TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเข้าเกียร์ห้า ดันเศรษฐกิจระวังทางโค้งด้วย

เข้าเกียร์ห้า ดันเศรษฐกิจระวังทางโค้งด้วย

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนเป็นเจ้าภาพระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมสัมมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 ( UNGA78 )ที่ นิวยอรก์ สหรัฐ ฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ตอนหนึ่งได้กล่าวถึง นโยบายบายดันเศรษฐกิจเข้าสู่เกียร์สูง โดยยกตัวอย่างนโยบายของรัฐบาลขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วยตัวเด่น ๆ อย่าง ดิจิทัลวอลเล็ต บล็อกเชน ตามด้วย การบริโภคที่ควบคู่กับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเติบโตอย่างยั่งยืนครอบคลุมเศรษฐกิจสีเขียว ถัดมา การสร้างไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรม ที่ครอบคลุมและบูรณาการสำหรับลูกหลานในอนาคต อาทิ การเปิดตลาดใหม่ เร่งเดินหน้า เอฟทีเอ (เขตการค้าเสรี) และสร้างบรรยากาศที่น่าลงทุน พร้อมกับหยอดทิ้งท้ายด้วยทักษะของอดีตพ่อค้าคอนโดมีเนียมว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนจะเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย

สรุปรวมความได้ว่า นายกฯเศรษฐา ประกาศจะเข้าเกียร์ห้าดันเศรษฐกิจด้วยการ กระตุ้นการบริโภคขนานใหญ่ด้วยการแจกเงินดิจทัลคนละหมื่น ๆรวมทั้งประเทศ 650,000 ล้านบาท ทุบสถิติการแจกทุกรัฐบาล ควบคู่ไปกับการดึงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทนุในไทย อย่างที่เคยกล่าวไว้ว่า หนึ่งในจุดอ่อนด้านเศรษฐกิจของไทยคือการลงทุนของภาคเอกชนโดน้อย พร้อมกันนั้น ยังได้กล่าวถึงเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งเป็นวาระสากลที่ผู้นำทุกประเทศต้องกล่าวถึง หาไม่แล้วจะถูกมองว่าไม่อินเทรนด์

รัฐบาลเชื่อมั่นมาก ๆ ว่าการอัดนโยบาย ทั้งกระตุ้นการบริโภค เร่งดึงดูดการลงทุนเข้ามาก ๆ รวมทั้งการเปิดเสรีให้ นักท่องเที่ยวจีนและอุเบกิสถานเข้าไทยได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า (ฟรีวีซ่า) ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา ยาวไปถึง 28 กุมภาพันธ์ ปีหน้า ที่นายกฯเศรษฐาให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ จะมั่นใจว่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ปีหน้าและปีต่อ ๆ ไปเติบโตได้ถึง 5% ซึ่งถือเป็นระดับศักยภาพ

เวลานี้สำนักต่าง ๆ เตรียมรอชมการเข้าเกียร์ห้าดันเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะออกมาอย่างไร จะแรงจริง หรือโฆษณาเกินจริง เพื่อจะได้ประเมินประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีนี้และปีหน้ากันใหม่ โดยภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ที่เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว สำนักต่าง ๆ ได้ปรับคาดการณ์ลงมาอยู่ระหว่าง 2.5-3% โดยเฉลี่ย หลังภาคส่งออกชะลอตัวต่อเนื่องมาเกือบปีเพิ่งกระดิกขึ้นมาบวกเล็กน้อย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7%   

แม้การประกาศเข้าเกียร์ห้าดันเศรษฐกิจของนายกฯเศรษฐาชวนให้ฝันถึงเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน แต่อีกด้านยังมีประเด็นให้พิจารณาอยู่ 3 ประเด็น หนึ่ง คือจำเป็นหรือไม่ที่ต้องอัดฉีดเศรษฐกิจด้วยงบประมาณมหาศาลเช่นนี้ สอง ทำแล้วเศรษฐกิจจะโตถึงเป้า 5% หรือไม่ ? และ สาม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผลลัพธ์ที่ได้ กับภาระที่ตามมา จะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่?

มาไล่เรียงดูทีละประเด็น ๆ แรก จำเป็นหรือไม่ที่ต้องอัดฉีดเศรษฐกิจด้วยงบประมาณมหาศาลเช่นนี้ หากดูสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันถือว่า ยังโอเค …ห่างไกลจากวิกฤติ และไม่ได้อยู่ในความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอย เหมือนที่นายกฯเศรษฐาแถลงนโยบายต่อสภา (11 ก.ย. 66) ถึงสาเหตุที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ (แบบบิ๊กบึ้ม) เพราะเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดมากกว่าประเทศอื่น “ ..จนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย … “ 

ตัวเลขที่สำนักต่าง ๆ ประเมินล่าสุดคือ GDP ปีนี้ หรือปี 2566 จะเติบโตระหว่าง 2.5- 3% ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น  แบงก์ชาติ และสำนักงานสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยืนยันว่า เศรษฐกิจยังอยู่ในทรงฟื้นตัว ไม่ใช่ถดถอย อาการทางเศรษฐกิจเวลานี้คือ โตต่ำกว่าคาดการณ์ ฉะนั้นการอัดงบก้อนมหึมาสัดส่วนใกล้เคียงกับงบลงทุนประจำปี จึงถือว่าเกินความจำเป็น หากนำเกลี่ยไปหนุนงบลงทุนน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

ประเด็นที่สอง ทำแล้วเศรษฐกิจจะโตถึงเป้า 5 % หรือไม่ .. พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ว่าจะดันให้จีดีพีตั้งแต่ปีหน้าเติบโต 5% เมื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เป้าหมาย GDP 5% จึงเป็นพันธกิจที่รัฐบาลเศรษฐาต้องทำให้ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สูงกว่าที่สำนักต่างคาดการณ์ เช่น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจแบงก์ไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจปี 2567 จะเติบโต 3.5% โดยมีแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทยปีหน้าไม่ต่ำกว่า 37.7 ล้านคน แต่รัฐบาลเชื่อว่า เมื่ออัดเงินดิจิทัลเข้าไปในระบบ 650,000 ล้านบาท เงินจะถูกส่งต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง และต่อเป็นทอดไปเรื่อยจนดัน GDP บรรลุเป้าหมาย เมื่อผนวกับแรงเสริมอื่น ๆ เช่น ท่องเที่ยว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลัง ให้สัมภาษณ์เรื่องเงินดิจิทัลว่า การใช้เงินดิจิทัลในชุมชนจะช่วยดันเศรษฐกิจให้โตขึ้น 1-2% และปี 2567 เศรษฐกิจจะโต 5% ตัวเลขดังกล่าวคงประเมินอย่างสมบูรณ์แบบ คือเมื่อแจกเงิน ดิจิทัลไปแล้ว เงินจะหมุนเข้าไปในระบบสองสามรอบ แต่ในทางปฏิบัติคงคาดเดายากว่าเงินจะหมุนกี่รอบ หรือ หมุนไปซื้อบรรดาของ “ต้องมี “อาทิ สมาร์ทโฟนที่ทำให้เงินไหลออกไปหมุนที่ต่างประเทศ  ไม่ได้หมุนกลับมาช่วยดัน GDP ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

และประเด็นที่สาม เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ผลผลัพธ์ที่ได้ กับ ภาระที่ตามมา คุ้มกับการลงทุนหรือไม่ ? …ประเด็นนี้คงขึ้นอยู่กับว่า เมื่ออัดเงินดิจิทัลเข้าไปแล้วจะเกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจนสามารถเหวี่ยงให้เศรษฐกิจโตถึง 5% จริงหรือไม่ ? หากเป็นไปตามแผนก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเศรษฐกิจโตจะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีโตตาม แต่ถ้าไม่การแจกเงินดิจิทัลด้วยงบประมาณมหาศาลก็จะเพิ่มภาระการคลังของประเทศให้มากยิ่งขึ้น 

ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่สามารถให้คำตอบสังคมได้ว่า การแจกเงินดิจิทัล 650,000 ล้านบาท นั้นจะเอางบประมาณมาจากไหน? แต่การที่นายกฯเศรษฐาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคาะให้สำนักงบประมาณถ่างวงเงินงบประมาณปีหน้า 2567 จาก 3.35 ล้านล้านบาท เป็น 3.48 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 130,000 ล้านบาท ทำให้ตัวเลขงบขาดดุลเพิ่มจาก 593,000 ล้านบาท เป็น 693,000 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดิมวางไว้ 2.757 ล้านล้านบาท เป็น 2,787 ล้านล้านบาท 

การขยายตัวเลขงบประมาณฯปีหน้า และถ่างตัวเลขขาดดุลให้กว้างออกไป เท่ากับว่าภาระการคลังเพิ่มขึ้น และทำให้การคลังของเรา ดูไม่ดีมีความเสี่ยงเพิ่ม หากนโยบายแจกเงินดิจิทัลไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลฝันและรัฐบาลไม่มีแผนชัดเจนกับการบริหารการคลัง

ความเสี่ยงทางการคลังนั้นไม่ต่างจากทางโค้งหากมุ่งแต่เข้าเกียร์ห้าทางเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงฐานะการคลังที่แท้จริง ก็เหมือนกับขับรถเข้าโค้งหักศอกโดยไม่ผ่อนคันเร่งและไม่คิดจะแตะเบรกละครับ

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

อาร์เจนตินา กระจกสะท้อน ประชานิยมไทย

จับตา ‘เศรษฐกิจ’ ก่อนและหลัง การเลือกตั้ง

“ทุน”​ ถอยตั้งหลัก คอย “ตั้งรัฐบาลใหม่” ชัดเจน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ