TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistวิวาทะ "จีดีพี"

วิวาทะ “จีดีพี”

หากใครติดตามการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เพิ่งผ่านวาระแรกไปหมาด ๆ คงจะได้เห็นพัฒนาการในการอภิปรายของพรรคก้าวไกลที่มีการใช้ข้อมูลมาประกอบอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ต่างจากการอภิปรายรูปแบบเดิม ๆ ที่เน้นวาทะศิลป์ เน้นวาทะกรรม

แต่การอภิปรายครั้งนี้ก็ยังมีสีสันไม่น้อย ประเด็นที่กลายเป็น “ทอล์ค ออฟเดอะ ทาวน์” ถูกนำมาถกแถลงทั้งในทางการเมืองและในแวดวงนักวิชาการในโลกโชเชียลไม่น้อย

นั่นคือ ประเด็นการอภิปรายของ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ได้หยิบรายงานการทำจัดงบประมาณของฝ่ายรัฐบาล 2 เล่ม ที่นำเสนอข้อมูลของจีดีพีไม่ตรงกัน

โดยอภิปรายบางช่วงบางตอนดังนี้

“แต่พอดูไปดูมา เมื่อกี้นี้ เล่มขาวคาดม่วง (รายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลังฯ) ก็บอกว่าโต 3.2% ทำไมอยู่ดี ๆ เล่มงบประมาณฉบับประชาชนถึงโต 5.4% แล้วก็มาถึงบางอ้อ เพราะนี่คือการเติบโตของจีดีพีที่ไม่ได้รวมผลของเงินเฟ้อ ปกติทุกประเทศทั่วโลกเวลาคำนวณอัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีเขาจะใช้จีดีพีที่ไม่รวมผลของเงินเฟ้อ แต่รัฐบาลกำลังโชว์ตัวเลขที่รวมผลของเงินเฟ้อ เท่ากับว่านี่รัฐบาลกำลังจะบรรลุเป้าหมายจีดีพีโต 5% ในปีแรกที่เข้ามาบริหาร โดยการโกงสูตรปรับจีพีดี”

ศิริกัญญา ฟันธงรัฐบาลมีความจงใจ “โกงสูตร” ในการคำณวนจีดีพี ซึ่งในโลกนี้ไม่มีใครเขาทำกัน ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมาตอบโต้ ว่า

“ตนมองว่าเป็นลักษณะวาทกรรม เชื่อว่าน.ส.ศิริกัญญา ทราบว่าเรื่องนี้ไม่มีประเด็นอะไร เป็นการนำเสนอตัวเลขคนละจุด ซึ่งจุดอื่น ๆ ของงบประมาณก็แสดงตัวเลขที่เป็น Real GDP มีเพียงหน้านั้นหน้าเดียวที่โชว์เป็น Nominal GDP”

“สาเหตุที่ต้องรวมผลกระทบเงินเฟ้อ เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณการจัดเก็บรายได้ ซึ่งเป็นตัวเลข Nominal เช่นเดียวกัน ถ้าจะโกงตัวเลข ทุกหน้าก็ต้องเปลี่ยนเป็น 5.4%”

คำว่า GDP หรือ Gross Domestic Product หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ถูกใช้เป็นดัชนีวัดผลผลิตที่ประชากรในประเทศเป็นผู้ผลิตขึ้นมาและถูกนำมาสะท้อนรายได้ของคนในประเทศนั้น ๆ ดังนั้นรัฐบาลทุกประเทศในโลกจึงใช้ จีดีพีเป็นดัชนีวัดความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ หากจีดีพีปีต่อปีสูง แสดงว่าประเทศนั้น ๆ มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีอยู่มีกินมากขึ้นตามไปด้วย รัฐบาลก็เอามาเป็นผลงานได้

ว่ากันตามหลักวิชาการ ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครถูกใครผิด เพราะจีดีพีมีทั้ง 2 แบบ แบบแรกที่เรียก Real GDP คือ จีดีพีที่หักเงินเฟ้อออกแล้วเหลือแต่จีดีพีที่แท้จริง และอีกแบบที่เรียกว่า Nominal GDP คือจีดีพีที่ยังไม่หักเงินเฟ้อหรือรวมเงินเฟ้อเข้าไปด้วย ทำให้ตัวเลขของจีดีพีสูงกว่าแบบที่หักเงินเฟ้อออกแล้ว แต่จริง ๆ แล้วผลลัพธ์สุดท้ายมันก็อันเดียวกัน

อันที่จริงมันก็มีประโยชน์ทั้งสองแบบแล้วแต่วัตถุประสงค์ว่าจะใช้ในกรณีใด แต่หากถามคนทั่วไปส่วนใหญ่ มักจะคุ้นเคยกับตัวเลข Real GDP มากกว่า Nominal GDP แน่ ๆ

แต่ที่หยิบมาเป็นประเด็นการอภิปรายจนกลายเป็นกระแสฮือฮาขึ้นมา เพราะรัฐบาลได้หยิบตัวเลข ของ Nominal GDP มาไว้ในเอกสารงบประมาณฉบับรายงานประชาชน ขณะที่เอกสารประกอบอีกเล่มใช้ตัวเลข Real GDP เรียกว่ามีทั้ง 2 แบบแต่อยู่คนละเล่ม

น่าสนใจตรงที่ การจัดทำงบประมาณ ปี2566 ที่ผ่านมาโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้ตัวเลขของ Real GDP เท่านั้น แต่รัฐบาลนี้กลับใช้ตัวเลขทั้ง Real GDP และ Nominal GDP โดยเฉพาะตัวเลขอันหลังอยู่ในรายงานสำหรับประชาชน ซึ่งทำให้ถูกมองว่ารัฐบาลมีเจตนาจงใจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเศรษฐกิจเติบโต เป็นการเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน

แต่การที่พรรคฝ่ายค้านออกมาบอกว่าเป็นการโกงสูตร จีดีพีก็อาจจะเป็นคำกล่าวหาที่รุนแรงเกินไป แต่ก็เข้าใจได้เพราะนี่เป็นเรื่องการเมือง เพียงแต่การที่รัฐบาลมีเจตนาไม่ตรงไปตรงมาทำให้ตัวเลขจีดีพีดูดีกว่าความเป็นจริงอาจจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้ ยิ่งภาคธุรกิจหากเข้าใจตัวเลขผิด ๆ ก็อาจจะวางแผนธุนกิจผิดพลาดตามไปด้วย

กรณีนี้เคยฟังนักวิชาการท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตปรากฏการณ์เกิดขึ้นในบางประเทศว่า การที่เศรษฐกิจประเทศนั้นเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยตัวเลขจีดีพี 2 หลักติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี อาจจะเป็นการปั้นตัวเลขจีดีพีหรือไม่

แต่ในกรณีนี้มองอีกนัยหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะระบบการจัดทำข้อมูลไม่ทันสมัย ทำให้การคำณวนผิดเพี้ยนหรืออาจจะเป็นความตั้งใจของรัฐบาลประเทศนั้นเจตนาปั้นตัวเลชก็ได้ แต่ก็ทำให้คนในประเทศเชื่อว่าเศรษฐกิจดีจึงมีการใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย เอกชนมีการกู้เงินมาลงทุนเกินจริง สุดท้ายเศรษฐกิจสะดุดไม่เป็นไปตามที่เคยเป็น ธุรกิจต้องเจ๊งระเนระนาด จีดีพีที่เคยสูงก็ลดต่ำลงอย่างไม่น่าเชื่อ

ในบ้านเราบางยุคบางสมัยในอดีต หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คาดการณ์เศรษฐกิจบางหน่วยงานก็เคยถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าตัวเลขจีดีพีที่นำเสนอต่อสังคมดีเกินความเป็นจริงหรือไม่ และตัวเลขที่เผยแพร่ก็มักจะขัดแย้งกับตัวเลขของสถาบันเอกชนและหน่วยงานรัฐอื่น ๆ จนถูกมองว่าแต่งตัวเลขเอาอกเอาใจผู้มีอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลหรือฝ่ายค้านรวมถึงชาวบ้านอย่างเรา ๆ ไม่ควรจะไปหมกมุ่นกับตัวเลขจีดีพีให้มากนัก เพราะนั่นเป็นแค่ตัวเลขคาดการณ์ และไม่ได้แสดงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคนว่าดีขึ้นอย่างเท่าเทียมกันแต่อย่างใด ยิ่งประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างบ้านเราตัวเลขจีดีพีไม่ได้มีความสำคัญกับชีวิตประชาชนเลย

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ จะทำอย่างไรให้ จีดีพีที่เป็นผลผลิตของคนในประเทศ เฉลี่ยไปถึงประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ใช่ไปตกอยู่ในกระเป๋าผู้มีอำนาจและกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นภาระกิจของรัฐบาล

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ปลุก “ความเชื่อมั่น” ก่อนสายเกินแก้

“วิกฤติ” หรือ “ไม่วิกฤติ”

เศรษฐกิจไทยปี 67 ความเสี่ยงรุมเร้า

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ