TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistอาร์เจนตินา กระจกสะท้อน ประชานิยมไทย

อาร์เจนตินา กระจกสะท้อน ประชานิยมไทย

ดูนโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองทั้งหลายนำมาหาเสียงช่วงชิงคะแนนเสียงเวลานี้แล้วนึกถึงข่าว ๆ หนึ่งจากอาร์เจนตินา 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบรายปีของอาร์เจนตินาพุ่งขึ้นสู่ระดับ 104.3% ในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมานำนิวไฮในรอบ 34 ปี และนับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงระดับแถวหน้าของโลก เป็นรองแค่เวเนซุเอลา และซิมบับเว ที่เงินเฟ้อราว 200% และ 190% ตามลำดับเท่านั้น 

ผลที่คาดว่าจะตามมาคือ ธนาคารกลางอาร์เจนตินาอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก หลังขยับขึ้นมายืนที่ 75% เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว อัตราเงินเฟ้อ และดอกเบี้ย ซึ่งมีผลผูกโยงไปถึงค่าเงินอำนาจซื้อที่หายไปจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นทุกวัน และความยากจนที่เพิ่มขึ้น น่าสงสัยว่า ชาวอาร์เจนตินาเขาอยู่กันยังไงในสภาวะเศรษฐกิจที่อลหม่านเช่นนี้  

อาร์เจนตินาเผชิญกับวิกฤติเงินเฟ้อหนักหน่วงขึ้นหลังสงครามยูเครนปะทุเมื่อต้นปีที่แล้ว ส่งผลให้ราคาพลังงานทะยานตามขึ้นพร้อม ๆ กับตัวเลขเงินเฟ้อที่เฟ้อไปทั่วโลก ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจซับซ้อนหนักขึ้นไปอีก เพราะก่อนหน้านี้อาร์เจนตินาผิดนัดชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตามข้อตกลงกู้เงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 1.89 ล้านล้านบาท มาพยุงเศรษฐกิจเมื่อปี 2561 จนต้องปรับโครงสร้างหนี้กับไอเอ็มเอฟเมื่อปีที่แล้ว   

ไอเอ็มเอฟได้เปลี่ยนเป็นการสนับสนุนมาจ่ายเป็นงวดในระยะ 30 เดือนแทนข้อตกลงเดิม ตามข้อตกลงใหม่นั้น อาร์เจนตินาต้องชำระหนี้ระหว่างปี 2569-2577 รวมทั้งมีเงื่อนไขอื่น ๆ อาทิ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยลบเงินเฟ้อ) ต้องเป็นบวก

ครั้งหนึ่ง อาร์เจนตินาถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีอนาคตไกล ก่อนพลิกผันมาเป็นประเทศมีปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังมานับทศวรรษ  โดย นโยบายประชานิยมลงหลักปักฐานในอาร์เจนตินา ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือยุคของอดีตประธานาธิบดี 3 สมัย ฮวน เปโรน กับภรรยา เอวีตา เปโรน ที่ออกนโยบายสร้างความนิยมให้ตัวเอง อาทิ เพิ่มเงินเดือนทหาร ส่งเสริมโครงการสวัสดิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญ พอใช้จ่ายหนักเข้าเรื่มมีปัญหาด้านการคลัง และสำรองระหว่างประเทศ ก็เริ่มขอกู้ไอเอ็มเอฟ เมื่อถูกปฏิเสธก็พิมพ์แบงก์ใช้เอง ในที่สุดระบบเศรษฐกิจพัง และประเทศล้มละลาย

ฮวน และ เอวิตา เปโรน จากไปนานแล้ว แต่แนวคิดประชานิยมทางการเมืองยังอยู่ และถูกนำมาใช้ต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา  

นักวิชาการท่านหนึ่งบอกว่า พรรคการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศในช่วงต่อมา ส่วนใหญ่นำแนวคิดประชานิยม-เปโรนมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น ดูแลสวัสดิการ จนชาวอาร์เจนตินา (ส่วนใหญ่) เสพประชานิยม และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ อาร์เจนตินา เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังมาจนบัดนี้

กรณีอาร์เจนตินา เปรียบเหมือนกระจกที่สะท้อนถึงความเสี่ยงจาก โยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองนำมาใช้หาเสียงกันอยู่เวลานี้ได้ดี

สัปดาห์ที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่าง ๆ ส่งรายละเอียด การใช้และที่มาของเงิน ที่จะมาใช้ตามนโยบายที่หาเสียงให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พอสรุปโดยสังเขปให้เห็นภาพได้ตามนี้

  • พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายประชานิยมสุดขั้ว แจกเงินดิจิทัลหัวละ 10,000 บาทประมาณ 54 ล้านคน ได้แจงรายละเอียด กับกกต. โดยสรุปว่าโครงการนี้ใช้เงิน 650,000 ล้านบาท โดยใช้เงินจากงบประมาณฯปี 2567 ที่คาดว่ารายได้เพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท ภาษีที่คาดว่าจะได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 1 แสนล้านบาท การบริหารจัดการงบประมาณ 1.3 แสนล้านบาท บริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อนอีก 9 หมื่นล้านบาท และรวมทั้ง 70 นโยบาย ใช้เงินรวม   3 ล้านล้านบาท โดยใช้เงินจากการบริหารงบประมาณและภาษี
  • พรรคภูมิใจไทย อาทิ กองทุนประกันชีวิตผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป วงเงิน 1.48 แสนล้านบาท ค่าตอบแทน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เดือนละ 2,000 บาท (ปัจจุบัน 1,000 บาท) วงเงิน 5.2 หมื่นล้านบาท เป็นต้น รวมเงินสำหรับทุกนโยบาย 2.01 ล้านล้านบาท
  • พรรคก้าวไกล เช่น สวัสดิการเกิด 5 หมื่นล้านบาทต่อปี สวัสดิการเติบโต 4.46 หมื่นล้านบาทต่อปี สวัสดิการสูงอายุ เงินผู้สูงวัย 3,000 บาทต่อเดือน รวม 5 แสนล้านบาทต่อปี รวมเงินสำหรับทุกนโยบาย 1.09 ล้านบาท
  • พรรคพลังประชารัฐ เช่น ใช้งบสำหรับบัตรประชารัฐ 700 บาท รวมฟรีประกันชีวิตประชารัฐ 1. 28 แสนล้านบาท แจกเบี้ยผู้สูงอายุ 4.95 แสนล้านบาท เรียนฟรีถึงปริญญาตรี 5.2 หมื่นล้านบาท รวมทุกนโยบายใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ เช่น ลดต้นทุนเกษตรกร 6 พันล้านบาท เพิ่มเงินสมทบภาครัฐเพื่อให้แรงงานในระบบประกันสังคม 2.9 หมื่นล้านบาท กองทุนฉุกเฉินประชาชน 3 หมื่นล้านบาท บัตรสวัสดิการพลัส (คนละ1,000 บาท) 7.1 หมื่นล้านบาท เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 4 หมื่นล้านบาท ฯลฯ รวมทุกนโยบายใช้เงิน 7.17 แสนล้านบาท

ตามขั้นตอน กกต.จะตรวจสอบว่านโยบายที่ส่งมาจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายกำหนดไว้ 3 ข้อหรือไม่ คือ 1) มีการระบุวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ 2) ระบุความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และ 3) ระบุผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายหรือไม่

พร้อมกับพิจารณาว่านโยบายหาเสียงดังกล่าวมีความเป็นไปได้ หรือปกปิดข้อมูลที่ควรจะแจ้งหรือเพราะหากปกปิดจะเข้าข่ายผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73(5) หลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

ดูแล้ว กกต.คงไม่สามารถชี้ชัดลงไปจนถึงว่านโยบายมีความเป็นไปได้ หรือเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจนมีผลเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง  ความเสี่ยงจากนโยบายประชานิยมนั้นรุนแรงสุดคือ ประเทศล้มละลาย เช่นกรณีอาร์เจนตินา และเบาสุดคือ งบสำหรับยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศไม่มี หรือมีไม่พอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ 

บทความอื่น ๆ ที่ของผู้เขียน

ประชานิยมสุดขั้ว สร้างภาระการคลังระยะยาว

วิกฤติแบงก์ล้มครั้งต่อไปที่ …

ผลจากส่งออกติดลบข้ามปี

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ