TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"ทุน"​ ถอยตั้งหลัก คอย “ตั้งรัฐบาลใหม่” ชัดเจน

“ทุน”​ ถอยตั้งหลัก คอย “ตั้งรัฐบาลใหม่” ชัดเจน

แม้ความพยายามจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกลคืบหน้าถึงขั้นลงนามเอ็มโอยู กับ 7 พรรคร่วมรวม 313 เสียง พร้อมเลี่ยงไม่ระบุถึงมาตรา 112 ไว้ในสัญญาการเมืองฉบับดังกล่าว

หากการก้าวขึ้นสู่เก้านี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังมีคลื่นความไม่แน่นอนรออยู่อีกหลายระลอก โดยเฉพาะต้องหาเสียงสนับสนุนอีกไม่น้อยกว่า 60 เสียง เพื่อให้มีเสียงเกินครึ่งหรือ 376 เสียง จาก 750 เสียงในสภาฯ  

ขณะที่ว่าที่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน อาทิ ภูมิใจไทย ร่วมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนาและวุฒิสมาชิก (สว.) จำนวนหนึ่งยืนยันออกสื่อแล้วว่าจะไม่โหวตให้พิธาเป็นนายกฯ

ความไม่แน่นอนที่เริ่มต้นหลังการเลือกตั้งตรงนี้เองที่ทำให้เงินทุนต่างประเทศที่ธรรมชาติอ่อนไหวกับเรื่องที่คาดการณ์ยากถอยฉากจากเมืองไทยแบบฉับพลันออกไปตั้งหลักเพื่อคอยจนกว่าสถานการณ์การเมืองไทยพอจะคาดเดาได้จะเป็นอย่างไร และจะไปต่ออย่างไร จากนั้นค่อยว่ากันอีกทีว่าจะหวนกลับมาหาผลตอบแทนในตลาดเงินไทยช่วงไหน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปให้เห็นภาพว่าระหว่างวันที่ 15-19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา หรือหนึ่งสัปดาห์หลังวันเลือกตั้ง ต่างชาติขายหุ้นสุทธิมูลค่า 10,679 ล้านบาท และ ขายพันธบัตรสุทธิ 17,671 ล้านบาท รวมสองส่วนนี้มากกว่า 28,000 ล้านบาท โดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยระบุว่า กองทุนต่างชาติได้เทขายสุทธิตราสารหนี้ไทยราว 16,000 ล้านบาท เมื่อวันพุธ (17 พ..) ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 หรือในรอบ 6 ปี

ขณะที่ตลาดหุ้นในสัปดาห์เดียวกัน ดัชนีหุ้นทรุดลง 4 วันทำการ โดยวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม ดัชนีตลาดหุ้นไหลลงมาปิดที่ 1,514.89 จุด ลดลง 11.80 จุดซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี โดยนักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิรวมกันมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท นักวิเคราะห์ระบุว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองว่าจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่คือปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุน   

แม้สัปดาห์ที่เพิ่งผ่านมา ตลาดหุ้นกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย หลังพรรคก้าวไกลขึ้นเวทีกับ 7 พรรคพันธมิตรทำเอ็มโอยูตั้งรัฐบาล และโบรกเกอร์นอกเชียร์ให้ซื้อหุ้นไทยเนื่องจากราคาหุ้นไหลลงมาต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นในภูมิภาค แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังลังเล เพราะกังวลว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลอาจจะจัดตั้งได้หรือไม่ ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องหาเสียงสนับสนุนในสภาให้ได้ 376 เสียง ซึ่งถึงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาอ้างว่าขาดอยู่ราว 60 คนตามรายงานของสื่อบางสำนัก      

เชื่อว่า อาการลังเลของนักลงทุนจาก ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะลากยาวไปถึงวันที่ 3 สิงหาคม วันเลือกนากยกรัฐมนตรีคนที่ 30 หรือราว 2 เดือนเศษ เป็นอย่างน้อย 

ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กางไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไว้ตามนี้ว่า 

วันที่ 13 กรกฎาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้ง

วันที่ 20 กรกฎาคม วันสุดท้ายที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) รายงานตัว

วันที่ 24 กรกฎาคม พิธีเปิดประชุมรัฐสภา

วันที่ 25 กรกฎาคม เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 26 กรกฎาคม โปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานสภาฯ 

วันที่ 3 สิงหาคม เลือกนายกรัฐมนตรี

วันที่ 10 สิงหาคม ตั้งคณะรัฐมนตรี

วันที่ 11 สิงหาคม คณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณ พร้อมกับปิดฉากรัฐบาลประยุทธ์อย่างเป็นทางการ 

ตามไทม์ไลน์ข้างต้น หากมองจากเหตุการณ์ปัจจุบัน ความไม่แน่นอนทางการเมืองกำลังสูงขึ้น ด้านหนึ่ง พรรคก้าวไกลต้องหาเสียงสนับสนุนจากสว. อีกไม่น้อยกว่า 60 เสียงตามที่กล่าวข้างต้น เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุน พิธาเป็นนายกฯ ในสภาเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าไม่ง่าย เพราะสว.ส่วนใหญ่ยังต้องการคำยืนยันจากพิธาว่าจะไม่แตะ มาตรา 112 

เมื่อ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สว. มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนพิธาเป็นนายกฯ ทนายวันชัย สอนศิริ หนึ่งในสว. บอกกับสื่อถึงผลการหารือว่าแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง หนึ่ง สว.ที่เลือกแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือก (พิธาเป็นนายกฯ) ซึ่งมีชื่อตามที่ปรากฎเป็นข่าว ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก สอง กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ และสาม กลุ่มที่จะรอไปตัดสินใจในวันโหวต (3 สิงหาคม )      

ขณะเดียวกัน ‘ก้าวไกล’ กับ ‘เพื่อไทย’ เริ่มขัดกันในหลายประเด็นโดยเฉพาะตำแหน่งประธานสภา ซึ่งมีหน้าที่ “นำชื่อกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” ที่ทางพรรคก้าวไกลยืนยันหนักแน่นว่าต้องเป็นโคตาของพรรคอันดับหนึ่งเท่านั้น โดยอ้างถึงธรรมเนียมปฎิบัติที่เคยเป็นมา ขณะที่พรรคครองเสียงอันดับสองอย่างเพื่อไทยก็หมายปองเช่นกัน   

หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม 2526 หลายฉบับจับประเด็นนี้มาเล่นข่าวใหญ่ เช่น ไทยรัฐ พาดหัวว่า  “ฉะกก.กินรวบขู่โหวตแข่ง/พท.แย่งชิงเก้าอี้ปธ.สภา” ส่วนมติชน พาดหัวว่า “2 พรรคเปิดศึกชิงปธซสภาเดือด/พท.ฮึ่มฟรีโหวต

ตามที่สถานการณ์ที่กล่าวมานั้นพอประเมินเบื้องต้นได้ว่า ช่วง 2 เดือนเศษโดยประมาณจากนี้ไปการเมืองจะถูกปกคลุมด้วยความไม่แน่นอน หรืออาจยกระดับเป็น ความอึมครึมจากข่าวปล่อย ที่ออกมาเป็นระยะ ๆ ในช่วงที่ผ่านมา แน่นอนว่าบรรยากาศเช่นนี้เงินทุนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเงินทุนนั้นขวัญอ่อนมีอะไรทำให้สะดุ้งนิดเดียวเทขายเป็นหมื่นล้านบาทแล้ว   

และสถานการณ์ยิ่งยากจะคาดเดาหากพิธาหัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนได้เกินกึ่งหนึ่งในวันประชุมสภาฯ เลือกนายกฯ แม้ดร.วิษณุยืนยันโหวตรอบแรกไม่ผ่านโหวตซ้ำได้อีกก็ตาม ภายใต้สภาวะเช่นนี้นักลงทุนคงเลือกกลยุทธ์ ‘คอย’ และ ‘ดู’ ไม่ผลีผลามให้เจ็บตัว

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

จับตา ‘เศรษฐกิจ’ ก่อนและหลัง การเลือกตั้ง

อาร์เจนตินา กระจกสะท้อน ประชานิยมไทย

ประชานิยมสุดขั้ว สร้างภาระการคลังระยะยาว

วิกฤติแบงก์ล้มครั้งต่อไปที่ …

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ