TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเวอร์ชวลแบงก์มา ดอกเบี้ยถูกลง

เวอร์ชวลแบงก์มา ดอกเบี้ยถูกลง

เวอร์ชวลแบงก์ (Virtual Bank) ซึ่งหมายถึง แบงก์เสมือน หรือแบงก์ไร้สาขา ธุรกรรมทำผ่านระบบดิจิทัล ไม่มีมีสาขาตามริมถนนย่านการค้า หรือ ในศูนย์การค้า ไม่มีตู้เอทีเอ็ม ให้บริการ 24 ชั่วโมง ฯลฯ เป็นหนึ่งในสิ่งที่อุบัติขึ้นในยุคเศรษฐกิจใหม่ หลายประเทศมีเวอร์ชวลแบงก์ให้บริการแล้ว และบ้านเรากำลังจะมี

ตามไทม์ไลน์สู่ เวอร์ชวลแบงก์ ที่แบงก์ชาติประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ระบุว่าระหว่างวันที่ 20 มีนาคม ถึง 30 กันยายน ปีนี้ แบงก์ชาติจะเปิดให้ กลุ่มผู้สนใจ ยื่นขอใบอนุญาต ต่อจากนั้นระหว่างเดือน ตุลาคมปีเดียวกัน ข้ามไปถึงวันที่ 31 มีนาคมปีหน้า (2568) แบงก์ชาติจะเริ่มพิจารณาใบสมัคร และราว ๆ กลางปีหน้าจะได้เห็นโฉมหน้าของผู้ที่ได้ใบอนุญาต เวอร์ชวลแบงก์ ชุดแรก ซึ่งแบงก์ชาติจำกัดเอาไว้แค่ 3 ใบเท่านั้น

แบงก์ชาติให้เหตุผลที่ไม่ให้ใบอนุญาตมากกว่านี้ เพราะจำนวน (แบงก์) ที่จะเพิ่มขึ้น เมื่อรวมกับแบงก์พาณิชย์ที่มีอยู่เดิมในระบบ 14 แห่ง ถือว่าเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ หากมากไปกว่านี้ระบบการเงินการธนาคารจะมีความเสี่ยงได้ (กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้อนุมัติใบอนุญาต บอกไม่จำกัดจำนวน ?)

การเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตทำ เวอร์ชวลแบงก์ ครั้งนี้ถือเป็น จุดเปลี่ยนสำคัญของ อุตสาหกรรมแบงก์ไทยในรอบศตวรรษเลยทีเดียวก็ว่าได้ เพราะเป็นครั้งแรกที่แบงก์ชาติ จะเพิ่มใบอนุญาตทำแบงก์พาณิชย์ พร้อมกันทีเดียว 3 ใน ในอดีตนับจากปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือกว่า 26 ปีล่วงมาแล้ว คลังอนุมัติ ใบอนุญาต ทำแบงก์พาณิชย์ เพียง 6 ใบเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็น ไฟแนนซ์ และอีกจำนวนหนึ่ง เป็นแบงก์เพื่อรายย่อย ที่ยกฐานะแป็นแบงก์พาณิชย์เต็มรูปแบบ ล่าสุดคืออนุญาตให้ ธนาคารไทยเครดิตเป็นแบงก์พาณิชย์เต็มรูปแบบได้ เมื่อปี 2566

แบงก์ชาติตั้งเป้าหมาย ต่อการเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ไว้ว่า ต้องการผู้บริการใหม่ ให้บริการใหม่ ๆ ที่จะเอื้อต่อการแข่งขัน เอื้อให้เกิดนวัตกรรม ลดต้นทุนบริการการเงิน เปิดทางให้รายย่อย เอสเอ็มแ เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น

“เราเน้นมาโดยตลอดเรามองหาคนที่ทำอะไรใหม่ ที่เป็นคียหลักของการเปิดให้มีเวอร์ชวลแบงก์ ผ่านบริการรูปแบบใหม่ ๆ“ สมชาย เลิศลาภาศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินแบงก์ชาติ (กรุงเทพธุรกิจ 8 มี.ค. 67)

สรุปว่าแบงก์ชาติปราถนาจะเห็น สิ่งแปลกใหม่เกิดขึ้นในวงการธนาคารชนิดหัวจรดเท้าไม่มีจุดไหนซ้ำกับใคร พร้อมกับคาดหวังค่อนข้างสูงว่า เวอร์ชวลแบงก์ ที่จะมาในอนาคตจะเป็นมิตรกับ คนตัวเล็ก (รายย่อย เอสเอ็มอี) มากขึ้น มากกว่าระบบแบงก์พาณิชย์ในปัจจุบัน

แม้เป้าหมายแบงก์ชาติดูสวยหรูและเป็นการขับเคลื่อนนโยบายที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ ที่คาดหวังว่า เวอร์ชวลแบงก์ จะช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงระบบแบงก์ระหว่าง รายย่อย กับ รายใหญ่ แต่ถ้าพิจารณาจากปัจจัยโดยรอบ ณ ตอนนี้แล้ว เชื่อว่าไม่ง่ายเลยที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว

เช่น ต้องการผู้บริการใหม่ ..ซึ่งน่าจะหมายถึงอยากเห็นกลุ่มธุรกิจอื่นๆเข้ามาทำเวอร์ชวลแบงก์ ไม่ใช่กลุ่ม แบงก์หน้าเดิม แต่ปรากฎว่ากลุ่มที่ฟอร์มทีมลงชิงใบอนุญาตเวอร์ชวลแบงก์ ล้วนดึงแบงก์เดิมเข้าร่วมด้วยทั้งสิ้น โดยคาดหวังว่าจะได้ ความชำนัญด้านการบริหารแบงก์บวกความน่าเชื่อถือให้กับทีม

อาทิกลุ่ม เอไอเอส (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) กัลฟ์ ( กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ) โออาร์ (บมจ.ปตท.น้ำมันและค้าปลีก) มีแบงก์กรุงไทยร่วมด้วย หรือ ล่าสุด อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ บริษัทแม่ของกลุ่ม ไทยพาณิชย์ ประกาศผนึกกำลังกับ WE BANK ดิจิทัลแถวหน้าของโลกจากจีน ลงสนามชิงสนามเวอร์ชวลแบงก์ และคาดว่าจะมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆที่ต้องเป็นระดับพี่เบิ้มด้วย เพราะแบงก์ชาติกำหนด ทุนจดทะเบียนเบื้องต้นไว้ 5,000 ล้านบาท

ดูแนวแล้วใบอนุญาต เวอร์ชวลแบงก์ทั้ง 3 ใบ แม้จะมีกลุ่มธูรกิจที่ไม่เคยทำแบงก์มาก่อน ร่วมด้วยแต่ทุกกลุ่มจะมีแบงก์เจ้าเก่าเป็นแกนเพื่อความเชื่อมั่นเพราะถ้า อยู่ๆบริษัทขายน้ำมัน ขายบริการด้านการสื่อสาร ขายน้ำมัน ขายสมาร์ทโฟน ฯลฯ มาทำแบงก์ชาวบ้านคงลังเลที่จะใช้บริการยิ่งธุรกรรมทำผ่าน หน้าจอ ระบบดิจิทัลไม่มีเอกสารให้สัมผัส ความน่าเชื่อ ความเชี่ยวชาญในธุรกิจการธนาคาร และข้อมูลที่บรรดาแบงก์พาณิชย์เดิมสะสมมาจึงมีประโยชน์และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการ แจ้งเกิดของ เวอร์ชวลแบงก์

อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือความคาดหวังที่ว่า ดอกเบี้ย (เงินกู้) เวอร์ชวลแบงก์ จะถูกกว่า แบงก์ในระบบปัจจุบัน ด้วยเหตุผล 2 ข้อคือ

หนึ่ง การแข่งขันเพิ่มขึ้นเมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่อย่างเวอร์ชวลแบงก์เข้า “เล่นด้วย” ตามหลักการ ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการแข่งขัน

สอง ต้นทุนต่ำกว่า จากการทำงานผ่านระบบดิจิทัลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีต้นทุน สาขา ตู้เอทีเอ็ม คนก็ใช้น้อยกว่า เพราะหุ่นยนต์จะทำหน้าที่รับเรื่องการทำธุรกรรม

ตัวอย่างที่พอเทียบเคียงได้ถึงประสิทธิภาพด้านต้นทุนจากระบบดิจิทัลคือ อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ สำหรับบัญชีที่ไม่มีสมุด จำพวก อีเซฟวิงกส์จะสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์แบบมีสมุดเพราะต้นทุนต่ำกว่า ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้มากที่ อัตราดอกเบี้ยจากเวอร์ชวลแบงก์จะถูกกว่า แบงก์ที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน

ความต่างระหว่าง ดอกเบี้ยของแบงก์ทั่วไป กับ เวอร์ชวล แบงก์ จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ชี้ขาดว่า แบงก์แห่งอนาคตที่จะมาในอีกปีเศษ ๆ ข้างหน้าจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคหรือไม่

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

หนี้ครัวเรือน … หนี้ชั่วนิรันดร์

เตรียมรับมือกับ “ความเสี่ยงใหม่”

เศรษฐกิจไทย ยังไม่วิกฤติ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ