TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessนิเทศ จุฬาฯ ดึง 4 คนทำสื่อ อัปเดตนวัตกรรมและโอกาสธุรกิจสื่อไทยในยุคปัจจุบัน

นิเทศ จุฬาฯ ดึง 4 คนทำสื่อ อัปเดตนวัตกรรมและโอกาสธุรกิจสื่อไทยในยุคปัจจุบัน

ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ The Story Thailand จัดเสวนา Thai Media Lab TALKS: นวัตกรรมและโอกาสธุรกิจสื่อไทย (Innovation & Media Business 2024) อัปเดตสถานการณ์การปรับตัวของธุรกิจสื่อ โดย อศินา พรวศิน Founder and CEO The Story Thailand, จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ บรรณาธิการบริหาร Capital, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการบริษัท Cloud and Ground จำกัด และ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ Head of Public Affairs, LINE MAN Wongnai

เสวนา Thai Media Lab TALKS: นวัตกรรมและโอกาสธุรกิจสื่อไทย

การเสวนา เริ่มด้วย อศินา ที่มาเล่าถึงสถานการณ์ภาพรวมสื่อในปัจจุบัน ซึ่งนับว่ามีความฟุ้งกระจายมาตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดการ Disruption ของเทคโนโลยี สื่อหลักทั้งรายใหญ่ รายเล็ก มีการปรับตัวเรื่องรายได้ จากสมัยก่อนมีรายได้หลักจากการขายพื้นที่โฆษณา เริ่มหาช่องทางรายได้อื่น ๆ เพิ่มขึ้น สวนทางกลับปริมาณเงินที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ระบบนิเวศของสื่อในปัจจุบัน มีลักษณะคล้ายถูกบีบให้ปรับตัวจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยการเริ่มเข้าสู่เส้นทางออนไลน์ รายได้หลักที่เคยได้จากการสปอนเซอร์หรือโฆษณนาต้องการรายได้ช่องทางอื่น ๆ อย่างเช่น จากการจัดกิจกรรมพิเศษ (Event) หรือการสนับสนุนจากผู้ชม เป็นต้น

สถานการณ์ลักษณะนี้ดำเนินมาเรื่อย ๆ ผ่านช่วงโควิด-19 จนกระทั่งภายหลังการคลายล็อกดาวน์เริ่มมีการลงทุนในวงการสื่อมากขึ้น ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ

ในประเทศไทยเอง สื่อเก่าที่พร้อมทั้งเงินทุน ทรัพยากรมนุษย์หลังจากจำศีลมาเนิ่นนานก็เริ่มเคลื่อนย้ายเข้าสู่การแข่งขันในโลกออนไลน์ ในขณะเดียวกัน สื่อใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็น ภาคบุคคล เพจต่าง ๆ ที่เข้ามาแข่งขันในวงการสื่อมากขึ้น เทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าไปเป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรค นัยหนึ่งเทคโนโลยีหรือ AI เข้ามาช่วยเรื่องการประหยัดเวลาสร้างสรรค์คอนเทนต์ สร้างบาลานซ์ให้การทำงาน แต่อีกนัยคือเข้ามาเป็นอุปสรรคของแรงงานในวงการสื่อ เช่น ความสามารถของ AI หรือความต้องการ Data Analytic ของตลาดแรงงาน ที่เข้ามามีผลกระทบกับคนทำงานให้ต้องพัฒนาตนเองมากขึ้น

อีกด้านหนึ่งที่เป็นความท้าทายคือความเป็นธุรกิจ เนื่องจากโมเดลของสื่อไม่เหมือนกับสินค้าหรือบริการทั่วไปที่พัฒนาคุณภาพสินค้าให้ลูกค้าชื่นชอบจึงจะขายสินค้าได้ แต่ความยากของสื่ออยู่ที่รายได้ของธุรกิจไม่ได้มาจากผู้อ่านแต่มาจากแบรนด์หรือภาครัฐที่เข้ามาสปอนเซอร์แทน ทั้งการแข่งขันและการ Disruption ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดการร่วมมือ (Collaboration) ระหว่างสื่อใหญ่เป็นทั้งการแข่งกันและร่วมมือกันในบางจุด โดยทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้การสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้กับสังคมด้วยจึงจะนิยามว่าตนเป็นสื่อมวลชนหรือธุรกิจสื่ออย่างแท้จริง

ระบบนิเวศสื่อในปัจจุบัน

ในขณะที่ อิสริยะ กล่าวว่า ในยุคก่อนการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย อุตสาหกรรมสื่อได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ คอนเทนต์ (Content) และช่องทางการกระจายเนื้อหา (Distribution) โดยช่องทางการกระจายถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันของสื่อแต่ละประเภท

ยกตัวอย่างเช่น สื่อสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่อย่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้รับประโยชน์จากระบบการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง ขณะที่สื่อวิทยุและโทรทัศน์ก็ได้รับสิทธิพิเศษผูกขาดจากระบบสัมปทาน ซึ่งผู้ครองช่องรายการหรือคลื่นความถี่ที่มีความนิยมสูงย่อมได้เปรียบในการแข่งขัน

อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดด้านช่องทางการกระจายเนื้อหาได้ค่อย ๆ ลดน้อยถอยลงภายใต้ความไร้ขีดจำกัดของอินเทอร์เน็ต ในปัจจุบันสื่อต่าง ๆ จำเป็นต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Facebook, Instagram, YouTube, TikTok เป็นต้น มากกว่าการใช้ช่องทางการกระจายเนื้อหาแบบเดิม

ในอดีตสื่อบางประเภท โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักมีลักษณะกึ่งผูกขาดการควบคุมช่องทางการกระจายเนื้อหา (Distribution) ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ควบคุมระบบการจัดจำหน่าย หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่ได้รับสัมปทานให้ครอบครองคลื่นความถี่และช่องรายการจำนวนมาก การถือครองช่องทางการปล่อยเนื้อหาเหล่านี้เท่ากับเป็นการควบคุมจุดเข้าถึงผู้รับสารได้เกือบทั้งหมด จึงทำให้สื่อเหล่านั้นมีอำนาจผูกขาดในการนำเสนอเนื้อหาไปสู่กลุ่มผู้รับชมจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม เมื่ออินเทอร์เน็ตแพร่หลายมากขึ้น การผูกขาดช่องทางกระจายเนื้อหาแบบเดิมก็เริ่มถดถอยลง เนื่องจากผู้รับสารสามารถเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ ได้จากหลากหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้สื่ากระแสหลักเสียอำนาจการควบคุมช่องทางการปล่อยเนื้อหาไปโดยปริยาย

เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนได้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตเนื้อหาหรือเป็น “สื่อ” ได้โดยง่าย เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ก็สามารถสร้างและเผยแพร่คอนเทนต์ออกสู่สายตาสาธารณะได้ทันที ในขณะที่จำนวนผู้ผลิตเนื้อหาเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ปริมาณผู้เสพสื่อหรือเวลาที่ใช้ในการรับชมสื่อยังคงเท่าเดิมหรืออาจเพิ่มขึ้นไม่มากนัก นั่นจึงนำไปสู่การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างสื่อต่าง ๆ ในการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดให้ผู้รับชมใช้เวลาอยู่กับสื่อของตนเองมากขึ้น

นอกจากนี้ ด้วยการมีผู้ผลิตจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ แพลตฟอร์มออนไลน์จึงต้องใช้อัลกอริทึมเพื่อจัดการเนื้อหาและกลั่นกรองคอนเทนต์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้แต่ละราย ส่งผลให้เกิดเกมการแข่งขันใหม่ ๆ ในการสร้างเนื้อหาให้อัลกอริธึมเหล่านั้นสนใจ

โดยสรุปแล้ว การที่ผู้ผลิตสื่อเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล แต่ผู้รับสื่อมีจำกัด นำไปสู่การแข่งขันด้านคอนเทนต์และอัลกอริธึมของแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ ส่งผลให้เกิดความท้าทายและรูปแบบการทำสื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ

ด้าน ช้างน้อย แบ่งปันประสบการณ์ในมุมของสื่อในยุคเปลี่ยนผ่านว่า ยุคก่อนหน้าที่สื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อหลัก ค่าใช้จ่ายหลักของการผลิตนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรกองบรรณาธิการ ในการคัดสรร เรียบเรียง และจัดทำเนื้อหา และค่าใช้จ่ายด้านโรงพิมพ์ ในการพิมพ์และจัดจำหน่าย แต่เมื่อสื่อหันมาทำธุรกิจบนโลกออนไลน์มากขึ้น ค่าใช้จ่ายในส่วนของโรงพิมพ์และการจัดจำหน่ายก็หายไป แต่แทนที่ด้วยค่าใช้จ่ายใหม่เพื่อให้คอนเทนต์ปรากฏบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น การลงโฆษณากับ Google, Facebook เพื่อให้เนื้อหาถูกพบเจอง่ายขึ้น

นอกจากนี้ รายได้ของสื่อออนไลน์ก็เปลี่ยนจากเดิมที่พึ่งพารายได้จากการขายฉบับเป็นหลัก มาเป็นรายได้จากการโฆษณาดิจิทัล บอกรับสมาชิก และรูปแบบรายได้ใหม่ ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลทำให้โมเดลรายได้และค่าใช้จ่ายของธุรกิจสื่อมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก ทำให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการสื่อในปัจจุบัน

“ผมอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านจากนิตยสารมาสู่ออนไลน์ เห็นความเปลี่ยนแปลงของรายได้และโมเดลของธุรกิจในวงการสื่อมีความหลากหลายมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่สั้นลงโลกเรานั้นกลับไปกลับมาส่งผลให้โมเดลของธุรกิจสื่อมวลชนก็เปลี่ยนแปลงไป สัดส่วนรายได้ รายจ่าย แต่ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรสิ่งที่จะเพิ่มคุณค่าให้กับวงการสื่อได้คือ “Branding” เพราะแบรนด์มีความเป็นมนุษย์ที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับผู้อ่านหรือสังคมได้”

The Cloud มีลักษณะหลักอยู่ 3 ประการ

  1. ต้องหายาก เป็นลักษณะที่หาผู้อื่นมาทดแทนไม่ได้มีความ Limited
  2. ต้องมีอยู่อย่างจำกัด ปริมาณเพียงพอ เหมาะสมกับฐานผู้บริโภค
  3. มีคุณค่า เพราะสื่อมีหน้าที่ชี้นำสังคม ยิ่งมีคุณค่าและหาได้ยากจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้

ในอดีตรายได้หลักของสื่อส่วนใหญ่มาจากการขายพื้นที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้กับแบรนด์ต่างๆ เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน แหล่งที่มาของรายได้ของสื่อมีความหลากหลายมากขึ้น ประกอบด้วย

  • รายได้จากการให้พื้นที่โฆษณา ประชาสัมพันธ์แก่แบรนด์ต่าง ๆ (Traditional Media)
  • รายได้จากการจัดกิจกรรมหรืองานอีเวนต์พิเศษ
  • รายได้จากการขายสินค้า สื่อ หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักสื่อนั้น ๆ
  • รายได้จากการให้บริการด้านอื่น ๆ เช่น ที่ปรึกษา การผลิตคอนเทนต์ให้แบรนด์ เป็นต้น

การมีรูปแบบรายได้ที่หลากหลายช่องทางเช่นนี้ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ และเพิ่มโอกาสในการทำรายได้ให้กับสื่อในยุคปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง

อย่างไรก็ตาม ก็นำมาซึ่งความท้าทายในการบริหารจัดการช่องทางรายได้ที่มีความซับซ้อนและดิ้นรนมากกว่าแต่ก่อน ผู้ประกอบการสื่อต้องวางกลยุทธ์และรักษาสมดุลของรายได้แต่ละช่องทางได้อย่างเหมาะสม

จิรเดช กล่าวว่า คอนเทนต์นั้นเปรียบเสมือนหัวใจหลักของสื่อ แต่การที่สื่อจะประสบความสำเร็จในระยะยาวนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย เช่น การสร้างแบรนด์ (Branding) ที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ จะทำให้ผู้รับสารสามารถจดจำและเข้าใจตัวตนของสื่อได้ง่ายขึ้น สร้างความผูกพันและภักดีต่อสื่อ รูปแบบการนำเสนอเนื้อหา (Content Presentation) ต้องสอดคล้องกับแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน

“ความตั้งใจของเราคือการผลิตสื่ออย่างปราณีต แต่ในความเป็นจริงแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีลักษณะการสื่อสารของคอนเทนต์ไม่เหมือนกัน จะทำอย่างไรให้ผู้ชม ผู้อ่าน ผู้ดูสื่อของทำรับรู้และเข้าใจเอกลักษณ์และตัวตนของสื่อเรานั้นสำคัญกว่า กล่าวได้ว่า Branding จะเข้ามากำหนดคอนเซ็ปต์ภาพรวม และเข้ามาห่อหุ้มคอนเทนต์ให้ดำเนินไปตามภาพใหญ่ที่วางไว้”

ดังนั้น แนวคิดเรื่อง Branding จึงมีความสำคัญมาก ในการกำหนดกรอบและภาพรวมของสื่อ สร้างเอกลักษณ์โดดเด่น ก่อนจะนำคอนเทนต์ที่ผลิตมาร้อยเรียงและนำเสนอให้สอดคล้องกับแบรนด์และภาพลักษณ์ที่วางไว้ ช่วยให้ผู้รับสารเข้าใจและจดจำสื่อได้ง่ายขึ้น การผสมผสานทั้งคอนเทนต์และองค์ประกอบอื่น ๆ อย่างสมดุล น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สื่อสามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จในฐานะธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้

โมเดลรายได้ของสื่อ

  • Advertising หรือการรับโฆษณา เป็นรายได้หลักของสื่อส่วนใหญ่
  • การจัดอีเวนท์ โดยอาศัยแบรนด์และฐานผู้ติดตามเป้าหมาย แบ่งเป็นการหาสปอนเซอร์และการขายบัตรเข้างาน
  • Commerce หรือการขายสินค้า เช่น หนังสือ นิตยสาร หรือสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับแบรนด์สื่อนั้น ๆ
  • Subscription รายได้จากการบอกรับสมาชิกเพื่อรับชมเนื้อหาพิเศษ ซึ่งยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย

“คุณค่า” จะเป็นฟันเฟืองสำคัญ

อิสริยะ กล่าวว่า การหาจุดขายที่โดดเด่นและชัดเจน (Value Proposition) นั้นเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับสื่อในยุคนี้ สื่อต้องสามารถวางตำแหน่ง (Positioning) และสร้างเอกลักษณ์ (Identity) ที่แตกต่างและโดดเด่น ทำให้ผู้รับสารรับรู้ถึงคุณค่า บุคลิกภาพ และวัตถุประสงค์ขององค์กรสื่อได้อย่างชัดเจน การมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนจะช่วยสร้างความผูกพันและรู้สึกร่วมไปกับสื่อนั้น ๆ เสมือนเป็นการมี “บุคลิกภาพ” ให้ผู้รับสารรับรู้และเลือกเสพสื่อได้ตรงตามความต้องการของตน

สิ่งสำคัญคือสื่อต้องมีโมเดลธุรกิจที่สร้างประโยชน์และคุณค่าให้แก่สังคมควบคู่ไปด้วย การสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพและสร้างประโยชน์ให้ผู้รับสารจะทำให้สื่อนั้นกลายเป็นสื่อที่มีคุณค่าและได้รับความนิยมยิ่งขึ้น

“ปัจจัยสำคัญสำหรับความอยู่รอดของสื่อในปัจจุบันคือ การสร้างจุดขายและเอกลักษณ์ที่แตกต่างโดดเด่น เพื่อให้ผู้รับสารรับรู้ถึงบุคลิกภาพขององค์กร ประกอบกับการสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมผ่านคอนเทนต์คุณภาพและโมเดลธุรกิจที่ดี จะนำไปสู่การเป็นสื่อที่มีคุณค่าและได้รับความนิยมอย่างยั่งยืน”

ช้างน้อย กล่าวเสริมว่า นอกจากต้องดำเนินงานในฐานะสื่อมวลชนและนักธุรกิจให้อยู่ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ต้องไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป รักษาสมดุลด้านการทำงานที่มีคุณภาพ คอนเทนต์ทุกคอนเทนต์ต้องสร้างอย่างตั้งใจในการมอบคุณค่าให้กับผู้อ่าน ไม่เห็นแก่ค่าของเงินที่มาจ้าง เขียนทุกงานอย่างภาคภูมิใจ

คุณภาพของคอนเทนต์เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด (Content is King) แต่ช่องทางการนำเสนอและวิธีการเล่าเรื่องก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน (Media is Queen) การเลือกช่องทางและรูปแบบการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ หลากหลาย เพื่อดึงดูดและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้อ่าน จังหวะเวลาในการนำเสนอคอนเทนต์ให้ตรงกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้รับสารมีความสำคัญมาก (Timing is God) การผสมผสานทั้งคุณภาพคอนเทนต์ การสื่อสารที่น่าสนใจ การจังหวะเวลาที่ถูกต้อง จะนำไปสู่ความสำเร็จและความยั่งยืนของสื่อในระยะยาว

“ความสำเร็จของสำนักสื่อก็มาจากหลายองค์ประกอบทั้งกองบรรณาธิการ พนักงานทุกคน เหล่าพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ในวงการที่คอยช่วยเหลือพึ่งพา และที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มผู้อ่านที่รักในผลงานของสื่อนั้น ๆ”

จิรเดช ให้มองอีกมุมว่า นอกจากการสร้างคุณค่าให้กับผู้อ่านและสังคม การสร้างให้สื่อตนเองสามารถอยู่รอดในระยะยาวก็เป็นสิ่งคำคัญ หากสื่อสามารถสร้างเอกลักษณ์และคอนเทนต์ที่มีคุณค่าได้อย่างชัดเจน จนเกิดกลุ่มผู้ติดตามที่ภักดี การสร้างเอกลักษณ์และคุณค่าของคอนเทนต์ให้โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การเขียน งานภาพ หรือรูปแบบการนำเสนอ เพื่อดึงดูดนายทุนและแบรนด์ให้เข้ามาลงโฆษณา เมื่อมีรายได้และฐานผู้ติดตามเบื้องต้นแล้ว จึงเริ่มสร้างแบรนดิ้งที่เข้มแข็งเพื่อขยายฐานผู้อ่านและสร้างคอมมูนิตี้ที่ภักดีต่อสื่อ เมื่อมีคอมมูนิตี้แฟนประจำที่รักและซื้อผลงานของสื่ออย่างต่อเนื่อง จะเป็นการสร้างความยั่งยืนทางรายได้แบบระยะยาว

“หากสร้างกลุ่มผู้อ่านที่รักในคอนเทนต์ของสื่อเราได้ จะทำให้สำนักสื่อนั้น ๆ เติบโตอย่างยั่งยืน”

กล่าวได้ว่า การเป็นสื่อควรเริ่มจากการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าตั้งสื่อมาเพื่อเป็นสื่อมวลชนที่ดีหรือเป็นธุรกิจสื่อที่ดำรงอยู่รอดไป พร้อมกับการสร้างคุณค่าที่ดีให้กับสังคม หากที่เป้าหมายที่แน่ชัดจะทำให้ควบคุมจัดการวางโมเดลทางธุรกิจได้ดีมากขึ้น และอาจใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณค่าคอนเทนต์ให้ตรงกับความชอบของกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

ใคร ๆ ก็ทำธุรกิจสื่อได้?

อิสริยะ กล่าวว่า สื่อประเภทอื่น ๆ เช่น สื่อการเมืองหรือสื่อด้านอาชญากรรม มีรูปแบบการสร้างรายได้แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม สื่อธุรกิจถือเป็นประเภทที่ใกล้ชิดกับแนวทางเชิงพาณิชย์มากที่สุด อันที่จริงในประเทศไทยยังขาดตลาดเฉพาะด้านที่มีกำลังซื้อเพียงพอสำหรับการสร้างกลุ่มผู้อ่านที่มีความสนใจเฉพาะทางในข่าวบางประเภท ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาสื่อเฉพาะด้านนอกเหนือจากสื่อธุรกิจ

ช้างน้อย กล่าวว่า The Cloud เริ่มจากสื่อไลฟ์สไตล์ที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร แต่สร้างคุณค่าให้ห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการทำคอนเทนต์ที่ดี จนธุรกิจต่างๆ เริ่มสนใจและเห็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่รายได้ นอกจากนี้ ขนาดองค์กรก็มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจสื่อ คือ มีขนาดที่เหมาะสมและเอาอยู่

จิรเดช เสริมว่า การหาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเองเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ต้องวิเคราะห์จุดแข็ง จุดเด่นของสื่อ เพื่อเลือกรูปแบบที่เหมาะสม การเลือกช่องทางการสื่อสารที่ถูกต้องให้เหมาะกับคอนเทนต์ เช่น พอดแคสต์สำหรับเนื้อหาบางประเภท เป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด การสร้างฐานแฟนคลับที่แข็งแรง ซึ่งเข้าใจตัวตนและเอกลักษณ์ของสื่อ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดแบรนด์เข้ามาสนับสนุน และการต่อยอดคอนเทนต์ไปสู่รูปแบบอื่น ๆ เช่น งานอีเวนต์ หนังสือ เพื่อสร้างรายได้เสริม

การวางโครงสร้างค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน บุคลากร และการเงินให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ หลักการสำคัญ คือ “การปรับตัวที่ดีคืออย่ายึดติดในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ และอย่าเปลี่ยนในสิ่งที่ควรยึดถือ” เปิดรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์เพื่อความราบรื่นของธุรกิจ แต่ยึดมั่นในสิ่งสำคัญ เช่น จิตวิญญาณ จุดยืน และเอกลักษณ์ของคอนเทนต์

แม้รูปแบบการสื่อสารอาจเปลี่ยนแปลงไป แต่ต้องคงไว้ซึ่งแก่นสารหลักและสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไป เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของสื่อ เมื่อสามารถคงความเชื่อมั่นจากผู้อ่านได้ จะทำให้สื่อกลายเป็นตัวตนที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต

“ต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว แต่ยังคงยึดมั่นในหลักการและจิตวิญญาณที่สำคัญของสื่อ เพื่อความยั่งยืนและความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภคในระยะยาว”

อิสริยะ กล่าวว่า ยังไม่มีนวัตกรรมใดที่สามารถเปลี่ยนแปลงวงการสื่อได้อย่างสิ้นเชิง แต่สื่อจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่มผู้อ่าน/ผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แม้นวัตกรรมบางอย่างอาจเข้ามาช่วยสนับสนุน ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือคอนเทนต์ยังคงต้องออกแบบมาเพื่อตอบสนองผู้อ่าน/ผู้ชม และสะท้อนแบรนด์ของสื่อนั้น ๆ

นอกเหนือจากนวัตกรรมแล้ว การร่วมมือกัน (Collaboration) ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้สื่อสามารถพัฒนาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและการแบ่งปันทรัพยากรเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค การร่วมมือระหว่างสื่อหรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ จึงถือเป็นรูปแบบนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ใครฆ่าคุณค่าข่าว? ข่าวไร้คุณค่าฆ่าสังคม?

ถามหา “มาตรฐานจริยธรรม” และ “ความรับผิดชอบ” ของสื่อที่รายงานข่าวแบบดราม่า 

บยสส.รุ่น 3 เปิดเวทีสัมมนา สะท้อนมุมมองผู้มีความหลากหลายทางเพศสู่สาธารณะ หวังสังคมให้ความเคารพ ลดการเหลื่อมล้ำ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ