TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกColumnistความท้าทายที่ 'พิชัย ชุณหวชิร' ขุนคลังคนใหม่ต้องเผชิญ

ความท้าทายที่ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ขุนคลังคนใหม่ต้องเผชิญ

การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคลังอย่างฉับพลันของ กฤษฎา จีนะวิจารณะ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการคลังมากที่สุดในคณะรัฐมนตรี ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่น้อย เพราะก่อนหน้า ปานปรีย์ พหิทธานุกร เพิ่งทิ้งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไปแบบไม่อาลัยอาวรณ์มาแล้ว

สื่อรายงานว่า การแบ่งงานใหม่หลัง พิชัย ชุณหวชิระ เข้ารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการคลัง ในรัฐบาลเศรษฐา 1/1 คือสาเหตุที่ทำให้กฤษฎาตัดสินใจโบกมือลาหลังคล้อยหลังรัฐบาลเศรษฐ 1/1 นับหนึ่งอย่างเป็นทางการได้แค่สัปดาห์เศษ ๆ เท่านั้น              

ตามข่าวระบุว่า อดีตปลัดกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้กำกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และรัฐวิสากิจในสังกัด อาทิ การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในช่วงที่นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ควบเก้าอี้ขุนคลัง กฤษฎาดูแลสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง กรมสรรพสามิต  ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์ ) ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ต่างจากกฤษฎาถูกลดบทบาท หรือถูกบีบทางอ้อมให้ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องกระทรวงการคลังมี รมช.ถึง 3 คน โดย 2 ใน 3 มาจาก พรรคเพื่อไทย

กรณีกฤษฎาลาออก ไม่เพียงส่งผลต่อความเชื่อมั่นในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล หากยังมีความเสี่ยงที่จะส่งผลข้างเคียงต่อความสัมพันธ์ระหว่างพรรค เพราะกฤษฎานั่งเก้าอี้ รมช.คลังในรัฐบาลเศรษฐา 1 ในโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รสทช.) หากความเสี่ยงตรงนี้ขยายตัว จะมีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลและสถานการณ์การเมืองในช่วงต่อไป  

และปฏิเสธไม่ได้ว่าจังหวะสะดุดเล็ก ๆ จากกรณีกฤษฎาลาออก กระทบเป้าหมายขับเคลื่อนที่พิชัยประกาศในวันเข้าทำงานเป็นทางการว่า…ตนจะใช้หน้าที่และความรับผิดชอบที่มีอยู่ในการสะสาง และจัดการปัญหาที่คิดว่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และดีต่อผลประโยชน์ของประเทศโดยตนจะทำอย่างสุดความสามารถ (7 พ.ค. 67) รวมไปถึงภารกิจเร่งด่วนที่ พิชัยต้องขับเคลื่อนตามโจทย์รัฐบาล

หากจัดอันดับ ตวามท้าทายที่รอพิชัยอยู่ข้างหน้า นอกจากเรียกความเชื่อมั่นหลังเกิดกรณีกฤษฎาลาออกแล้วมีอยู่ 5 เรื่อง

  • หนึ่ง คือ การสื่อสารกับแบงก์ชาติเพื่อลดความตรึงเครียด หลังการมองต่างมุมระหว่างวังบางขุนพรหมกับไทยคู่ฟ้า กรณีดอกเบี้ย รวมทั้งสมานแผลจากวาทะ อิสระแบงก์ชาติเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ของ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก
  • สอง ผลักดันนโยบายแจกเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต โดยเฉพาะประเด็นยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 172,300 ล้านบาท ที่มีทั้งประเด็นในแง่กฎหมาย และสภาพคล่องของธนาคารเพื่อเกษตรกรแห่งนี้    
  • สาม สะสางปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงทะลุเกณฑ์ โดยตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 16.8 ล้านล้านบาท หรือ ราว 91% ต่อจีดีพี ภาระหนี้ครัวเรือน คือหนึ่งในตัวหน่วงให้เศรษฐกิจขยับตัวได้ช้าลง    
  • สี่ การดูแลการก่อหนี้ไม่ให้กระทบการคลังจนสะเทือนถึง “ความน่าเชื่อถือ “ ของประเทศ 
  • ห้า ผลักดันให้เศรษฐกิจโตกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์เอาไว้ ในสภาวะที่การคลังมีข้อจำกัดจาก ภาระหนี้ที่พอกพูนขึ้นมา และภาคเศรษฐกิจมีแต่ท่องเที่ยว และการบริโภคที่ยังหนุนการขับเคลื่อนของจีดีพี

พิชัยถือเป็นหนึ่งในนักบริหารที่ใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตรมากที่สุดคนหนึ่ง โดยจุดเชื่อมที่สื่อยกมาอ้างถึงเสมอ ๆ คือช่วงพิชัยนั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงิน และบัญชี บมจ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในปี 2544 ปีที่รัฐบาลทักษิณแปรรูปปตท. เข้าตลาดหุ้น และการปรากฎชื่อพิชัยเป็น 1 ในพยาน ที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯและรมว.กลาโหม (ขณะนั้น) อ้างต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีจำนำข้าว เมื่อปี 2557       

ปูมหลังของพิชัย เติบโตในสายการเงินและถูกจดจำในฐานะเชี่ยวชาญด้านบัญชี โดยหลังลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าบริหารฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) บมจ.ปตท. ก่อนเกษียณอายุเพียง 2 เดือนในปี 2552 พิชัยอยู่ในตำแห่งประธานฯ หรือกรรมการขององค์กรต่าง ๆ เป็นหลัก อาทิ ประธานกรรมการ บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น และอีกหลายบริษัท เคยเป็นกรรมการแบงก์ชาติ ช่วงปี 2557-2560 ได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษานายกฯเศรษฐา รวมทั้งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก่อนลาออกมารับตำแหน่ง รองนายกฯและรมว.คลัง รัฐบาลเศรษฐา 1/1 ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในชีวิตการทำงานของนักบริหารวัย 75 ปีคนนี้

ประสบการณ์ของพิชัย ในส่วนที่ถือว่า “แปลก” กว่า รัฐมนตรีคลังที่ผ่านมาคือ นายกสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย ซึ่งประสบการณ์ส่วนนี้อาจทำให้ พิชัย มีมุมมองในการ สร้างบรรยากาศในการสื่อสารกับแบงก์ชาติ เพื่อหาจุดร่วมกับแบงก์ชาติได้ดีกว่าการแทรกแซงด้วยวาจา ที่รัฐมนตรีคลังคนก่อนนำมาใช้แบบรัว ๆ มาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

หากพิชัยสามารถจูนคลื่นความคิดกับแบงก์ชาติได้ ความท้าทายอื่นไม่ใช่เรื่องยากแล้ว

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

จุดชี้เป็นชี้ตาย ‘โครงการแลนด์บริดจ์’

เก็บภาษีสินค้านำเข้า… สกัดจีนตีตลาดไทย ไม่ง่าย

สำรวจพยากรณ์เศรษฐกิจล่าสุด ฟื้นตัวตามสภาพ…

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ