TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistสำรวจพยากรณ์เศรษฐกิจล่าสุด ฟื้นตัวตามสภาพ...

สำรวจพยากรณ์เศรษฐกิจล่าสุด ฟื้นตัวตามสภาพ…

เดือนกุมภาพันธ์ของทุก ๆ ปี สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจจะรอตัวเลขจากสภาพัฒน์ฯ ว่าจะสรุปภาพรวมเศรษฐกิจปี 2566 และแนวโน้มปีนี้อย่างไร เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการพยากรณ์ในช่วงต่อจากนี้ไป  

วันจันทร์ที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา ดนุชา พิชยนันท์ เลขาฯสภาพัฒน์แถลงว่า เศรษฐกิจปี 2566 ขยายตัวแค่ 1.9% จากเดิมที่ลุ้นกันตอนต้นปีที่แล้วว่าน่าจะโตได้มากกว่า 3% พร้อมกับประกาศปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ (ครั้งที่ 1) ลงมาอยู่ที่ 2.2 -3.2% เฉลี่ย 2.7% จากเดิมที่ขึ้นป้ายเอาไว้ที่ 2.7-3.7%

กับแนวโน้มปีนี้ เลขาสภาพัฒน์ฉายภาพประกบระหว่างโอกาสกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจปีนี้ว่า การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 2.9% ดีกว่าปีก่อนหน้า การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดี 3.5% การอุปโภค บริโภคในประเทศโต 3% ผลจากเงินเฟ้อที่ทรง ๆ ในระดับต่ำ บวกกับการว่างงานที่ลดลงคือโอกาสที่จะหนุนให้เศรษฐกิจปีนี้โต

ในส่วนของความเสี่ยงมีอยู่  4 ประเด็นที่ควรระวัง  

หนึ่ง งบประมาณฯ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ล่าช้า (ปกติต้องเริ่ม ต.ค. 66 แต่งบฯ 2567 คาดว่าจะเลื่อนไปถึง พ.ค. 67 หรือช้าไปราว 8 เดือน ซึ่งเป็นผลจากช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองและรัฐบาลเศรษฐารื้อร่างงบฯที่รัฐบาลประยุทธ์ทำเอาไว้ ) และพื้นที่การคลังเหลือจำกัด ( คล้ายกับเราใช้วงเงินบัตรเครดิตเกือบเต็ม) ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความเสี่ยงระยะต่อไป

ประเด็นถัดมา สอง …หนี้ภาคครัวเรือนสูงมาก (ณ ก.ย. 66 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16.22 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ของจีดีพี ข้อมูลแบงก์ชาติสาม ภัยแล้งจากภาวะ เอลนีโญ จะส่งผลต่อผลิตผลภาคเกษตร และ สี่ ผลจากเศรษฐกิจและการเงินโลกผันผวน เมื่อเอาโอกาสกับความเสี่ยงมาหักกลบลบกันแล้ว สภาพัฒน์ จึงปรับลดคาดการณ์ จีดีพี ปีนี้ใหม่ ลดเหลือ 2.7% ตามที่กล่าวข้างต้น

“ปีนี้ เรามองว่าแม้การส่งออกจะเติบโตได้ดี แต่ในระยะถัดไป ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังไม่แน่นอนว่าจะมีอะไรตามมา ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ยังมีปัญหาภายใน ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกไทยได้ ในขณะที่เศรษฐกิจในประเทศเอง ยังเติบโตได้ดี” ดนุชา ระบุตอนหนึ่งระหว่างแถลงวันนั้น

หลังสภาพัฒน์แถลงไม่กี่วัน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลว่าดอกเบี้ยตอนไหนควรจะขึ้น ลง หรือทรง เพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น และมีเสถียรภาพเป็นสำคัญ ได้เผยแพร่บทสรุปของการประชุมกนง.ครั้งล่าสุด (7 ก.พ. 67) ที่คณะกรรมการเสียงข้างมาก มีมติ คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5%  

พร้อมกันนั้นปรับคาดการณ์ จีดีพี ปีนี้ลงมาอยู่ 2.5-3% โดยกนง. มองว่า เศรษฐกิจปี้นี้จะได้ท่องเที่ยวเป็นเสาหลัก (ททท.ตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคน) ส่วนภาคส่งออกแม้ฟื้นตัว แต่เป็นจะเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากตลาดโลกชะลอและยังมีผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย

ต่อจากนั้น สำนักพยากรณ์ประจำแบงก์ต่างทยอยออกมาประกาศปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ใหม่กันถ้วนหน้า อาทิ  

กสิกรไทย ปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.7% จากเดิม 3.1% โดยระบุว่างบประมาณ 2567 ที่ล่าช้า ทำให้การลงทุนภาครัฐทำได้ไม่เต็มที่ มีผลต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผูกโยงมาถึงการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง 

 กรุงไทย คอมพาส ปรับลงมาเหลือ 2.7% พร้อมระบุด้วยว่า เศรษฐกิจปีนี้ฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ประเมินเศรษฐกิจปี 2567 ว่ามีแนวโน้มขยายตัว 2.6% ดีกว่าปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.9% แต่เป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างเชื่องช้าและยังมีความเสี่ยงรอบด้าน

เคเคพี รีเสิร์ช หั่นจีดีพีลงมาเหลือ 2.6% จากเดิมคาดเอาไว้ 3.7% โดยอ้างถึงตัวเลขสินค้าคงคลังที่อยู่กว่าระดับปกติ และความสามารถในการผลิจที่ลดลง รวมถึงการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวต่อคนลดลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิดในปี 2563

ส่วน สำนักวิจัยแบงก์กรุงศรี ขยับคาดการณ์ลงมาอยู่ 2.7% และคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นหลังงบประมาณฯ 2567 มีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยการคาดการณ์ของสำนักต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นไม่รวมแจกดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท เพราะโครงการยังไม่นิ่ง

สรุปโดยภาพรวมเศรษฐกิจปีที่แล้ว 2566 โต 1.9% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่สำนักพยากรณ์มองว่าอาจจะขยายตัวได้มากกว่า 3% แบงก์ชาติวินิจฉัยว่า อาการเศรษฐกิจดังกล่าวว่า เป็นผลจากการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงและไม่สมดุล นัยหนึ่งคือฟื้นตัวตามสภาพ ไม่ถึงกับซึมแต่ห่างไกลจากความคึกคัก 

ส่วนเศรษฐกิจปีนี้จะตกอยู่ในสภาพเดียวกับปีที่แล้วหรือไม่? คือออกตัวแรงแต่แผ่วปลาย หลังไตรมาสแรกคงพอจะเห็นเค้าของเศรษฐกิจว่าจะไปทางไหน อย่างไร

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เข้าเกียร์ห้า ดันเศรษฐกิจระวังทางโค้งด้วย

“อนาคตเศรษฐกิจ” และ ‘โฉมหน้าสงครามกาซา’ ที่ยากคาดเดา

เตรียมรับมือกับ “ความเสี่ยงใหม่”

                                                             

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ