้าในมือไม่น้อย 

ก่อนหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ก็ประกาศว่าให้ความสนใจ แต่วงในเป็นที่รู้กันว่าขอจองแล้วหนึ่งใบ เชื่อว่าหากประกาศชื่อพันธมิตรเต็มรูปแบบก็น่าจะฮือฮาไม่น้อย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มซีพีที่มีความสนใจ โดยมีบริษัทในเครืออย่างกลุ่มทรูและแอสเซนด์ กรุ๊ป ที่เป็นเจ้าของอีวอลเลต “ทรูมันนี่” อีกทั้งมีร้าน “เซเว่น อีเลฟเว่น” อยู่เกือบ 14,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นช่องทางเติมเต็มการบริการ 

ขณะที่ JMART ก็เป็นอีกรายที่เคยประกาศตัวว่าจะเข้าชิง พร้อมกับจะมีข่าวว่าจะมีพันธมิตรอย่าง KB Financial Group และกลุ่มธุรกิจการเงินของเกาหลีใต้ ที่น่าสนใจกลุ่มนี้มีฐานลูกค้าจากซิงเกอร์ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานจากสถาบันการเงินในระบบได้ ทำให้ JMART มีความพร้อมในการเข้าลงทุนในธุรกิจนี้ไม่น้อยกว่ารายอื่น ๆ

แต่จนถึงวันนี้ในยามที่เศรษฐกิจโตช้า ไม่รู้ว่าจะมีใครลงมาเล่นเกมนี้หรือไม่ รายที่ประกาศตัวก่อนหน้านี้จะเดินหน้าต่อหรือจะถอดใจ คงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

ส่วนไทม์ไลน์ Virtual Bank กระทรวงคลังและแบงก์ชาติคาดว่าภายในไตรมาสแรกปีนี้จะสามารถเปิดรับสมัครผู้สนใจขอใบอนุญาต ซึ่งเฟสแรกแบงก์ชาติจะเปิดให้เพียง 3 ใบอนุญาตเท่านั้น โดยหลังประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะมีเวลาเตรียมตัว 1 ปี ซึ่งคาดว่าจะเห็น Virtual Bank เริ่มเปิดดำเนินการในครึ่งแรกของปี 2569

เป้าหมายของ Virtual Bank จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือธุรกิจ SME ขนาดเล็ก ๆ ที่มีปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เช่น ธนาคารแบบดั้งเดิมไม่ยอมปล่อยกู้แบบไม่มีค้ำประกัน จนต้องไปพึ่งช่องทางการกู้ยืมเงินนอกระบบที่มีมากมายและกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้

ในการจัดตั้ง Virtual Bank นั้นกำหนดไว้ 3 รูปแบบ คือ 1.ตั้งบริษัทลูกแยกออกจากธนาคารพาณิชย์เดิม 2.ตั้งเป็นบริษัทลูกของ Non-Bank และ 3.การร่วมทุนระหว่างธุรกิจต่าง ๆ เช่น การร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์เดิมกับ Non-Bank หรือการร่วมทุนระหว่าง Non-Bank ต่างประเภทที่สามารถเสริมจุดแข็งระหว่างกันได้

ส่วนกระบวนการทำงานนั้นสามารถทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ โดยผู้ขอจัดตั้งจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเหมือนธนาคารพาณิชย์ทุกอย่าง เพื่อให้ดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน เบื้องต้นจะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท 

Virtual Bank จะไม่มีสาขาและตู้ ATM ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลทั้งกระบวนการ จะมีความยืดหยุ่นกว่าธนาคารรูปแบบเดิม สามารถออกนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภค จะช่วยลดต้นทุนทั้งพนักงาน อาคารสถานที่ที่ถือเป็นต้นทุนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ต้นทุนการให้บริการประชาชนได้ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิม ซึ่งจะจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

แต่ด้วยกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น กำหนดทุนจดทะเบียนที่สูงถึง 5,000 ล้านบาท และไม่จำกัดการขอใบอนุญาตของผู้ประกอบธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิม อีกทั้งจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 ราย เพราะมองว่าเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีในไทยมาก่อน 

กติกาที่จำกัดใบอนุญาตเพียง 3 รายนั้นย้อนแย้งกับเจตนารมณ์ของการจัดตั้งเพื่อขจัดปัญหาคนตัวเล็กตังน้อยเข้าถึงแหล่งทุน สะท้อนให้เห็นว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้จะไม่ทำให้เกิด “การแข่งขัน” ตามเจตนารมณ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการ และจะเหลือแค่ธนาคารแบบดั้งเดิมกับพันธมิตรที่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้นที่เข้าเกณฑ์ตามที่กำหนด 

ขณะที่แบงก์ชาติอ้างว่า Virtual Bank เป็นธุรกิจใหม่ที่ต้องเริ่มจากจำนวนไม่มากก่อน และไม่ต้องการให้มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นจนกระทบเสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อรายย่อยที่จะกระตุ้นให้คนก่อหนี้เกินตัวนั้น

ข้ออ้างเรื่องเสถียรภาพทางการเงินและการก่อหนี้เกินตัวก็ขัดกับสภาพความเป็นจริงทุกวันนี้ เพราะปัจจุบันการกู้เงินนอกระบบแพร่กระจายไปทั่วทุกหัวระแหง ความจริงการมีธนาคารไร้สาขามากย่อมทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยมีทางเลือกมากขึ้น และหากมีหลายรายย่อมมีการแข่งขันกันมากขึ้น ปัญหาอัตราดอกเบี้ยสูงก็จะคลี่คลาย

ย้อนเหตุผลในการตั้ง Virtual Bank เดิมต้องการให้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมเข้าถึงแหล่งเงินเข้าถึงแหล่งทุน แต่กติกาที่ออกมากลับไปจำกัดให้เฉพาะกลุ่มธนาคารเดิมและกลุ่มทุนใหญ่เท่านั้น 

สิ่งที่น่ากังวลอย่างมากคือการที่เปิดโอกาสให้กลุ่มธนาคารเดิม ๆ ได้ใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารเพิ่มนั้น แทบไม่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน เพราะ ธนาคารเดิมย่อมไม่ยอมให้ Virtual Bank ที่อยู่ในเครือข่ายหรือเป็นบริษัทลูก มาแย่งส่วนแบ่งแน่ ๆ แทนที่เป็นคู่แข่งก็กลายมาอยู่ใต้ร่วมเงาแบงก์เดิม 

อันที่จริงการที่ธนาคารมีการแข่งขันมากเท่าไหร่ ประโยชน์ก็จะเป็นของประชาชนและภาคธุรกิจแต่เห็นเค้าลางอย่างนี้ก็คงต้องทำใจ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เศรษฐกิจไทย หมดบุญเก่า

ทางออกจากวิกฤติต้อง … ปลดล็อก เศรษฐกิจนอกระบบ

เศรษฐา-เศรษฐพุฒิ ห่างไม่ได้ ใกล้ไม่ดี

Soft (No) power

“แลนด์บริดจ์” ฝันได้…ไปไม่ถึง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ