TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLife“กระแสบนออนไลน์” สะท้อน “ความสนใจของคนในสังคม” หรือไม่? 

“กระแสบนออนไลน์” สะท้อน “ความสนใจของคนในสังคม” หรือไม่? 

ในเดือนตุลาคมมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ทั้งเหตุการณ์ในประเทศ คือเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนที่สยามพารากอน และเหตุการณ์ในต่างประเทศ คือเหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลและการตอบโต้ของอิสราเอลจนกลายเป็นสงคราม แต่ทว่าจากผลการศึกษาของ Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight กลับพบว่า ประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจสูงสุดในเดือนตุลาคมกลับเป็นเรื่องความบันเทิง

การศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนตุลาคม 2566 โดย Media Alert และ Wisesight ใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่า 2 อันดับความสนใจสูงสุดในสื่อสังคมออนไลน์คือ สัปเหร่อ ภาพยนตร์เรื่องที่ 6 ของจักรวาลไทบ้าน ตามมาด้วยกระแสละครเรื่องพรหมลิขิตละครย้อนยุคภาคต่อของบุพเพสันนิวาสที่เคยครองกระแสในสื่อสังคมออนไลน์เมื่อ 6 ปีก่อน 

แม้ว่าเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนที่สยามพารากอนและเหตุการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส จะติดอันดับความสนใจเป็นอันที่ 3 และ 4 แต่ก็เป็นเพียง 2 ประเด็นในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม และกลุ่มเนื้อหาการเมืองระหว่างประเทศที่ติด 10  อันดับความสนใจ ในขณะที่อีก 8 อันดับเป็นประเด็นเรื่องความบันเทิงต่าง ๆ  

หากจำแนก10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในเดือนตุลาคม 2566 ได้เป็น 3 กลุ่มเนื้อหา คือ กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 8 ประเด็น มี 208,240,319 Engagement กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม คือ เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนที่สยามพารากอน มี 45,818,251 Engagement และกลุ่มเนื้อหาการเมืองระหว่างประเทศ คือ กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล และการตอบโต้ของอิสราเอล มี 34,454,461 Engagement

The Story Thailand จึงเชิญ ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยวิเคราะห์ว่ากระแสบนออนไลน์นั้นสะท้อนว่าคนในสังคมสนใจความบันเทิงมากกว่าสนใจเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่มีผลต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเช่นนั้นหรือ

ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวว่า การสื่อสารบนโลกออนไลน์มีเรื่องบันเทิงมากกว่าเรื่องอื่น เพราะเรื่องบันเทิงเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ง่าย ประกอบกับเรื่องบันเทิงเป็นหัวข้อที่เปิดประเด็นการพูดคุยโดยอินฟลูเอนเซอร์ ตอบสนองด้วยการสนทนาของกลุ่มแฟนคลับทำให้เกิดการพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์สูง 

ในขณะที่เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนที่สยามพารากอน และเหตุการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส เป็นประเด็นที่อาจจะไม่เกิดการสนทนากันบนโลกโซเชียล (Social Conversation) แต่ผู้คนติดตามข่าวสาร ประกอบกับเรื่องนี้ไม่ได้เปิดพื้นที่สาธารณะได้มากพอ ไม่ได้นำไปสู่การถกเถียง อภิปราย หรือแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์น้อย 

ส่วนคอนเทนต์ที่นำเสนอโดยสำนักข่าวนั้น เนื้อหาเป็นการรายงานข่าวให้รู้ คนอาจจะแค่ดูแค่อ่านแล้วจบไป ทำให้ไม่เกิดปริมาณของการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าคนไม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่าคนสนใจข่าวลักษณะนี้มากหรือน้อย แต่สามารถบอกได้ว่าคนไม่มีประเด็นที่จะพูดคุยในเรื่องนี้ เว้นแต่ว่าหากมีการเปิดประเด็นจากสำนักข่าว เช่น การทำ crowd sourcing เกี่ยวกับ ข่าวยิงใส่ฝูงชนและเหตุการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส แล้วคนไม่ปฏิสัมพันธ์ นั่นอาจจะวัดได้ว่าคนไม่สนใจ

“แฟนคลับ” คุยกันมากกว่า “แฟนข่าว”

การปฏิสัมพันธ์หรือการมี engagement กันบนออนไลน์นั้น ส่วนใหญ่เรื่องที่สนทนากันจะเป็นเรื่องที่เป็น community ที่มีแฟนคลับ มีคนสนใจ เนื้อหาข้อมูลมักเป็นเรื่องที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้ง่าย เป็นเรื่องของความชอบ ความสนใจ ไม่ได้ต้องมีข้อมูลเชิงลึก และไม่ได้มีความรู้สึกว่าถ้าพูดอะไรไปแล้วจะเกิดการแบ่งแยกฝ่ายเพราะ  ชอบศิลปินคนเดียวกัน ชอบละครเรื่องเดียวกัน หรือวิพากษ์วิจารณ์ภาพยนตร์ที่ดูมาเหมือนกัน

ผศ.ดร.สกุลศรี มองว่าประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่พูดคุยกันได้ง่าย ยิ่งอยู่บนออนไลน์  คนที่ไม่รู้จักกันสามารถจะแชร์จะแลกเปลี่ยนสิ่งที่ชอบเหมือนกัน เพราะออนไลน์เปิดพื้นที่ให้คนทำแบบนี้ได้ง่ายขึ้น ทำให้มีปริมาณการสนทนาจำนวนมากเกี่ยวกับความชอบ ความสนใจ มากกว่าประเด็นเชิงสังคมซึ่งเป็นเรื่องหนัก 

แต่ทว่า กรณีเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอนจะเห็นปริมาณการพูดคุยมากกว่าเหตุการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส เพราะความตกใจ ความสงสัย ความคิดเห็นจึงไปในทิศทางที่ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์ มีความคิดเห็นเชิงตระหนก อยากรู้ข้อมูล ช่วยกันเสาะหาคำตอบว่าเขาคือใคร ทำไมเขาถึงทำ เรียกได้ว่ามีปัจจัยที่ทำให้คนสามารถมีบางอย่างร่วมกันได้บนออนไลน์ ทำให้เกิดการพูดคุยกันได้ 

ส่วนประเด็นเหตุการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส สำหรับคนบางคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นข้อมูลหนัก และไม่แน่ใจว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ถูกต้องหรือไม่ ทำให้เกิดการเว้นระยะที่จะแสดงความคิดเห็น แต่อัตราการ search ของคนเกี่ยวกับเรื่องนี้อาจจะสูง เพราะคนไม่รู้ไม่เข้าใจ หากอัตราการค้นหาสูงแสดงว่าคนสนใจ หรือหากยอดวิว ยอดอ่าน ยอดคนชมคลิปในยูทูป ที่มีคนเคยวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ก่อนสถานการณ์ครั้งนี้ หากยอดวิวโตขึ้น การค้นหาโตขึ้น ก็สะท้อนความสนใจได้ เพราะบางเรื่องความสนใจไม่ได้สะท้อนแค่คนพูดคุยกัน 

“ถามว่าสะท้อนบริบทของสังคมได้ไหม ก็สามารถจำลองภาพให้เห็นได้ว่าเรื่องที่คุยกันได้ง่าย เรื่องที่ไม่มี barrier ทางข้อมูลว่าเราเข้าใจมันมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งเป็นเรื่องความชอบความสนใจ ก็เป็นจริตปกติของคนที่จะสนใจและพูดคุยกันได้”

แต่ทั้งนี้ผศ.ดร.สกุลศรี ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมในมิติของการกินระยะเวลาของความสนใจของคน เช่น บางเรื่องอาจจะอยู่ในความสนใจเพียงไม่กี่วัน บางเรื่องอยู่ในความสนใจของคนยาวนาน การอยู่ในความสนใจของคนยาว เพราะว่ามีการหยอดคอนเทนต์อื่นเพิ่มหรือไม่ เช่น เคสภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อที่คนไปดูแล้วรีวิว มีการทำข่าว มีคนวิจารณ์เพิ่ม และมีการเชื่อมต่อไปยังเรื่อง soft power ทำให้มีการขยายประเด็นไปมากกว่าภาพยนตร์ ทำให้เกิดปริมาณการพูดคุยและถกเถียงกันมากกว่าตัวภาพยนตร์ และเป็นการขยายระยะเวลาในการสนใจเรื่องนั้น ๆ ออกไป ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์สูง ขณะที่กลุ่มที่มีเนื้อหาหนัก ๆ ต้องพิจารณาว่าเป็นเนื้อหาอะไร กลุ่มที่เป็นแฟนคลับมีลักษณะใด มีกลุ่มที่สนใจต่อยอดประเด็นไหม มีการขยายประเด็นการสนทนาไปได้ไหม

กระแสในสื่อสังคมออนไลน์สะท้อนความ “สนใจ” หรือ “เพิกเฉย” ต่อประเด็นทางสังคม

ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวว่า ลำพังเพียงปริมาณการสื่อสารพูดคุยไม่ได้สะท้อนความจริงของสังคมทั้งหมด ดังนั้น เป็นการยากที่จะบอกว่าคนในสังคมเพิกเฉยต่อการเสพข่าวสารหรือประเด็นทางสังคม ทั้งนี้ต้องดูว่าลักษณะการแสดงความคิดเห็นพูดคุยนั้นเป็นประเภทไหนบ้าง ถ้าเห็นจะสามารถวิเคราะห์ในเชิงพฤติกรรมได้ว่าตอบรับในเชิงอารมณ์​หรือเชิงข้อมูล หรืออยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขประเด็นไหน หรือไม่ อย่างไร 

คือต้องเข้าไปดูการแสดงความคิดเห็น การพูดคุยที่เกิดขึ้นว่าส่วนใหญ่ไปในทิศทางใด เช่น แสดงความเห็นด้วยอารมณ์อย่างเดียว โกรธ ไม่พอใจ ด่าว่ากัน อันนี้เป็นแค่การแสดงออกทางอารมณ์ ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนประเด็นได้ว่าจะแก้ไข หรือจะช่วยอะไรได้ไหม คนสนใจแค่ระดับอารมณ์ร่วม แต่ถ้าการแสดงความคิดเห็นเป็นลักษณะให้ความเห็น ให้ข้อแนะนำ มีลักษณะของการพยายามแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือว่าอยากหาทางออก แสดงว่า มีความกระตือรือร้นต่อประเด็นนั้นที่อยากให้เกิดการแก้ไข หรืออยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม 

“บอกไม่ได้ขนาดนั้นว่าคนไม่สนใจเรื่องสังคม แต่แอบมีความกังวลว่าไม่มีข่าวอื่นเลยที่ติดอันดับ (นอกจากข่าวยิงใส่ฝูงชน ข่าวสงครามที่เป็นข่าวใหญ่) อาทิ ประเด็นเงินดิจิทัล ซึ่งสะท้อนได้ว่าคนอาจไม่สนใจ หรือสนใจแต่ไม่ถกเถียง ไม่แลกเปลี่ยน และไม่อยากมีการสนทนาในเรื่องที่เป็นประเด็นหนัก  ทำให้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่คนใช้ชีวิตที่หลุดจากความเป็นจริงแล้วมาอยู่กับความบันเทิง

ผศ.ดร.สกุลศรี  กล่าวว่า เป็นความกังวลอย่างหนึ่ง เพราะการที่คนไม่แลกเปลี่ยนประเด็นเหล่านี้เลย ทำให้บางประเด็นที่อยากจุดให้เป็นประเด็นทางสังคมที่ต้องรับรู้และผลักดันร่วมกันก็ทำไม่ได้ หรืออยากจะฟังเสียงต่อนโยบายของรัฐก็ทำได้ยากเพราะไม่มีการพูดคุยถกเถียงกันเรื่องนี้ หรือพวกเขาคุยกันแต่คุยในที่ปิด 

นอกจากนี้ อาจจะมีประเด็นว่า คนบนโซเชียลเองเรียนรู้ว่าหากแสดงออกในประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันก็อันตรายว่าจะโดนทัวร์ลง อาจจะต้องทะเลาะกับคนอื่น 

“อาจจะเป็นการเรียนรู้ของคนใช้โซเชียลมีเดียว่าเรื่องที่ต้องอภิปรายถกเถียงกันเราเก็บไว้คุยกันข้างนอกไม่คุยบนโซเชียลมีเดีย เพราะไม่อยากเจอสถานการณ์แบบนั้น ซึ่งเป็นสัญญาณไม่ดี เพราะคนควรถกเถียงกันได้

คนจะปฏิสัมพันธ์กับคนด้วยกันมากกว่าสำนักข่าว

สื่อเปิดประเด็น แล้วคนถกเถียงกันได้ มักจะเป็นประเด็นที่เป็นดราม่า ตอบจริตของคน เป็นคอนเทนต์ที่มีการพูดไปคุยมา อาทิ เป็นข่าวอาชญากรรม ความรุนแรง เพราะคนมีข้อมูล มีคลิปที่แชร์มา ถกเถียงกันต่อได้ มีคนที่เห็นใจแรงงานที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ในกรณีข่าวสงครามฮามาส อิสราเอลอยากรู้ว่าเขาทำอะไร เขาจะกลับไหม ครอบครัวเพื่อนฝูงก็พูดคุย ถ้ามีข้อมูลพูดได้ ก็จะมีปริมาณการ engagement ที่สูง แต่ก็ไม่มีคอนเทนต์ที่ชวนให้คนพูดคุยกันอย่างมีเหตุมีผล เพราะข่าวส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อมูล 

คนเริ่มไม่ตามสำนักข่าว แต่ตาม Influencer ​และแลกเปลี่ยนกันเป็นชุมชน 

Facebook ปิดการมองเห็นมากขึ้น ทำให้ คนเห็นแต่ข้อมูลซ้ำ ๆ ไม่หลากหลาย จนเกิดความไม่สนใจ แต่ใน TikTok คนเห็นคอนเทนต์สดใหม่ตลอด และฟีดมาให้คนเห็น เกิดปฏิสัมพันธ์ง่าย จึงเกิดปริมาณการปฏิสัมพันธ์ที่สูง และ TikTok มีฟีเจอร์ที่ดึงดูดคนใช้มาก ทำให้คนเห็นคอนเทนต์บน TikTok มาก TikTok ใช้ง่าย ผู้ใช้จึงมีทุกช่วงวัย ในขณะที่แพลตฟอร์มอื่นปิดกั้นการมองเห็น ส่วน X เป็นแพลตฟอร์มของคนรุ่นใหม่ 

เรื่องหนักจะยังอยู่บน Facebook เพราะต้องการพื้นที่ในการให้ข้อมูลมาก เป็นการวิเคราะห์ข้อมูล จึงมักใช้โดยสำนักข่าวและอินฟลูฯ ​มากกว่าคนทั่วไป

“ถ้าเป็นข่าว คนจะตามสำนักข่าวบน Facebook ถ้าบันเทิงคนจะวิ่งไป TikTok นักข่าวที่ใช้ TikTok เก่งก็ยังมีไม่มาก ในขณะที่มี content creator​ จำนวนมากเอาข่าวมาเล่า”

ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวว่า หากเป้าหมายการสื่อสารต้องการให้คนพูดคุยกัน ต่อให้เป็นเรื่องยาก ต้องย่อยให้ง่าย ต้องนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคน ต้องทำให้คนรู้สึกว่าประเด็นนั้นเป็นเรื่องของเขา กระทบเขา เขามีความเสี่ยงกับประเด็นนั้น ถ้าเขาไม่รู้ เนื้อหาที่นำเสนอต้องเปิดพื้นที่ให้คนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน อาทิ คุณรู้ไหม คุณบอกข้อมูลได้ไหม คุณมีประสบการณ์แบบนี้หรือไม่ คุณอยากแชร์ประสบการณ์แบบนี้หรือไม่ 

“หากพยายามมอบอำนาจให้เขามีส่วนร่วม ก็มีโอกาสที่เขาจะถกเถียง แต่หากเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนก็ต้องทำใจว่าจะไม่มีคนคุยกับเรา คอนเทนต์นั้นต้องแชร์ประสบการณ์ คอนเทนต์ไหนที่สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ของคนดูคนอ่านได้ ก็เป็นไปได้ที่จะมี engagement กับมันมากขึ้น แต่หากเขารู้สึกว่าอ่านแล้วแค่รู้ แล้วผ่านไป เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องของเขา ก็ต้องทำใจว่าเขาแค่อ่านแล้วผ่านไป”

สื่อ Influencer ผู้ใช้งานทั่วไป คือ ผู้ร่วมสร้างความสนใจในประเด็น 

หากถามว่าจะทำอย่างไรให้คนมีข้อถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในประเด็นที่น่าจะนำพาสังคมไปสู่การพูดคุยกันได้ ต้องใช้ 3 พลังร่วมกัน คือ เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ใชัทั่วไปอยากคุยกันไหม มีอินฟลูฯ ที่สามารถดึงคนให้มาสนใจแล้วเปิดประเด็นพูดคุยกันได้ไหม พอเกิดการสนทนาแบบนี้บนออนไลน์แล้วสำนักข่าวทำให้เกิดประเด็นต่อเนื่องไหม 

หากถอดสูตรไทบ้านออกมาจะได้รูปแบบนี้ ไปดูภาพยนตร์มา รีวิว เกิดกระแส สำนักข่าวทำข่าวต่อ บางประเด็นอินฟลูฯ ​เปิดประเด็น แล้วสื่อไปทำเพิ่ม มีหน่วยงานมาหยิบประเด็นนี้ไปต่อยอดทำในมุมของตัวเอง เช่น จัดเสวนา ทำคอนเทนต์เพิ่ม ชวนคนมาทำกิจกรรม เป็นการป้อนคอนเทนต์ใหม่กลับเข้าไปในออนไลน์ การสนทนาจะขยับจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง หากต้องการให้คนมีการสนทนาเรื่องไหน ต้องออกแบบการสื่อสารที่ทำให้เกิดการพูดคุยได้มากกว่าหนึ่งประเด็น และสามารถขยายประเด็นในการพูดคุยได้ 

“หากต้องการให้คนมีการสนทนาเรื่องไหน ต้องออกแบบการสื่อสารที่ทำให้เกิดการพูดคุยได้มากกว่าหนึ่งประเด็น และสามารถขยายประเด็นในการพูดคุยได้”

ถ้าสื่อต้องการมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม “สื่อต้องหาทำเรื่องหนักให้คนอยากคุยกันให้ได้”

“จากที่สอบถามเด็ก ๆ ที่สอนหนังสือว่า เด็ก ๆ สนใจประเด็นอะไรมาก 3 อันดับแรกที่ให้ความสนใจเท่ากันคือ การเมือง อาชญากรรม และบันเทิง เพราะ 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ชิดและส่งผลกระทบกับเรื่องอื่น”

สื่อออนไลน์และสื่อมวลชน สามารถขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมได้ บางเรื่องอินฟลูฯ เปิดบนออนไลน์ แล้วสื่อนำไปนำเสนอต่อ บางเรื่องเปิดด้วยสื่อแล้วอินฟลูฯ นำมาขยายประเด็นต่อบนออนไลน์ ขึ้นกับประเด็นว่าต้องเปิดโดยใคร คนจึงสนใจ เปิดที่ไหน ต้องมีการวางแผน ไม่มีเป็นธรรมชาติที่แท้จริง 

ไม่ใช่ว่าเรื่องการยิงใส่ฝูงชนที่สยามพารากอน เหตุการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส คนไม่สนใจ แต่หัวใจหลัก คือ “สื่อต้องหาทางทำเรื่องนั้นให้ใกล้ชิดคนมากขึ้น เมื่อไรที่เรื่องนั้นใกล้ชิด และรู้สึกว่ามีผลกระทบ คนจะพูดกันในเรื่องนั้นมากขึ้น” แต่ปริมาณของการคุยไม่สำคัญเท่ากับลักษณะของการพูดคุย บางเรื่องอาจจะไม่มีปริมาณการคุยจำนวนมาก แต่เป็นการสนทนาที่มีคุณภาพ (quality conversation) เป็นการพูดคุยที่ผลักดันการแลกเปลี่ยนได้ แบบนี้น่าสนใจ 

แต่อาจต้องไปศึกษาดูว่า หากสื่อทำประเด็นซีเรียส ผลปลายทางคืออะไร อาทิ นำเสนอเรื่องโรคซึมเศร้า อยากให้คนมาแสดงความคิดเห็น หรืออยากให้คนไปถึงจุดที่ดูแลตนเอง หรืออยากให้คนเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น และหากเกิดการสนทนา ผลปลายทางจะไปในทางสู่เป้าหมายนั้นไหม สิ่งนี้เป็นตัวชี้วัดว่าปฏิสัมพันธ์เป็นไปตามเป้าหมายที่สื่ออยากจะสื่อสารหรือไม่ 

“สื่อน่าจะลองวางแผนว่าหากเปลี่ยนจากเป้าหมายเพื่อรายงานให้ทราบให้เข้าใจ เป็นการผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือให้เกิดการกระทำ การสื่อข่าวนั้นสามารถสร้างการแสดงความคิดเห็นให้ไปในทิศทางที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่” 

แต่หากบางเรื่องที่ต้องให้เป็นกระแส ให้มีการพูดถึง ไม่เช่นนั้นประเด็นนั้นจะหายไป “สื่อจะต้องเรียนรู้ที่จะทำคอนเทนต์มากกว่าหนึ่งชิ้น คอนเทนต์นั้นต้องสามารถต่อยอดได้ และต้องทำความร่วมมือกับอินฟลูฯ บางกลุ่ม หรือมีคอมมูนิตี้กับแฟนข่าวของตัวเองที่สามารถกระจายต่อไปยังคอมมูนิตี้กลุ่มอื่น ๆ ได้ นี่เป็นสิ่งที่สื่อสามารถทำได้” 

ส่วนอินฟลูฯ กับผู้ใช้งานทั่วไป เป็นตัวแปรที่ว่าสื่อจะทำงานร่วมมือกับพวกเขาอย่างไร เพื่อผลักดันประเด็นที่คนควรต้องรู้ให้คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ สำนักข่าวต้องเจาะประเด็นที่คนสนใจในประเด็นเฉพาะมากขึ้น มีคนสนใจประเด็นเฉพาะอยู่มาก หากสำนักข่าวเจาะประเด็นเฉพาะได้จริง ๆ จะสามารถสร้างแฟนได้ คนรู้สึกถึงความเป็นเพื่อน ความไม่เป็นทางการ คนจะคุยกันได้มากขึ้น แม้จะเป็นประเด็นข่าวหนัก ๆ 

“กระแสบนออนไลน์” สะท้อน “ความสนใจของคนในสังคม” ได้ แต่อาจไม่ทั้งหมด เพราะโลกออนไลน์ไม่ได้มีเพียง 5 แพลตฟอร์มนี้ คือ Facebook,  X, Instagram, YouTube และ TikTok เท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่บนโลกออนไลน์อื่น ๆ อีกที่ผู้คนให้ความสนใจและแสดงออกในรูปแบบที่ไม่ใช่การสื่อสารพูดคุยกันในที่สาธารณะ แต่เป็นการค้นหาข้อมูล และการสื่อสารในกลุ่มเฉพาะ ทั้งนี้ สังคมเป็นผลผลิตของการกระทำของคนทุกคนในสังคม 

หากต้องการให้สังคมของเรามีความสนใจประเด็นทางสังคม เราจะต้องให้ความสำคัญและสื่อสารในเรื่องนั้น ๆ” 

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับผลการศึกษาของ Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight

ใคร ? กำหนดวาระการสื่อสารบนโลกออนไลน์

“ภูมิทัศน์สื่อ” กับ “การกำหนดวาระข่าวสาร” ของสังคมไทย

สื่อและการสื่อสารใน 3 เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในประเทศไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ