TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจับตา 'เศรษฐกิจ' ก่อนและหลัง การเลือกตั้ง

จับตา ‘เศรษฐกิจ’ ก่อนและหลัง การเลือกตั้ง

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ตั้งโต๊ะแถลงเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนเมษายนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 55.0 เพิ่มจาก 53.8 ในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับแต่เดือนมีนาคม 2563

วาทิตร รักษ์ธรรม ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์ ฯ ให้เหตุผลที่ดัชนีความเชื่อมั่น ฯ ทำนิวไฮในรอบกว่า 3 ปี หรือนับแต่เกิดวิกฤติโควิดว่า เพราะผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นหลังการท่องเที่ยวฟื้นตัว รวมถึงบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศส่งผลให้เงินสะพัดไปทั่วประเทศ

ตรงนี้ ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้า ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์ฯ แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ช่วงหาเสียงที่ผ่านมามีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 50,000 – 60,000 ล้านบาท เฉพาะโค้งสุดท้าย ประเมินว่าแต่ละพรรคอัดเม็ดเงินเพิ่มเติมเข้าไปอีกไม่น้อยกว่า 20,000 -30,000 ล้านบาท  เข้าใจตัวเลขนี้เฉพาะการใช้จ่ายที่เป็นทางการ

ตามข้อมูลของศูนย์พยากรณ์ฯ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ซึ่งเปรียบเหมือนเครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจสะท้อนความคิดเห็นของผู้คนต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมไปถึงฐานะการเงินในกระเป๋า เริ่มขยับมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โดยขึ้นมาอยู่ที่ 41.6 ในเดือนนั้น ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนหลังหดตัวมาตลอดในช่วงภัยโควิดคุกคาม  

การขยับขึ้นของดัชนีผู้บริโภคฯ หลังหดตัวมาหลายปี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากการที่รัฐบาลเริ่มนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565  

และการท่องเที่ยวฯ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับสูงขึ้นทำ นิวไฮ ต่อเนื่องตั้งแต่บัดนั้นจนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่าชาวบ้านเริ่มรู้สึกถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมาระยะหนึ่งแล้ว     

ผลของการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแห่มาไทยมากกว่า 11 ล้านคน ทะลุเป้า 10 ล้านคน ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งเอาไว้ ส่วนปีนี้แค่ 4 เดือนแรก (ม.ค. – เม.ย. 66) นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 8.5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 3.5 แสนล้านบาท และคาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยใกล้ 30 ล้านตน

นอกจากนี้ “รายได้จากการท่องเที่ยว” ยังช่วยรักษาระดับการฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงที่ภาคส่งออก หนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวให้ฟื้นตัวต่อเนื่องไปได้ 

ช่วงไตรมาสแรก (ม..-มี.ค. 2566) ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์รายงานการส่งออกมีมูลค่ารวม 70,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5% การนำเข้ามีมูลค่า 73,324 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 0.5% ขาดดุลการค้า 3,044 ล้านดอลลาร์ แต่ถึงแม้โค้งแรกส่งออกติดลบแต่กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่ายังมีลุ้นที่จะผลักให้ส่งออกปีนี้โต 1-2% จากเดิมที่เสียว ๆ ว่าจะติดลบ

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัว 3.6% (เดิม 3.8%) จากแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยวตามที่กล่าวถึงข้างต้น แม้ตัวเลขคาดการณ์ถูกปรับลดลง แต่ดูโดยรวมถือว่าไม่เลว เมื่อมองสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในหลาย ๆ ด้านประกอบ    

ก่อนหน้านี้ธนาคารโลกออกมาประกาศปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลงเหลือ 1.7% (เดิม 3%) โดยอ้างภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคเป็นต้นเหตุ

ส่วนหลังการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จะสามารถดันให้เศรษฐขยายตัวไปมากกว่าตัวคาดการณ์ล่าสุดตามที่ “แคนดิเดท” หลายพรรคคุยโวเอาไว้ช่วงหาเสียงหรือไม่ ? ตอบได้เลยว่า คงไม่ใช่เรื่องง่าย  

เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว หากหวังจะพึ่งการกระตุ้นการบริโภคผ่านนโยบายประชานิยมที่บรรดาพรรคตัวเก็งทั้งหลายประกาศว่าจะทำทันที อาทิ   แจกเงิน ลดค่าไฟ น้ำมัน ฯลฯ ด้วยการก่อหนี้เพิ่มเอาเงินมาขับเคลื่อนนโยบาย

แม้ในทางเทคนิคกระทรวงการคลังบอกว่าฐานะการคลังยังสามารถกู้เพิ่มได้อีก 15 ล้านล้านบาท จึงจะชนเพดานก่อหนี้ไม่เกิน 70% ของจีดีพี แต่ในความเป็นจริงแล้วคงไม่สามารถกู้ได้เต็มแม็กขนาดนั้น ยังไงต้องเหลือพื้นที่การคลังไว้เผื่อสถานการณ์ฉุกเฉินบ้าง 

และในทางกลับกัน เศรษฐกิจปีนี้มีสิทธิแป้กโตต่ำกว่าคาดการณ์ได้เช่นกันถ้าการเมืองไร้เสถียรภาพ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

อาร์เจนตินา กระจกสะท้อน ประชานิยมไทย

ประชานิยมสุดขั้ว สร้างภาระการคลังระยะยาว

วิกฤติแบงก์ล้มครั้งต่อไปที่ …

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ