TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเศรษฐกิจไทย หมดบุญเก่า

เศรษฐกิจไทย หมดบุญเก่า

ในช่วงนี้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจสำนักต่าง ๆ เริ่มทะยอยรายงานตัวเลขเศรษฐกิจปี 2566 ตามลำดับ เมื่อปลายมกราคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้หั่นการประมาณการ GDP ปี 2566 เหลือโตแค่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อว่าเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสาละวันเตี้ยลงได้ขนาดนี้ จนกลายเป็นประเด็นการเมืองเมื่อรัฐบาลฉวยจังหวะนี้ออกมาตอกย้ำว่าเศรษฐกิจวิกฤติแล้ว กระทบชิ่งแบงก์ชาติหวังกดดันให้ลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ขณะเดียวกันแบงก์ชาติก็เริ่มเสียงอ่อย โดยออกมาแถลงว่าอาจจะมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงจากที่เคยคาดไว้เดิมร้อยละ 2.4 แต่ระบุไม่ได้ว่าจะปรับลดลงไปต่ำกว่าร้อยละ 2 หรือไม่ 

ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ก็ออกมาระบุว่า GDP ของไตรมาสที่ 4 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อปี ส่งผลให้ปี 2566 ทั้งปี เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปีเท่านั้น ไกล้เคียงกับกระทรวงคลังที่คาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8 แต่ก็พลาดเป้าจากที่เคยคาดการณ์ร้อยละ 2.5 ถึงร้อยละ 24 เลยทีเดียว ถือว่าผิดพลาดค่อนข้างสูง

แต่คลี่ไส้ในออกมาดูจะพบว่าสาเหตุที่จีดีพีไตรมาส 3 และ 4 ลดลง ประเด็นหลักเกิดจากการลงทุนรวมไตรมาส 4 หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี เกิดจากการลงทุนภาครัฐที่หดตัวถึงร้อยละ -20.1 ต่อปี ปัญหามากจากงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าช้ากว่าปกติถึง 7 เดือน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงสุญญากาศการลงทุนของภาครัฐ ฉะนั้น งบประมาณล่าช้าจึงถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่แลกมาด้วยการลงทุนภาครัฐที่ไม่ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติการเบิกจ่ายงบประมาณจะต้องเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมถือเป็นปีงบประมาณประจำปี แต่งบประมาณปี 2567 ล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ผ่านรัฐสภาฯ อาจจะต้องรอถึงเดือนเมษายน นั่นหมายความว่าระหว่างนี้จะไม่มีการลงทุนใด ๆ โดยรัฐนานอีกหลายเดือน แม้งบประมาณจะผ่านรัฐสภาฯ แล้ว แต่กว่าจะลงไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ต้องรออีกนาน และยังจะต้องเจอปัญหาท่อตัน เบิกจ่ายไม่ทันเหมือนที่เป็นมาทุกปี ทั้งหมดนี้คือตัวการฉุดไม่ให้ GDP โต

แต่ที่เป็นพระเอกช่วยพยุงมาตลอด คือ การอุปโภคบริโภคโดยภาคเอกชน สะท้อนจากไตรมาส 4 ขยายตัวสูงร้อยละ 7.4 ต่อเนื่องมาจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัวสูงร้อยละ 7.9 ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส การใช้จ่ายในหมวดบริการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.8 ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคารที่ขยายตัวร้อยละ 35.4 และกลุ่มบริการทางการเงินที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 การส่งออกก็ขยายตัวร้อยละ 4.9 การนำเข้าก็ขยายตัวร้อยละ 4.0 จะเห็นว่าการบริโภคเอกชนดูดีไปหมด

แต่พอเอ็กเรย์เข้าไปดูพบว่าการบริโภคภาคเอกชน หลัก ๆ มาจากการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับร้านอาหารและที่พักแรมที่ขยายตัวถึงร้อยละ 35.4 ต่อปี ซึ่งตัวนี้น้ำหนักสูงเกือบร้อยละ 20 และการช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของรัฐบาล

นั่นสะท้อนให้เห็นว่าได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่ก็ยังน่าห่วงเพราะการท่องเที่ยวของไทยยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต สมุย รายได้ไม่ได้กระจายไปแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ 

ตัวเลขภาคเอกชนอาจจะดีแต่บางส่วนก็ยังวิกฤติ อย่างภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไตรมาส 4 หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี เป็นการหดตัวต่อเนื่องยาวนานถึง 5 ไตรมาส มากกว่าสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งที่หดตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาส วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ติดต่อกัน 4 ไตรมาส เท่ากับวิกฤติโควิด-19 ที่ติดต่อกัน 5 ไตรมาส 

จะเห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิตของไทยกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ ไร้ศักยภาพ ไร้ขีดความสามารถ ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ปัญหาส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากโควิด ทำให้ต้องปิดเมือง ทุกคนต้องทำงานที่บ้านจึงมีความต้องการใช้สินค้าสูงต้องเร่งตุนไว้กันขาดแคลน ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเร่งผลิตสต็อกไว้ แต่เมื่อโควิดคลี่คลาย ความต้องการใช้สินค้าน้อยลงเพราะมีกิจกรรมอื่น ๆ แทน เช่น ไปท่องเที่ยว ไปกินข้าวนอกบ้าน เป็นต้น ทำให้สินค้าที่ผลิตไว้ล้นสต็อกเหลือบานเบอะ ว่ากันว่าสต็อกที่ยังมีอยู่นานถึง 10 เดือนเลยทีเดียว

แต่ที่น่าห่วงมากกว่า คือวิกฤติที่เกิดจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย สินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตได้ กลายเป็นสินค้าที่ถูกเลิกใช้ไปแล้ว เช่น ฮาร์ดดิสไดร์ฟที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก แต่ทุกวันนี้ถูกชิปมาดิสรัปซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแทน  โลกเปลี่ยนไปเร็วมากแต่การผลิตอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวตามไม่ทัน 

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมของไทยและยังต้องเจอกับสินค้าจากจีนทะลักเข้ามาขายตัดราคา คนไทยจึงเลิกผลิตแต่หันไปนำเข้าสินค้าจากจีนที่ราคาถูกกว่าเข้ามาขายแทน ไม่ต้องเสียเวลาผลิตเอง สินค้าจีนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำงลายระบบอุตสาหกรรมของไทย ปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะต้องเร่งแก้ด่วน 

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเป็นปัจจัยทำให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยลดน้อยถอยลง ก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง GDP สูงร้อยละ 8 แต่หลังจากนั้นลงมาเหลือร้อยละ 5 ต่อมาเหลือร้อยละ 3 และร้อยละ 2 กว่า ๆ ยิ่งนับวันบุญเก่าที่เคยอุ้มเศรษฐกิจไทยก็ค่อย ๆ หมดลงไปเรื่อย ๆ 

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ทางออกจากวิกฤติต้อง … ปลดล็อก เศรษฐกิจนอกระบบ

เศรษฐา-เศรษฐพุฒิ ห่างไม่ได้ ใกล้ไม่ดี

Soft (No) power

“แลนด์บริดจ์” ฝันได้…ไปไม่ถึง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ