TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeใครฆ่าคุณค่าข่าว? ข่าวไร้คุณค่าฆ่าสังคม?

ใครฆ่าคุณค่าข่าว? ข่าวไร้คุณค่าฆ่าสังคม?

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างช่องทางสื่อสารที่เปิดกว้าง และเปิดทางให้ทุกคนสามารถเลือกเสพ หรือเป็นผู้ผลิตสื่อผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อใคร ๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้จึงเกิดปรากฎการณ์การนำเสนอข่าวหรือคอนเทนต์บนสื่อออนไลน์ที่ยากต่อการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือจริยธรรมสื่ออย่างที่ควรเป็น อาทิ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มุ่งความบันเทิง เน้นความตื่นเต้นเร้าอารมณ์ วางคุณค่าข่าวไว้กับความเป็นดราม่าเพื่อเรียกเรตติ้ง ยอดการมองเห็น ยอดจำนวนผู้ชมที่มีส่วนร่วมหรือตอบสนองต่อโพสต์ข่าวนั้น ๆ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงโฆษณาของแบรนด์ ที่น่าตั้งคำถามคือ ทำไมสื่อมวลชนกระแสหลักจึงปรับตัวตามสื่อออนไลน์เพื่อให้แข่งขันได้ จนไปถึงการเสนอข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือนเกลื่อนพื้นที่สังคมออนไลน์

คุณสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตกรรมการนโยบายและอดีตผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส เปรียบเทียบการนำเสนอคอนเทนต์บนหน้าสื่อทุกวันนี้ว่าไม่ต่างจากการบริโภคอาหารที่ผิดอย. คือบริโภคแล้วท้องเสีย แต่ยังบริโภคต่อไปเพราะว่ารสชาติอร่อย การนำเสนอข่าวของสื่อก็เช่นกัน ที่อ้างว่าทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่จริง ๆ แล้วประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากข่าวนั้นมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก หน่วยงานที่รับผิดชอบก็นิ่งเฉย ไม่ตรวจตราดูแล ปล่อยให้สังคมบริโภคคอนเทนต์ที่เป็นพิษสะสมไปเรื่อย ๆ เพราะติดใจรสชาติจัดจ้าน แต่สุขภาพของผู้บริโภคเสื่อมลง และไม่ใช่แค่ความเสื่อมของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความเสื่อมของสุขภาพสังคมโดยรวม ทั้งนี้เป็นเพราะไม่มีใครเตือนว่าการบริโภคคอนเทนต์ที่ด้อยคุณภาพไปนาน ๆ จะทำให้กระบวนการทางความคิด กระบวนการทางตรรกะผิดเพี้ยนไปหมด ส่วนผู้ผลิตและขายคอนเทนต์ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะรวยไปแล้ว 

“ก่อนจะถามว่ามีคุณค่าข่าวไหม ต้องแยกแยะก่อนว่าสิ่งที่นำเสนออยู่นั้นเป็นข่าวหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ข่าวก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องคุณค่าข่าว ตัวอย่างกรณีข่าวลุงพล และข่าวอื่น ๆ ที่วนเวียนในสื่อสังคมออนไลน์และบนสื่อกระแสหลัก หลายครั้งไม่ใช่ข่าว”

ข่าวคือ “ความถูกต้อง” และ “ข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้”

คุณสมชัย กล่าวว่า คำจำกัดความของคอนเทนต์ประเภทข่าวประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ “Accuracy” การนำเสนอที่มีความถูกต้องเที่ยงตรงต่อประเด็นที่เกิดขึ้นและ“Verifying Fact” ข้อมูลที่เป็นข่าวต้องพิสูจน์ตรวจสอบได้ว่าเป็นความจริงเป็นข้อเท็จจริง 

แต่คอนเทนต์ที่ปรากฎตามแพลตฟอร์มสื่อต่าง ๆ ซึ่งผสมความเป็นดราม่าเข้าไป ไม่ใช่ทั้งข่าวและไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ (Comment) เป็นจำนวนมาก อาทิ ความคิดเห็นของคนที่ไม่รู้จริงแต่อยากแสดงความคิดเห็น ความคิดเห็นของผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องยึดโยงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเข้าข้างกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การคาดเดาไปต่าง ๆ นานา (Speculative) ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริง หรือ ความคิดเห็น เช่น ในข่าวแนววิถีเหนือธรรมชาติที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาตร์ 

ดังนั้น เมื่อเอาหลักความเป็นข่าวไปจับคอนเทนต์ใน(บาง)สื่อกระแสหลักหรือสื่อสังคมออนไลน์ จะพบว่ามีจำนวนมากเลยที่ไม่ใช่ข่าว แล้วจะวัดคุณค่าข่าวกันตรงไหน หรือถึงเป็นข่าวตามนิยามแล้ว ก็ยังต้องผ่านขั้นตอนการจัดลำดับคุณค่าข่าว ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของกองบรรณาธิการ หรือบรรณาธิการอาวุโสในการพิจารณาว่า สมควรนำเสนอสู่สาธารณะหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ยังคงเป็นข้อต่อสู้กันมาตลอดคือการแยกแยะว่าข่าวใดเป็นประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) ที่กระทบต่อผู้คนจำนวนมากข่าวใดเป็นเพียงความสนใจใคร่รู้ส่วนบุคคลหรือเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (Human Interest) หรือบางครั้งเรื่องราวแบบ Human Interest อาจกลายเป็น Public Interest ได้ จึงเป็นหน้าที่ของบรรณาธิการอาวุโสอีกเช่นกัน หากต้องการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ในฐานะความเป็นสื่อคุณภาพ จะต้องระแวดระวังในการพิจารณาว่า อะไรคือข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ อะไรเป็นเพียงความสนใจของคนเฉพาะกลุ่ม เพื่อแยกแยะสิ่งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวออกจากกัน  

“นิยามความเป็นข่าวในประเทศไทยถูกใช้อย่างผิดเพี้ยนและไม่ถูกต้อง สิ่งที่คุยกันทางหน้าจอทีวีหรือบนสื่อสังคมออนไลน์ หลายครั้งไม่สามารถพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงได้ เป็นเพียงการคาดเดา ให้ความเห็น และถึงแม้การแสดงความคิดเห็นของคนบางคนเป็นข่าวได้ เช่น กรณีข่าวอาชญากรรม ความเห็นของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อัยการ ทนายความฝ่ายจำเลย เป็นข่าวได้ แต่จะให้จำเลยมาพูดออกสื่อไม่ได้” คุณสมชัย กล่าว  

ในประเทศอังกฤษ ยุโรป สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์หรือคอนเทนต์ที่ปรากฎในสื่อกระแสหลักหรือสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะช่าวอาชญากรรมที่มีประชาชนสนใจจำนวนมาก การไต่สวนคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งยึดหลักอ้างอิงผลทางนิติเวช การสอบสวนที่มีความหลากหลายและเป็นมืออาชีพ จะมีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะ เช่น “Perverting the course of justice” ของประเทศอังกฤษ หรือ “Obstruction of justice” ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อกำกับดูแลการทำงานของสื่อไม่ให้ไปยุ่งเหยิงหรือเบี่ยงเบนกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนป้องปรามการรายงานข่าวของสื่อมวลชนที่อาจทำให้รูปคดีบิดเบี้ยว สังคมเกิดความเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม 

ยกตัวอย่าง คดีแม่ลูกหนึ่งจมน้ำตายในอังกฤษ ปกติสื่อมวลชนจะรายงานสถานการณ์ข่าวพื้น ๆ โดยทั่วไป แต่จะมีกลุ่มยูทูบเบอร์และสื่อสังคมออนไลน์เริ่มไปรายงาน ณ ที่เกิดเหตุ บรรยายเรื่องราวให้เกิดปมดราม่าต่าง ๆ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเตือนให้ยุติ ไม่เช่นนั้นจะโดนคดีไปยุ่งเหยิงกระบวนการไต่สวนของตำรวจ

นอกจากนี้ ในประเทศอังกฤษยังมีหน่วยงานกำกับดูแลสื่อวิทยุโทรทัศน์ เรียกว่า Ofcom เปรียบได้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ของไทย ซึ่งวางแนวทางการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมตามหลักของกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย ตำรวจ อัยการ เจ้าหน้าที่นิติเวช ทนายความฝ่ายจำเลย เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปตามครรลองที่ถูกต้อง ไม่มีกระแสกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสังคมส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น จากญาติพี่น้องของผู้เสียหายหรือผู้ตาย จากญาติพี่น้องของจำเลย 

ดังนั้น สื่อมวลชนในอังกฤษจะไม่สัมภาษณ์ญาติพี่น้องหรือบุคคลใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีแต่อ้างว่ารู้เห็นเหตุการณ์ขณะที่พยานซึ่งเห็นเหตุการณ์ต้องไปให้การกับตำรวจไม่ใช่มาให้การกับสื่อมวลชนไม่เช่นนั้นพยานคนนั้นอาจโดนคดีและสื่อมวลชนจะโดนข้อหา Perverting the course of justice ไปด้วย 

“ซึ่งต่างจากการรายงานข่าวอาชญากรรมของสื่อมวลชนไทยที่ค่อนข้างเลอะเทอะเปรอะเปื้อน มีความเป็นดราม่าสูง เข้าใจว่า กสทช. ไทย น่าจะมีกรอบควบคุมการนำเสนอข่าวอาชญากรรม เพียงแต่ปฏิบัติได้ตามขั้นตอนหรือไม่”​ คุณสมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม คุณสมชัย กล่าวว่า เป็นความลำบากใจในการนำเสนอความคิดเรื่องการออกกฎหมายป้องกันความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเกิดโดยการกระทำของใคร เพราะที่ผ่านมา ความเป็นมืออาชีพของตำรวจหรือสื่อมวลชนก็มีปัญหาอยู่เหมือนกัน เช่น มีทั้งสื่อคุณภาพซึ่งสามารถเปิดโปงกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวโดยสุจริต และสื่อที่ตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมโดยรับวาระจากใครบางคน เพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว หรือมีผลต่อความไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรม และความเป็นมืออาชีพของตำรวจ

ที่ผ่านมามีกระบวนการขับเคลื่อนให้มีกฎหมายควบคุมเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เกิดหน่วยงานกสทช. มาทำหน้าที่กำกับดูแล แต่เมื่อมีสื่อสังคมออนไลน์เกิดขึ้น กลับยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานใดในการกำกับดูแลสื่อเหล่านี้ ซึ่งได้ประโยชน์จากการขายโฆษณาเช่นกัน ดังนั้น การเคลื่อนไหวผ่านพรรคการเมืองเพื่อให้มีมาตรการทางกฎหมายมาจัดการกับแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมที่ดีงาม ถือเป็นสิ่งใหม่ ขนาดในประเทศอังกฤษยังต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมในการคุ้มครองผู้เยาว์ เมื่อพบแพลตฟอร์มออนไลน์ที่นำเสนอคอนเทนต์ไม่เหมาะสม จะโดนกฎหมายเล่นงานตรงไปที่ตัวแพลตฟอร์ม เช่น ยูทูบ เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ให้ต้องถอดคอนเทนต์นั้นออกไป 

“ถึงจะยังไม่รู้ว่า การออกกฎหมายเหล่านี้มาจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถือว่ายังดีที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อเริ่มต้นอะไรบางอย่าง เป็นการต่อจิ๊กซอว์ให้แต่ละองค์กรมีกระบวนการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น”

การลงโทษโดยผู้บริโภคสื่อเมื่อกฎหมายยังเอื้อมไมถึง

แม้ในประเทศอังกฤษมี Ofcom ประเทศไทยมีกสทช. ในการกำกับดูแลการทำงานของสื่อ แต่ก็ครอบคลุมเฉพะสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะ แต่ยังขาดกลไกในการตรวจสอบดูแลสื่อประเภทอื่น เช่น สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่มีองค์กรใดมารวบรวมและกำหนดมาตรฐานจริยธรรมร่วมกัน ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิทัล ก็มีแค่กฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เป็นเครื่องมือกำกับ หรือเป็นเพียงสมาคมสื่อที่ตั้งขึ้นมากำกับดูแลกันเอง ดังนั้น สิ่งที่เห็นว่าเกิดขึ้นได้จริงจังพอประมาณแม้จะไม่เกิดผล 100% คือ “การกำหนดมาตรการลงโทษโดยสังคมหรือผู้บริโภคสื่อ (Social Sanction หรือ Consumer Sanction)”

ตัวอย่างบรรดาสื่อสิ่งพิมพ์หัวสี สื่อแทบลอยด์ในอังกฤษที่นิยมลงข่าวหวือหวาจนขาดมาตรฐานจริยธรรมความเป็นสื่อ สร้างความเสียหายกับเหยื่ออาชญากรรม สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ได้อยู่ในกำกับดูแลของ Ofcom หรือตัวสื่อมวลชนเองที่ได้ประโยชน์จาการขายขยะออกมาทางหน้าสื่อสิ่งพิมพ์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ สมาคมผู้บริโภคจะรวมตัวกันอย่างแข็งขันเพื่อรณรงค์กิจกรรมการรณรงค์ที่มีเป้าเด่นชัด (high profile, targeted campaign) โดยพุ่งเป้าไปที่แบรนด์ดัง หรือผู้โฆษณารายใหญ่ กดดันให้ยุติการลงโฆษณาสนับสนุนแพลตฟอร์มข่าวที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือสื่อที่อ้างว่าเป็นสื่อมวลชนแต่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานความเป็นสื่อ หากยังดื้อดึงเพียงเพื่อต้องการกระแสเรตติ้ง ผู้บริโภคจะหยุดซื้อสินค้าและบริการขององค์กรนั้น ๆ เพื่อให้ยอดขายตก ชื่อเสียงของแบรนด์เริ่มเสียหายจนต้องค่อย ๆ ทยอยถอดโฆษณาออกจากสื่อ กระทั่งสื่อต้องเปลี่ยนพฤติกรรม หรือเลิกกิจการไปในที่สุด

“เหตุที่ขบวนการ high profile, targeted campaign เลือกรณรงค์กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ซื้อสื่อโฆษณาซึ่งถือแบรนด์ดัง ๆ ธุรกิจยักษ์ใหญ่ เช่น บริษัทรถยนต์ สายการบิน ห้างค้าปลีก แทนที่จะเป็นสื่อมวลชนโดยตรง เพราะรู้ดีว่าสื่อบางรายไม่สนใจอยู่แล้วเนื่องจากเรตติ้งสูง การเล็งเป้าไปที่ผู้ซื้อสื่อโฆษณา ซึ่งต้องระวังเรื่องมูลค่าของแบรนด์ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ หากเกิดความเสียหายจะทบทวนว่า การลงโฆษณาต่อไปจะคุ้มไหม ทั้งหมดต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรและต้องทำไปเรื่อย ๆ จึงจะเห็นผลสำเร็จในการใช้มาตรการทางสังคมควบคุมสื่อ”

คุณสมชัย กล่าวว่า การคาดหวังการกำกับดูแลแค่เฉพาะจากภาครัฐ หรือสมาคมสื่ออาจเป็นได้ยาก แต่หากผู้บริโภคลองเริ่มต้นทำ high profile, targeted campaign ทำนองนี้ไปเรื่อย ๆ โดยร่วมกับสมาคมผู้บริโภค มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ต่อต้านสื่อที่ทำข่าวที่ไม่มีคุณค่ามาขาย ผลิตคอนเทนต์ที่สร้างความสับสนยุ่งเหยิงกับสังคม ก็น่าจะได้ผลเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่น 

รวมไปถึงการทำงานควบคู่ไปกับสื่อมวลชนน้ำดี เพื่อจุดประเด็นล็อบบี้พรรรคการเมืองให้ออกกฎหมายป้องกันการเข้าไปยุ่งเหยิงกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ perverting หรือ obstruction ก็ได้ ขณะเดียวกันสื่อมวลชนที่ต้องการให้คุณภาพวงการสื่อดีขึ้น อาจจุดประกายเรียกร้องหาเพื่อนร่วมวิชาชีพมาร่วมดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน แม้ว่าจะยังมีสื่อที่ออกนอกลู่นอกทาง และได้ประโยชน์จากการขายเรตติ้งอยู่ก็ตาม 

ทักษะการรู้เท่าทันสื่อเป็นเรื่องจำเป็น

คุณสมชัย กล่าวว่า การสอนสังคมให้รู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) เป็นเรื่องต้องใช้เวลาพอสมควร เท่าที่สังเกตดูจากสื่อสังคมออนไลน์ เวลามีข่าวหรือคอนเทนต์ข่าวที่ขายความเป็นดราม่า มันยากที่จะชี้ประเด็นให้สังคมเรียนรู้และเท่าทัน ซึ่งอาจจะไม่สำเร็จด้วย แต่ถ้าเริ่มจากทำมาตรการลงโทษทางสังคมให้สำเร็จสักหนึ่งแคมเปญ จะเกิดโดมิโนกระทบไปส่วนอื่นได้ 

“หลายครั้งเวลาผมเห็นข่าวที่ลงในสื่อสังคมออนไลน์หรือกลุ่มไลน์ที่มีเยอะแยะไปหมด พอเปิดดูก็รู้ว่าบางเรื่องเป็นการชวนเชื่อ (Propaganda) ที่ถูกชี้นำมาแล้ว เช่น ด้านการเมืองบ้าง ด้านสังคมบ้าง คนอ่านก็เชื่อแล้วคล้อยตาม เพราะวิธีการเขียนค่อนข้างเป็นมืออาชีพ พอเราไปตั้งคำถามว่าคอนเทนต์นี้มาจากไหน ก็ถูกตำหนิว่าทำไมต้องตั้งคำถาม หรือถ้าไปให้ความเห็นอะไรที่แตกต่างออกไปบนสื่อสังคมออนไลน์ จะมีคนมาทะเลาะกับเรา”  

คุณสมชัย แนะว่าการรู้เท่าทันสื่อที่สังคมทำได้เลยคือให้ความระมัดระวังในการเปิดรับและคอยตรวจสอบที่มาที่ไปของข่าวหรือแหล่งข่าวการตั้งคำถามกับข่าวหรือคอนเทนต์ที่ปล่อยมาลอยๆโดยไม่รู้ว่ามาจากไหนใครเป็นคนเขียนใครให้ข้อมูลเพื่อดูว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ถ้าเป็นข่าวที่มาจากสำนักข่าว อาทิ ซีเอ็นเอ็น บีบีซี อัลจาซีร่า อย่างน้อยก็มีหลักประกันในความเป็นแบรนด์ว่าข่าวหรือคอนเทนต์เหล่านี้ผ่านกระบวนการทางวารสารศาสตร์ในการตรวจสอบจากองค์กรสื่อ ส่วนกรณีแอบอ้างชื่อสำนักข่าวมาทำให้คอนเทนต์ของตัวเองน่าเชื่อถือ ก็ควรตรวจสอบข้อมูลกับเว็บไซต์สำนักข่าวว่านำเสนอข่าวนี้ออกไปจริงหรือไม่

“คนยุคเบบี้บูมเมอร์อย่างผมอายุ 60-70 ปี ที่เชื่อโดยไม่ตรวจสอบก็มี เยอะมากด้วย ทั้งที่ควรต้องระแวดระวัง แล้วการไปสอนให้คนปูนนี้เข้าใจเรื่องการรู้เท่าทันสื่อนั้นยาก เผอิญผมอยู่ในวงการสื่อจึงมีทักษะพอตรวจสอบได้ สามารถใช้ความเป็นมืออาชีพตรวจสอบคนที่นำเสนอคอนเทนต์แบบมีวาระได้ตามหลักมาตรฐานสากล แต่เพื่อนผมที่ไม่ได้อยู่วงการสื่อ จะระอาเวลาที่ผมพยายามบอกเขาเรื่อง Media Literacy เราจึงต้องสอนคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมาให้เรียนรู้ทักษะการตรวจสอบข่าว ไม่ใช่เฉพาะกับสื่อกระแสหลัก แต่รวมถึงการตรวจสอบข่าวที่มีมากมายเป็นร้อยเป็นพันบนสื่อสังคมออนไลน์ด้วย”   

คุณสมชัย สรุปสั้น ๆ อย่างน่าสนใจว่า “สื่อใดที่ไม่สามารถสร้างแบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือเป็นสื่อที่ไม่น่าเชื่อถือ” และขยายต่อว่าสื่อยักษ์ใหญ่สะสมความน่าเชื่อถือของแบรนด์มานานนับสิบ ๆ ปี ส่วนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ยูทูบเบอร์ หรือ อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งใช้ตัวเองเป็นแบรนด์ วันหนึ่งเมื่อทำผิดพลาด มีคนทักท้วงโต้แย้งจนเขาอยู่ไม่ได้ ก็ต้องปรับตัวให้อยู่ในร่องในรอย และสร้างความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น แต่เป็นเรื่องตลกร้ายที่มีคนจำนวนหนึ่งยังเลือกเชื่อถือสำนักข่าวซึ่งไม่เคยได้ยินชื่อนำคอนเทนต์ที่ไม่มีที่มาที่ไปมาบอกว่าเป็นความจริง 

“ผมเห็นอสมท ทำแคมเปญ “ชัวร์ก่อนแชร์” คือ ถ้ามีสื่อยักษ์ใหญ่ที่แบรนด์น่าเชื่อถือ ช่วยกันทำเรื่องนี้บ้างก็ดี อย่างบีบีซีเองก็ตั้งหน่วยงานชื่อ BBC Verify คอยตรวจสอบข่าวเฟคนิวส์ไม่ว่าจะมาจากสื่อใด จากนั้นนำมาลงในแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อให้ผู้อ่านตรวจสอบว่าข่าวที่บริโภคไปเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนและเชื่อไปแล้ว สุดท้ายไม่ใช่ข่าวจริง”

ทำอย่างไรเมื่อการสร้างคุณค่าข่าวต้องเผชิญกับการแข่งขันช่วงชิงเรตติ้ง

คุณสมชัย ให้ความเห็นว่า ต้องเริ่มจากจุดที่มีคนบ่นกันมากก่อน ซึ่งคือ ข่าวอาชญากรรม แต่ถามว่า ข่าวอื่นมีปัญหาไหม ก็มีปัญหาเหมือนกันหมด อย่างเวลาพูดเรื่องข่าวการเมือง จะมีประเด็นเรื่องพวกใครพวกมัน แต่พอเป็นข่าวอาชญากรรม สังคมคิดตรงกันว่า ยอมให้นำเสนอข่าวอาชญากรรมแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องหาแนวทางกำกับดูแล ทีนี้การจับปลาหลายมือก็อาจหลุดมือหมด ดังนั้น ต้องเริ่มแคมเปญจากจุดที่คนบ่นเยอะ จัดลำดับความสำคัญแล้วดูว่า ขับเคลื่อนไปได้แค่ไหน ซึ่งแค่การเคลื่อนไหวในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของดาราที่ไปอ่านข่าวหน้าจอ ผู้ประกาศข่าวหน้าจอ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ไม่ต้องนับถึงกลุ่มที่ไปรับวาระมาเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการกันต่อไป

ส่วนความอยู่รอดของสื่อในกลไกของระบอบทุนนิยม ซึ่งบังคับให้สื่อต้องสร้างเรตติ้งให้สูง มียอดการมอง ยอดเข้าชม หรือ Engagement มาก ๆ ทำให้โฆษณาเข้าก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เข้าไปดูจะเชื่อในคอนเทนต์ทั้งหมด อาจแค่ดูสนุก ผ่อนคลายไปวัน ๆ แล้วเรื่องแบบนี้ ไม่สามารถเอากฎหมายไปบังคับได้ ดีไม่ดีสื่อจะท้วงว่า ไปควบคุมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนเสียอีก แต่ถ้าเป็นมาตรการลงโทษทางสังคม จะเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่เราไม่บริโภคสินค้าคุณเพราะเราไม่ชอบคุณ

แม้จะยากอยู่สักหน่อยในการตามหาผู้ที่จะมานำประเด็นเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน แต่การขยับของหน่วยหนึ่งในสังคมที่มีเป้าประสงค์ชัดเจน มีความตั้งใจจริงอย่างชัดเจน แม้เป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ก็ขยายผลได้ คุณสมชัย เห็นว่าน่าจะเริ่มต้นจากสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีการขับเคลื่อนอยู่หลายโครงการ เช่น การเคลื่อนไหวต่อประเด็นการควบรวมค่ายมือถือ ตลอดจนมูลนิธิต่าง ๆ หรือ เอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ คุณภาพสื่อ มาตรฐานจริยธรรมสื่อ จะร่วมมือกันเป็นกลุ่มก้อน หรือต่างคนต่างทำก็ได้แต่ขอให้มีเป้าหมายเดียวกัน 

“เมื่อถึงจุดหนึ่งจะมีแรงกดดันกลับไปหาสื่อเอง หากสังคมมุ่งเป้าไปยังแพลตฟอร์มที่ถึงแม้จะมีโฆษณาเข้าเยอะ ๆ แต่นำข่าวหรือคอนเทนต์ดราม่าที่ไม่มีคุณค่ามาขาย แล้วทำแคมเปญบอยคอตสินค้าของบริษัทที่ไปลงโฆษณาในแพลตฟอร์มนั้นอย่างชัดเจน เปิดเผย ถึงเริ่มแรกจะไม่ได้ผล แต่ถ้าทำต่อไปเรื่อย ๆ ก็น่าจะได้ผลเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศอื่น ๆ ” คุณสมชาย กล่าวในที่สุด

ใคร ? กำหนดวาระการสื่อสารบนโลกออนไลน์

“ภูมิทัศน์สื่อ” กับ “การกำหนดวาระข่าวสาร” ของสังคมไทย

“กระแสบนออนไลน์” สะท้อน “ความสนใจของคนในสังคม” หรือไม่?

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ