TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistผลจากส่งออกติดลบข้ามปี

ผลจากส่งออกติดลบข้ามปี

ส่งออกปีที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวน ครึ่งปีแรกสดใส ขยายตัว 12% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินตอนนั้นว่าส่งออกทั้งปีจะโตราว 7.7% เศษ ช่วงเดือนสิงหาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง ออกมาเรียกร้องให้สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เร่งผลักดันส่งออกให้ขยายตัวจาก 7% เป็น 10% เพื่อผลักดันให้จีดีพีปี 2565 เติบโต 3.5% ตอนนั้นรัฐมนตรีคลังค่อนข้างมั่นใจว่า ทำได้เพราะท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้   

แต่พอเข้าโค้งสุดท้ายของปีทุกอย่างเปลี่ยนไป เดือนตุลาคมส่งออกติดลบ 4.4% พฤศจิกายนติดลบเพิ่มเป็น 6% พอถึงเดือนธันวาคมส่งออกติดลบทะลุลงไปถึง 14.6% กระทรวงพาณิชย์ออกมาสรุปทั้งปี 2565 ส่งออกโต 5.5% พร้อมย้ำด้วยว่า “เข้าเป้า” เพราะตั้งเป้าไว้แค่ 4% ผลจากส่งออกแผ่วท้ายปีทำให้จีดีพีปีที่แล้วหดเหลือแค่ 2.6% 

ความผันผวนในภาคส่งออกยังลามข้ามปี โดยส่งออกเดือนมกราคมที่ผ่านมาลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.9% หากคิดเป็นดอลลลาร์สหรัฐฯ โดยมีมูลค่าส่งออกรวม 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แปลงเป็นบาทได้ 700,127 ล้านบาทมากกว่า 0.9% หากยึดมูลค่าตามดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งออกไทยติดลบมาแล้ว 4 เดือน ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปี 2565 บวกเดือนแรกของปีนี้

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนตั้งเป้าหมายการส่งออกปีนี้ 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1-2% โดยแต่ละเดือนต้องมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 24,161-24,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คำนวณจากค่าเงินบาทที่ 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

คล้อยหลังไม่ทันได้เดือนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ กกร.ออกมาประกาศลดเป้าส่งออกปีนี้เป็น ลบ 1 – 0% ขณะที่สภาพัฒน์ฯออกมาประเมินภาพเศรษฐกิจครั้งแรกของปีระบุว่า ส่งออกปีนี้จะติดลบ 1.6% โดยระบุสาเหตุเหมือนกันว่าเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวคือตัวการสำคัญ

ความจริงส่งออกผชิญกับความผันผวนมาระยะหนึ่งแล้ว โดยปี 2560 ส่งออกทำนิวไฮขยายตัวถึง 9.9% สูงสุดในรอบ 6 ปี แต่หลังจากนั้นสถานการณ์ส่งออกก็เปลี่ยนไป โดยในปี 2561 ส่งออกขยายตัว 6.7% ต่ำกว่าเป้าที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ 8% เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นปัจจัยสำคัญ ปี 2562 สถานการณ์ส่งออกเริ่มติดลบ 2.7% จากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่เริ่มต้นเป็นทางการในปีก่อนหน้า 

พอปี 2563 ที่วิกฤติโควิด-19 อุบัติ ส่งออกติดลบ 6% เศษ ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์บอกประมาณว่าพอรับได้เมื่อเทียบจากเดิมที่คาดว่าจะติดลบถึง 7% มาปี 2564 ส่งออกไทยบวกแรง 17.1% จากที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้แค่ 4% ส่วนปี 2565 ได้ฉายภาพให้เห็นข้างต้นแล้ว 

สภาพส่งออกในช่วงที่ผ่านมาถึงปัจจุบันเป็นผลพวงของความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โลก ทั้งจากสงครามยูเครน การยกระดับต้านจีนของตะวันตก แนวโน้มการแยกขั้วเศรษฐกิจที่โยงไปสู่การสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในหลายภูมิภาคของโลก วิกฤติเงินเฟ้อยังไม่มีทีท่าคลี่คลายง่าย ล้วนเป็นปัจจัยที่บั่นทอนการค้าโลกทั้งสิ้น   

แม้กระทรวงพาณิชย์ประกาศดันส่งออกปีนี้ให้อยู่เหนือโซนติดลบหรือขยายตัว 1-2% แต่ดูข่าวที่อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แถลงกับสื่อว่าหนทางที่จะดันส่งออกปีนี้ไปสู่เป้าหมายต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมย้ำว่าเป้าหมายดังกล่าว “ท้าทายมาก” พร้อมยกสถิติส่งออกในอดีตระหว่างปี 2561-2565 ว่าส่งออกไทยดีที่สุดมูลค่าเกือบแตะ 24,000  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเฉลี่ยดีที่สุด 22,922 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

คำอธิบายดังกล่าวบอกเป็นนัยว่าโอกาสที่จะผลักดันให้ส่งออกขึ้นมาอยู่ในโซนบวกนั้น มีแต่ไม่มากนัก แต่ถึงส่งออกติดปีนี้จะติดลบ สภาพัฒน์ฯมั่นใจว่า แรงหนุนจากการลงทุนภาคเอกชนและรัฐที่เพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะหนุนให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวเฉลี่ย 3.2% การคาดการณ์ดังกล่าวจะผันแปรไป อย่างไรหลังผ่านไตรมาสแรกภาพคงชัดขึ้น 

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ วอนช่วยรักษาบรรยากาศการเมือง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

1 ปี สงครามยูเครน กับขั้วอำนาจเศรษฐกิจใหม่

ส่อง “คาดการณ์เศรษฐกิจใหม่” หลังจีนเปิดประเทศ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ