TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistโหยหา soft skill (ที่ไม่ใช่ soft power)

โหยหา soft skill (ที่ไม่ใช่ soft power)

เวลาเคลื่อนไวมาก เราผ่านเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีนและกำลังจะก้าวสู่สงกรานต์ ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไร ความยากในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

สัญญาณเตือนของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ GDP ออกมาต่ำกว่าที่คาดหมายไว้อีก ยิ่งกดรัดและเพิ่มแรงบีบว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะดีแบบเห็นหน้าเห็นหลังได้นั้นยาก

การรับมือกับภาวะแบบนี้ จึงต้องกลับมาที่ตัวเราเท่านั้น ถึงตอนนี้เรามีคำตอบให้กับเราหรือยังว่าการใช้ชีวิตของคนเรานั้น จะเป็นแบบไหน

  1. มีเหตุมีผล มีเป้าหมาย มีวินัย มีการวางแผนชีวิตไว้ล่วงหน้า
  2. ใช้ชีวิตแบบขึ้นกับอารมณ์ อย่าไปหาเหตุหาผล พอจวนตัวก็เบนไปทางไสยศาสตร์ โทษเวรโทษกรรม ไม่ได้กลับมาใคร่ครวญการใช้ชีวิตของตนเอง

ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเป็นวัยเยาว์

งานวิจัยของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) น่าสนใจมาก

อันดับแรกคือ เขาชี้ว่าในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วอย่างทุกวันนี้ ความรู้ทางวิชาการมีผลต่อความสำเร็จไม่ถึง 1% (โอ้ว พระเจ้า! น้อยมาก) อีก 99% มาจาก soft skill ซึ่งเป็นทักษะที่ช่วยรับมือโลกที่ซับซ้อนได้ 

soft skill คืออะไร 

คือทุนทางจิตใจ เช่น เป็นคนเข้มแข็ง หนักเอาเบาสู้ ยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลง มีวินัย กัดไม่ปล่อย มองโลกในแง่ดี ไม่จมกับปัญหา เหล่านี้ล้วนสำคัญ เพราะทำให้คนคนนั้นไม่แตกสลายเวลาเจอแรงกดดัน ปรับตัวได้เร็ว และผ่านเรื่องร้ายไปได้ 

เด็กที่ถูกสอนแค่ hard skill หรือเก่งวิชาการอย่างเดียวอาจเปราะบาง แตกสลายง่าย ตรงกันข้าม เด็กที่มี soft skill จะไม่สั่นไหวมาก ถ้าตกงานก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวลองทำอย่างอื่นดู การมองโลกในแง่ดีก็ทำให้ผ่านแรงกดดันต่าง ๆ ไปได้โดยไม่มีบาดแผลมากนัก 

การบ่มเพาะทัศนคติในแง่บวกจึงสำคัญต่อการตั้งรับความผันผวนของโลกที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน 

จึงถึงเวลาแล้วที่การศึกษาต้องคิดด้านกลับ แทนที่จะมุ่งเน้นแต่วิชาการ ต้องหันมาพัฒนา soft skill ให้เด็ก ๆ สร้างทักษะเหล่านี้ให้แข็งแรง โดยมีครอบครัวและครูเป็นลมใต้ปีกช่วยสนับสนุนให้เด็กมั่นใจในตัวเอง มองโลกในแง่ดี และมีความแข็งแกร่งภายใน ขณะเดียวกันก็ยืดหยุ่นด้วย

มีโอกาสได้ทำสื่อการเรียนการสอนให้กับเด็กในวัยเริ่มต้นเมื่อหลายปีก่อน ทำให้มีโอกาสเดินสายไปพบโรงเรียนอนุบาล-ประถมในหลาย ๆ จังหวัด ทั้งที่เป็นโรงเรียนเอกชนหรือของรัฐ เห็นว่าเด็กในช่วงเริ่มต้นหลายโรงเรียนได้เน้นทักษะด้าน soft skill อยู่พอสมควร แต่เมื่อขึ้นไปเรียนในระดับประถม จะขาดความต่อเนื่อง แต่จะเน้นทักษะทางด้านวิชาการ ต้องเก่งจนขาดความต่อเนื่อง

การพัฒนาเยาวชน หรือการพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ถูกทางต้องให้ทุกคนมีโอกาสเรียนสิ่งที่ตนถนัด ในสถานศึกษาที่มีคุณภาพ และมีข้อมูลตลาดแรงงานประกอบการตัดสินใจของพวกเขา ซึ่งข้อมูลต้องครบถ้วนและทันเวลาด้วย

วันนี้เราได้สร้างคนประเภท HENRY (High Earner, Not Rich Yet) เกิดขึ้นในสังคม และหาดูข้อมูลจากเครดิตบูโร จะพบว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย มาจากหนี้เพื่อการอุปภาคบริโภคที่สูงมาก ประมาณ 35% เป็นรองก็แค่หนี้ที่เกิดจากการกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถเท่านั้น

ยิ่งมีบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” (BNPL: Buy Now Pay Later) ที่ให้บริการสินเชื่อหรือการผ่อนชำระสินค้าที่เข้าถึงง่ายขึ้น อนุมัติไว ปราศจากดอกเบี้ย หากชำระเงินตามเงื่อนไข ซึ่งว่ากันว่าถูกใจคนรุ่นใหม่นัก 

เพราะ BNPL คือ การซื้อมาก่อน แล้วแบ่งจ่ายเป็นงวด แล้วนำสินค้าและบริการไปใช้ได้ก่อนโดยไม่ต้องรอจ่ายเงินครบจำนวน ส่วนมากไม่มีดอกเบี้ย 

ยกตัวอย่างเช่น ต้องการซื้อ TV ยี่ห้อ A ในราคา 18,000 บาท ที่ทำโปรโมชั่นผ่อน 0% กับแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรืออาจเป็นบริการหนึ่งบนแอปพลิเคชันอื่นที่ไม่ได้ให้บริการทางการเงินโดยตรง มีเงื่อนไขผ่อนสินค้าระยะเวลา 12 เดือน แต่ดอกเบี้ย 0% แค่ 3 เดือน หรือแค่ 6 เดือน ขณะที่ TV แบรนด์ B ผ่อนชำระได้ แต่มีดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี และมีดอกเบี้ยสำหรับการชำระเงินไม่ตรงงวดด้วย 

BNPL เป็นบริการผ่อนชำระที่เข้ามาเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ผู้บริโภคซึ่งจากการเข้าถึงบริการได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีบัตรเครดิต และสามารถใช้เพียงบัตรประชาชนสำหรับยืนยันตัวตนเพื่อขอสินเชื่อเท่านั้น

ความรู้สึกยับยั้งชั่งใจไม่ก่อหนี้จนเกินความสามารถ (ปกติจะสร้างหนี้ได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่เข้าใจว่าตัวเลขจะกลับกัน คือก่อหนี้ไปถึง 70% ของรายได้) ต้องอาศัยพลังใจอย่างมาก ยิ่งการตลาดซับซ้อนมากเท่าไร soft skill  คือเครื่องมือที่ต้องเตรียมกันไว้ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ และควรจะต่อเนื่องจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

แม้ว่าคนรุ่นเรา อาจจะทำไม่ได้หรือแก้ปัญหาให้ชีวิตเป็นอิสระได้ทุกคน แต่ปัญหาที่เกิดในรุ่นเรา หวังว่าจะเป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นใหม่ได้ไหม หรือเราชอบบทเรียนซ้ำ ๆ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เรื่องของคน 3 วัย กับ 3 เวลา

ทำงาน 40 ปี ใช้ชีวิต 60 ปี ในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง มีการเรียนรู้มากมาย

เงินทองเป็นของคนอื่น !! ไม่ผิดที่อยากมีรายได้สูง ๆ แต่ผิดที่ไม่มีทัศนคติและเป้าหมายที่ถูกต้อง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ