สงครามยูเครน-รัสเซีย จะครบ 1 ปีในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่แนวรบยังไม่เปลี่ยนแปลง ทั้ง 2 ฝ่ายต่างช่วยกันเติมเชื้อเพลิงเข้ากองไฟ
ล่าสุด ซีกตะวันตกในนามของโลกเสรี ที่มีสหรัฐฯเป็นกัปตัน ส่งรถถังสมรรถนะสูง เอ็ม 1 เอบรัมส์ จำนวน 31 คัน (คันละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามด้วยเยอรมนีส่งรถถัง เลพพาร์ด 2 จำนวน 14 คัน ส่วนอังกฤษนำร่องจัดส่งรถถังแชลเลนเจอร์ 2 ไปให้เคียฟแล้ว 14 คันและมีแผนส่งเพิ่มเติมให้อีก ตามข้อมูลของวีโอเอไทย
แม้อาวุธถูกลำเลียงจากตะวันตกมาต่อเนื่อง แต่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนยังไม่พอ ได้ร้องขอเพิ่มเครื่องบินรบแบบ เอฟ-16 อีกด้วยซึ่งทำเนียบขาวบอกเซย์โนไปแล้ว ซึ่งสะท้อนความคิดผู้นำยูเครนว่ามองไปที่สนามรบมากกว่าโต๊ะเจรจา เช่นเดียวกับรัสเซียยังโหมโจมตีกระหน่ำชาวยูเครนไม่หยุด พร้อมกับขยับพื้นที่ยึดครองเข้าไปเรื่อย ๆ
ไม่ต้องเป็นเกจิก็ดูออกว่าสถานการณ์ดังกล่าวหมายถึงอะไร
อีกด้านหนึ่งของสงคราม สงครามส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาศาลต่อยูเครน รัสเซีย และต่อโลก ปีที่แล้วธนาคารโลกระบุว่าเศรษฐกิจยูเครนหายไปราว 35% โดยสาเหตุหลักจากรัสเซียรุกราน ส่วนปีนี้กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางยูเครนออกมาปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้ (2566) ลงสู่ระดับ 0.3% จากเดิมวางไว้ 4% โดยอ้างถึงความเสียหายจากโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และความเสี่ยงด้านความมันคง (สงคราม) ยาวนานกว่าที่คาดการณ์เอาไว้
ทางด้านรัสเซีย แม้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยังปากแข็งโอ่กับสื่อท้องถิ่นเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่ามาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกไม่กระทบรัสเซีย และเศรษฐกิจ (ของรัสเซีย) กำลังมีเสถียรภาพมากขึ้น และดีกว่าที่รัสเซียคาดเอาไว้เสียอีก แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจรัสเซียได้รับผลกระทบจากสงครามที่มีต้นทุนมหาศาลไม่น้อยทีเดียว ทั้งจากราคาของสงครามผลจากมาตรการคว่ำบาตร และรวมไปถึงทรัพย์สินในรูปสำรองระหว่างประเทศที่ถูกหลายประเทศอายัดเอาไว้ราว 606,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในส่วนในระดับโลกนั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาประเมินเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 2.7% ถือว่าเติบโตต่ำสุดในรอบ 22 ปี หรือนับจากปี 2544 โดยปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกเติบโต 3.2% และยังระบุด้วยว่าเศรษฐกิจ 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่องค์การการค้าโลก (WTO) การค้าโลกปีนี้จะขยายตัวเพียง 1% จาก 3.5% ในปีก่อนหน้า จากหลายปัจจัยรวมทั้งผลจากสงครามยูเครน-รัสเซีย
อีกประเด็นที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดคือ ผลต่อภูมิศาสตร์ทางการเมือง และการสร้างขั้วอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ที่รัสเซียพยายามดีฝ่าวงล้อมคว่ำบาตรของตะวันตก บวกญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ด้วยการจับขั้วเศรษฐกิจใหม่ผ่าน BRICS หรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีศักยภาพที่มีสมาชิก 5 ประเทศ รัสเซีย จีน อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ ให้จัดตั้งทุนสำรองระหว่างประเทศโดยใช้ตะกร้าเงินของแต่ละประเทศ เพื่อลดการพึ่งพา ดอลลาร์สหรัฐ หรือนัยหนึ่งคือการปลดแอกทางเศรษฐกิจ
รวมไปถึงเชิญชวนให้สมาชิก BRICS และประเทศที่รัสเซียเรียกว่าประเทศเป็นมิตรใช้ระบบโอนเงินระหว่างประเทศของรัสเซีย รวมทั้งระบบบัตรชำระเงิน Mir ของรัสเซีย หลังจากแบงก์หลักของรัสเซียโดนตัดออกจากระบบโอนเงินของตะวันตก Swift และระบบบัตรชำระเงินวีซ่า ตามมาตรการคว่ำบาตรเพื่อลดความสามารถในการจัดหาเงินของรัสเซีย
ในช่วงคาบเกี่ยวกันนั้น ขณะที่สหรัฐฯ กับพันธมิตรเดินหน้าคว่ำบาตรรัสเซีย สหรัฐฯ และพันธมิตรหน้าเดิมพยายามกีดกันจีนจากการเข้าถึงชิป หรือเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูง ชิ้นส่วนสำคัญในโลกยุคดิจิทัล หลังทำท่าจะผงาดขึ้นมาในโลกยุคดิจิทัลผ่านการตรวจสอบผู้ผลิตชิปที่เข้าไปลงทุนในจีน ดึงผู้ผลิตชิประดับโลกไปลงทุนในสหรัฐฯ โดยสร้างวาทกรรมชิปประชาธิปไตยขึ้น ท่าทีดังกล่าวล้วนกดดันให้จีนต้องหันหามาพึ่งตัวเอง หาพันธมิตร เร่งพัฒนาห่วงโซ่การผลิตชิปของตัวเองขึ้นมาในที่สุด
การเคลื่อนไหวทั้งกรณีรัสเซียตั้งระบบชำระเงิน และจีนกับห่วงโซ่การผลิตชิป ยืนยันว่าขั้วอำนาจเศรษฐกิจใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วแม้ในเชิงขนาดยังห่างไกลกับขั้วอำนาจเศรษฐกิจเดิมที่มีสหรัฐฯ กับชาติตะวันตกเป็นเจ้าของ แต่ขั้วอำนาจเศรษฐกิจใหม่ใช้เป็นช่องทางให้ประเทศที่โลกตะวันตกประณามใช้เป็นช่องทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตน
ปรากฎการณ์แยกขั้วทางเศรษฐกิจส่งผลกับโลกาภิวัตน์ ระบบที่โลกเชื่อมโยงถึงกันซึ่งสร้างพลังทางเศรษฐกิจอย่างล้นเหลือในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้า
สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ไอเอ็มเอฟออกมาส่งเสียงเตือนว่าการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรุนแรงทั่วโลกหลังจากโลกขับเคลื่อนด้วยระบบโลกาภิวัตน์มาหลายทศวรรษอาจบั่นทอนตัวเลขจีดีพีโลกสูงถึง 7% และอาจบั่นทอนมากกว่า 8% ในบางประเทศหากมีการแบ่งแยกเทคโนโลยีร่วมด้วย สรุปความจากข่าวได้ว่าการแบ่งขั้วอำนาจเศรษฐกิจตอบโจทย์การเมืองแต่ไม่เป็นมิตรกับเศรษฐกิจ
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ แต่โลกวันข้างหน้าที่ขั้วเศรษฐกิจจะถูกแบ่งเป็น ของเอ็ง กับ ของข้า นั้น ผลลัพธ์ต่อเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ยากคาดเดา
ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ
จีดีพี ปี 65 จบที่ 3.4% ปีหน้าต้องลุ้น