TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistประชานิยมสุดขั้ว สร้างภาระการคลังระยะยาว

ประชานิยมสุดขั้ว สร้างภาระการคลังระยะยาว

ประชานิยมกลายเป็นนโยบายนิยมของพรรคการเมืองทุกพรรคไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามเหมือนที่นักวิชาการอยากให้เป็น เมื่อเร็ว ๆ นี้พรรคเพื่อไทย ออกนโยบายแจกเงินเรียกว่ากระเป๋าเงินดิจิทัล แจกเงินดิจิทัลมูลค่า 10,000 บาท สำหรับผู้มีอายูตั้งแต่ 16 ปีขึ้นทุกคน (มีอยู่ราว 54 ล้านคน) เพื่อให้ใช้จับจ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตรตามระยะเวลาที่กำหนด 

พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบายและประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจ บอกว่า นโยบายนี้ไม่ได้แจกเป็นเงินสดหรือเงินจริง แต่แจกเป็นเงินดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 17 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า “…. เงินดิจิทัลนี้มีอายุการใช้งาน 6 เดือนและร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทได้กับธนาคารรัฐในภายหลัง

นักวิชาการมองว่าการแจกเงินราว 540,000 ล้านบาทคือประชานิยมสุดขั้วเสี่ยงต่อการสร้างหายนะทางการคลัง             

เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการ พรรรคเพื่อไทย ออกมาแถลงเพิ่มเติม หลังเจอกระแสวิจาร์ณ ว่ากระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (มูลค่า) นั้นไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี แต่เป็นสิทธิการใช้เงินในบล็อกเชน ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ และสามารถแลกเป็นเงินบาทได้ทุกกรณี แต่ไม่มีรายละเอียดว่า สิทธิรับไปแล้วแลกเป็นเงินสดได้เลยหรือไม่ จะใช้เงินงบประมาณจากส่วนไหน คำถามนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รอคำตอบอยู่ 

ก่อนหน้าพรรคพลังประชารัฐประกาศเพิ่มเงินในบัตรประชารัฐเป็น 700 บาท (เดิม 500 บาท) พรรครวมไทยสร้างชาติ เบิ้ลเป็น 1,000 บาท  พรรคไทยสร้างไทย นำเสนอบำนาญประชาชน 3,000 บาท พรรคภูมิใจไทย ชูพักหนี้ 3 ปี (ไม่เกิน 1 ล้านบาท) นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย ลด ค่าน้ำค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน อุดหนุนต้นทุนการเพาะปลูกให้เกษตรกร ฯลฯ

ชุดนโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองประกาศออกมานั้น สร้างความกังวลกับนักวิชาการมาก เพราะนโยบายดังกล่าวต้องใช้งบประมาณมหาศาล และไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน เศรษฐกิจโตกระจุกตัว เศรษฐกิจโตไม่เต็มศักยภาพ ฯลฯ แต่อย่างใด ที่สำคัญฐานะการคลังของประเทศเวลานี้ต้องเร่งเพิ่มรายได้หลังกู้เกือบหมดหน้าตักไป 2 ครั้งรวม 1.5 ล้านล้านบาทในช่วงวิกฤติโควิด

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ นำคณะตั้งโต๊ะแถลง งานวิจัยนโยบายพรรคการเมือง สรุปความได้ว่า

“ทีมวิจัยได้ประมาณการพบว่ามีอย่างน้อย 2 พรรคพรรคการเมืองที่น่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปีเพื่อดำเนินนโยบายที่ประกาศไว้ และหากรวมต้นทุนด้านการคลังของนโยบายของทั้ง 9 พรรคการเมือง (โดยไม่นับนโยบายที่ซ้ำกัน) ก็จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นทั้งหมด 3.14 ล้านล้านบาทต่อปีหรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากงบประมาณรายจ่ายสำหรับปี 2566 ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวมนโยบายของบางพรรคการเมืองที่มีข่าวว่าจะทยอยประกาศออกมาเกทับนโยบายของพรรคการเมืองอื่นที่ประกาศมาก่อน เช่น นโยบายลดราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลขนานใหญ่” สมเกียรติให้ความเห็นส่งท้ายการแถลงครั้งนั้นว่า เป็นนโยบายที่ดีแต่จะสร้างภาระการคลังในระยะยาว  

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น ฐานะการคลังช่วงต่อจากนี้ไป ต้องเติมเข้าไปไม่ใช่ล้วงออกมา เพราะพึ่งผ่านการกู้ครั้งประวัติศาสตร์มา หากย้อนกลับไปดูข่าวก่อนหน้า ผู้บริหารกระทรวงการคลังคงตระหนักถึงจุดอ่อนทางการคลังที่กำลังจะเกิดขึ้นดี จึงนำเสนอแผนนำการคลังของประเทศกลับสู่ความยั่งยืน

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการทางวิชาการด้านงบประมาณ: OECD Asian Senior Budget Officials Meeting เมื่อปลายปีก่อน ประมาณว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายจัดทำงบประมาณแบบสมดุลให้ได้ใน 10 ปี หรือ ประมาณปี พ.ศ.2575 เนื่องจากความจำเป็นในการจัดทำงบประมาณขาดดุลลดลง หลังวิกฤติโควิดคลี่คลาย 

อีกครั้งอาคม ได้กล่าวถึงแนวบริหารการคลังว่า กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีให้อยู่ในระดับ 16% ในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง หลังจากที่สัดส่วนรายได้ต่อจีดีพี ได้ทยอยปรับลดลงต่ำกว่าศักยภาพของประเทศจาก 17% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 14.9% ในปี 2564 โดยรมว.คลังยังกล่าวถึงวิธี (เพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพี)ว่า เริ่มจากการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและการขยายฐานภาษี จะทำให้สัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีกลับมาอยู่ที่ประมาณ 16% ในระยะ 5 ปีข้างหน้า 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องปรับปรุงเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของรายจ่ายด้านการลงทุนนั้น เราจะเน้นให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลมากขึ้น อย่างไรก็ดี สัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณนั้น ก็จะพยายามเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 23% เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว 

สรุปจากข้อความข้างต้นคือ การคลังมีจุดอ่อนที่ต้องดูแล หากพรรคการเมืองไม่ได้คำนึงถึงข้อจำกัดด้านการคลัง ยังนำเสนอนโยบายประชานิยมแบบสุดโต่งที่ใช้งบประมาณมหาศาล หวังเพียงผลเฉพาะหน้าชนะศึกเลือกตั้ง ถึงขนาดจะแจกเงินเป็นแสน ๆ ล้านบาท แต่ยังไม่รู้ว่าจะเอางบประมาณมาจากตรงไหน

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

จับตา ‘เศรษฐกิจ’ ก่อนและหลัง การเลือกตั้ง

อาร์เจนตินา กระจกสะท้อน ประชานิยมไทย

วิกฤติแบงก์ล้มครั้งต่อไปที่ …

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ