TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"อนาคตเศรษฐกิจ" และ 'โฉมหน้าสงครามกาซา' ที่ยากคาดเดา

“อนาคตเศรษฐกิจ” และ ‘โฉมหน้าสงครามกาซา’ ที่ยากคาดเดา

ความไม่แน่นอนคือความแน่นอนโดยแท้ ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ อัล-อักซอ ฟลัด (AL-Aqsa Flood) ของกลุ่มฮามาส ที่ตะลุยข้ามแดนเข้าไปในเขตที่อิสราเอลยึดไว้และไม่ยอมคืน ด้วยจรวดชุดใหญ่เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิว ก่อนที่ เบนจามิน เมทันยาฮู นายกฯ สายเหยี่ยว ออกมาประกาศภาวะสงคราม และขู่ฟอด ๆ ว่าจะยึดฉนวนกาซ่าให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ล่าสุด (วันที่เขียนต้นฉบับ 13 ต.ค.) สถานการณ์ที่กาซ่ามีผู้เสียชีวิตแล้วไม่น้อยกว่า 2,000 คน ซึ่งมีทั้งทหารและพลเรือนซึ่งในจำนวนนี้มีแรงงานไทย 20 คนรวมอยู่ด้วย ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตมาไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ความกังวลที่ไล่ตามหลังไฟสงครามมาคือจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยขนาดไหน ?  

เบื้องต้นมีการวิเคราะห์กันว่า สงครามที่กาซา (ตอนนี้) ยังไม่กระทบไทย ด้วยเหตุผล 2 ข้อหลัก ๆ คือ หนึ่ง-สมรภูมิไม่ใช่แหล่งผลิตน้ำมันใหญ่ และสอง-คู่กรณีไม่ใช่คู่ค้าสำคัญของไทย 

วันก่อน พูนพงษ์ นัยนากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสคร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ออกให้ข้อมูลว่า อิสราเอลเป็นคู่ค้าลำดับที่ 42 ของไทย มูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 1,401.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 49,182  ล้านบาท คิดเป็น 0.2% ของการค้ารวมของไทย โดยอิสราเอลเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 38 ของไทย มูลค่าอยู่ที่ 850.2 ล้านดอลลาร์ฯ ราว 29,728 ล้านบาท คิดเป็น 0.3% ข้อมูล ณ ปี 2665  

สินค้าที่ไทยส่งไปขายอิสราเอล อาทิ รถยนต์ รวมอุปกรณ์ และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรปู อัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น  

ขณะเดียวกันไทยนำเข้าจากอิสราเอลอยู่ในลำดับที่ 45 มูลค่า 551.7 ล้านดอลลาร์ฯ ราว 19,455 ล้านบาท ขยายตัว 22.9% คิดเป็น 0.2% สินค้าที่ไทยซื้อจากอิสราเอล อาทิ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

ด้านปาเลสไตน์มีการค้าขายกับไทยเช่นกัน โดยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 186 ของไทยมูลค่าอยู่ที่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 178.3 ล้านบาท ขยายตัว 113.3% คิดเป็นสัดส่วน 0.002% ของตัวเลขการส่งออกรวม สินค้าที่ปาเลสสไตน์ซื้อจากไทย อาทิ  รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และเครื่องดื่ม เป็นต้น  

ขณะเดียวกันไทยนำเข้าจากปาเลสไตน์ไม่มากนักอยู่ในลำดับที่ 233 มูลค่า 1,316 เหรียญสหรัฐฯ ราว 44,157 บาท สินค้าที่ไทยซื้อจากปาเลสไตน์ เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และนาฬิกาและส่วนประกอบ เป็นต้น

แม้ภาคการค้าของไทยจะได้รับผลกระทบไม่มากนักเนื่องตลาดส่งออกไปอิสราเอลและปาเลสสไตน์เป็นตลาดเล็ก หากเศรษฐกิจมีความเสี่ยงจากตลาดท่องเที่ยวอิสราเอลที่อาจจะหายไป แม้เป็นตลาดนักท่องเที่ยวอิสราเอลไม่ใหญ่มากแต่เป็นลูกค้าประจำของไทย ตัวเลข ณ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชาวอิสราเอลมาเที่ยวไทย 159,263 คน คิดเป็น 0.9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวรวม  

และที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักคือ ตลาดแรงงาน ตัวเลขจากกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ณ เดือน กันยายน ที่ผ่านมา มีแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอล 25,587 ราย แบ่งเป็นชาย 25,277 คน และหญิงอีก 650 คน แต่หลังกาซ่ากลายเป็นสมรภูมิเดือดและรัฐบาลประกาศนำแรงงานกลับบ้าน ตัวเลขถึงปลายสัปดาห์ที่แล้วสื่อรายงานว่ามีแรงงานแจ้งประสงค์ขอกลับบ้านแล้ว 6,000 ราย หากตัวเลขแรงงานไทยในอิสราเอลขอกลับบ้านขึ้นหลัก 10,000 คน รายได้เข้าประเทศคงหายไปมากอยู่เพราะแรงงานในอิสราเอลมีรายได้ราว 55,000 บาทต่อเดือน 

การที่ไฟสงครามจากกาซ่าปะทุเปรี้ยงปร้างขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน ในขณะที่แนวรบยูเครนยังไม่เปลี่ยนแปลง และสหรัฐฯ กับพันธมิตร สหภาพยุโรป (อียู) ยังหาทางลงไม่เจอ   ผนวกกับการแผ่ขยายของแนวคิดเรื่องโลกหลายขั้ว ที่มีรัสเซียกับจีนเป็นผู้สนับสนุน ได้รับการตอบรับจากหลายประเทศ ทำให้โลกเครียดจากไฟสงครามมากที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาและดันระดับความไม่แน่นนอนให้เศรษฐกิจโลกมาสูงยิ่งขึ้นไปอีก

ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หั่นจีดีพีโลกลงเหลือไม่ถึง 3% ด้วยเหตุผลจากการค้าโลกที่หดตัว 

ส่วนเศรษฐกิจบ้านเราเข้าสู่ฤดูกาลหั่นจีดีพี นับแต่สำนักงานสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ปีนี้ (8 ส.ค. 66) ว่าขยายตัวเพียง  1.8% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่วางไว้ 3% เนื่องจากส่งออกติดลบต่อเนื่องหลายเดือน หลายสำนักออกมาหั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงตามโดยพร้อมเพรียงกัน อาทิ  

แบงก์เกียรตินาคินภัทร หั่นเหลือ 2.8 % (เดิม 3.3%) ตามด้วยศูนย์วิจัยแบงก์กรุงศรีอยุธยาเหลือ 2.8% (เดิม 3.3%) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจแบงก์ไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เหลือ 3.1% (เดิม 3.9%) แสตนชาร์ดเตอร์ เหลือ 3.3% (เดิม 4.2%) 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเหลือ 3% ถ้วน (เดิม 3.7%) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เหลือ 2.5-3% (เดิม 3-3.5%) รวมทั้งแบงก์ชาติที่หั่นเหลือ 3% (เดิม 3.6%) และธนาคารโลกเหลือ 3.4% (เดิม 3.9%) 

แน่นอนว่าการหั่นจีดีพีมีจะเกิดขึ้นอีก เหตุผลเพราะยากคาดเดาว่าโฉมหน้าสงครามที่กาซ่าจะออกมาหน้าไหน ด้านหนึ่ง สหรัฐฯ อียู อังกฤษ อินเดีย ฯ ออกมาส่งเสียงหนุนอิสราเอลให้ถล่มฮามาส แต่อีกด้านเสียงดังไม่แพ้กัน โลกอาหรับ อิหร่าน ออกมายืนเคียงข้างปาเลสไตน์อย่างเต็มที่เช่นกัน  

เสียงจากทั้งสองฝ่ายได้กลบเสียง “สันติภาพ” ลงโดยสิ้นเชิง หากสถานการณ์ยังโน้มไปแนวนี้หวั่นใจว่า เศรษฐกิจจะไม่หยุดแค่หั่นจีดีพีเท่านั้น

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“เศรษฐา ทวีสิน” และเศรษฐกิจท้ายปี

ได้รัฐบาลช้า บั่นทอนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ

เข้าเกียร์ห้า ดันเศรษฐกิจระวังทางโค้งด้วย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ