TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกColumnistจีดีพีไตรมาสแรก แตะจุดต่ำสุดแล้ว  

จีดีพีไตรมาสแรก แตะจุดต่ำสุดแล้ว  

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 พ.ค. 67) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ แถลงเศรษฐกิจประจำไตรมาส 1 ว่า จีดีพีขยายตัว 1.5% หดตัวลงจากไตรมาสก่อนน้าที่ขยายตัว 1.7% เล็กน้อย แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์นิด ๆ แต่ยังเป็นไปตามคาด คือเศรษฐกิจบ้านเรายังโตน้อยกว่าสมาชิกร่วมประชาคมอาเซียน

มาดู จีดีพีไตรมาสแรกของเพื่อนบ้าน เวียดนามโต 5.6% จากแรงหนุนของส่งออกที่แข็งแกร่ง สิงคโปร์ที่เพิ่งรอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยโต 2.7% ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้า (2.2%) อินโดนิเซียโตเกินคาด 5.11% จากแรงหนุนจากเม็ดเงินที่สะพัดจากการเลือกตั้งและการจับจ่ายช่วงรอมฎอน

ด้าน ฟิลิปปินส์ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกอยู่ที่ 5.7% โตต่ำกว่าที่คาดการณ์ และมาเลเซีย 3.9% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 1 ปี สื่อรายงานว่า สะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งของ มาเลเซีย ยังคงดำเนินต่อไป  

เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ที่ทราบผลประกอบการ เศรษฐกิจไตรมาสแรกระหว่างดูงานด้านแฟชั่นอยู่ที่อิตาลี ร้อนรนกับจีดีพีไตรมาสแรกที่โตต่ำกว่าเพื่อนบ้านเป็นพิเศษ สั่งการข้ามทวีปให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ เข้าใจว่า จะเป็นนัดแรกของรัฐบาลเศรษฐาที่จะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ในวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม นี้

ความจริง เศรษฐกิจไตรมาสแรกไม่ถึงกับเลวร้าย แม้สภาพัฒน์จะปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จาก 2.2 – 3.2% ลงมาอยู่ระหว่าง 2-3% หากไปแกะดูคำแถลงของสภาพัฒน์ฯ จะพบว่า มีดัชนีเชิงบวกทำสถิติสูงสุดใหม่อยู่หลายตัว

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาฯสภาพัฒน์ แถลงว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีการบริโภคและท่องเที่ยวเป็นตัวชูโรงและการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 9.37 ล้านคน มากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 43.5% สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท

พร้อมบรรยายว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 6.9 ต่อเนื่องจากร้อยละ 7.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาคบริการด้านการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส

สถิติความเชื่อมั่นข้างต้น มาจากการใช้จ่ายในหมวดบริการที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 13.7 ตามการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรม และภัตตาคาร และกลุ่มบริการทางการเงิน ที่ขยายตัวร้อยละ 42.7 และ 8 ตามลำดับ ส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวด สินค้าไม่คงทน จำพวกอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงเชื้อเพลิง ขยายตัวสูงสุดในรอบ 45 ไตรมาส ส่วนสินค้ากึ่งคงทน อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจาก 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า

ส่วน สินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ การใช้จ่าย หมวดนี้ลดลงร้อยละ 6.8 ซึ่งถือว่าลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ไตรมาส สาเหตุหลักที่ทำให้การใช้จ่ายหมวดนี้หดตัว เป็นผลจากการใช้จ่ายเพื่อซื้อยาพาหนะลดลงร้อยละ 13.9 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ยาก ผนวกกับผู้บริโภคลังเลยังไม่ตัดสินใจว่าจะซื้อรถยนต์ตอนนี้ดีหรือดู ๆ ไปก่อน  เนื่องจากตลาดรถยนต์ปั่นป่วน หลังรถยนต์ไฟฟ้า อีวี ดาหน้าเข้ามาร่วมช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

แม้การใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าคงทนลดลง แต่ไม่สามารถฉุดความคึกคักในการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทน และกึ่งคงทนลงได้ ตรงนี้สะท้อนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 57.2 เพิ่มจาก 55.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส หรือนับจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 เลยทีเดียว

แต่ตัวเลขที่เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไตรมาสแรกคือ การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งตามภาษาของสภาพัฒน์บอกว่า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลงร้อย 2.1 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3 ในไตรมาสก่อนหน้า ในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณไตรมาสที่ผ่านมา หรือไตรมาส 2 ของงบประมาณปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 19.7 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 32.0  ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 23.4 ในไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า)

สภาพัฒน์ยังชี้ด้วยว่า ไตรมาสที่ผ่านมา การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 4.2 จากที่ลดลงร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนภาครัฐ ที่ลดลงต่อเนื่องมา 4 ไตรมาส โดยลดลงร้อยละ 27.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 20.1 ในไตรมาสก่อน

การลงทุนภาครัฐที่ลดลงต่อเนื่อง เป็นผลโยงจากการลงทุนรัฐบาลที่ลดลงร้อยละ 46.0 เนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ส่วนการลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 2.8 โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 6.4 และร้อยละ 17.7 ในไตรมาสก่อนหน้าและ ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ )

ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีร้อยละ 4.6 ต่อเนื่องจากร้อยละ 5 ในไตรมาสก่อนหน้าและเป็นการขยายติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 9 และการส่งออกมีมูลค่ารวม 69,692 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,504,009 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 1.0 แต่ถ้ามองจาก ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3

สรุปรวมแล้ว การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ที่มีผลกระทบโดยตรงกับการลงทุนภาครัฐ คือตัวฉุดที่ทำให้จีดีพีไตรมาสแรกที่ผ่านมาโตน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ในขณะที่ต้นทางที่มาจีดีพีส่วนอื่น ๆ นั้น เช่น ส่งออกไตรมาสแรก ติดลบ 2.5% ขาดดุลการค้า 158,014 ล้านบาท เป็นตัวร่วมหน่วงเศรษฐกิจ ยังดีที่ได้การบริโภคเอกชนยันเอาไว้ รวมทั้งการลงทุนเอกชนที่เป็นบวกเล็ก ๆ 

สำหรับช่วงที่เหลือของปี คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะดีกว่าไตรมาสแรก ด้วยเหตุผล 2 ข้อใหญ่ หนึ่ง ปัญหางบประมาณฯ ขาดตอนคงจะเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากงบประมาณฯ 2567 อนุมัติเป็นทางการแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นพลังดันในการลงทุนภาครํฐกลับมาเป็นหัวหอกนำเศรษฐกิจอีกครั้ง และ สอง ไตรมาสแรกที่ผ่านมาสำนักเศรษฐกิจหลายแห่งมองว่าเศรษฐกิจไทยได้ไหลลงสู่จุดต่ำสุดแล้ว 

แต่จังหวะการกระเด้งขึ้นของจีดีพีคงไม่ใช่คลื่นลูกใหญ่

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ผ่าแผน “ล้างหนี้” แห่งชาติ

รีวิวเศรษฐกิจ ส่งท้ายปี 2566

2567 สงครามฟรีวีซ่า ชิงนักท่องเที่ยว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ