TH | EN
TH | EN
หน้าแรกMedia Alert“ถามหารายการสำหรับเด็ก” ที่หายไป ….

“ถามหารายการสำหรับเด็ก” ที่หายไป ….

You are what you watch. คุณเป็นคนเช่นไร เพราะคุณเสพคอนเทนต์เช่นนั้น” คำกล่าวนี้เป็นจริงไม่ว่าคุณจะอยู่ช่วงวัยใด โดยเฉพาะวัยเด็กซึ่งเป็นวัยที่กำลังเติบโต เรียนรู้ จดจำ และก่อร่างสร้างความคิดความอ่าน การมีสื่อที่เสนอคอนเทนต์สำหรับเด็กจึงเป็นสิ่งที่สำคัญจำเป็นมาก สำหรับการเสริมสร้างและพัฒนาเด็กให้เติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ แต่สิ่งนี้จะเป็นไปได้อย่างไรเมื่อทุกวันนี้ “รายการสำหรับเด็ก” บนสื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์ ได้หายไป ….

เนื่องในโอกาสวันเด็กปี 2567 … The Story Thailand และ Media Alert ได้ขอให้ ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อเด็กและครอบครัว อดีตผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน วิเคราะห์ว่า “สังคมไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อรายการสำหรับเด็กหายไปจากสื่อวิทยุและโทรทัศน์”

“รายการสำหรับเด็ก” สำคัญและจำเป็นต่ออนาคตของประเทศไทย เพราะเด็กเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ การทำให้เด็กมีพัฒนาการที่แข็งแรงโดยใช้สื่อคุณภาพที่เหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละวัยของเด็ก มีความสำคัญและจำเป็นมาก

สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับโครงสร้างประชากรสูงวัย คือ จำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง คือ ต่ำว่า 500,000 คนต่อปี ส่งผลให้สื่อสำหรับเด็กยิ่งมีความจำเป็น เพราะต้องทำให้เด็กที่มีจำนวนการเกิดลดน้อยลง มีคุณภาพที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กคือเครื่องมือหลักที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับการสร้างคุณภาพให้กับเด็กไทย

“ยิ่งเด็กเกิดน้อยยิ่งต้องสร้างให้มีคุณภาพ ต้องมีการเตรียมทักษะให้เด็ก ภาครัฐต้องหันมามองว่าสื่อโทรทัศน์และวิทยุมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องมือที่จะเข้าถึงการส่งเสริมและสร้างทรัพยากรมนุษย์” ดร.สรวงมณฑ์ กล่าว

ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

รายการสำหรับเด็กที่เคยมี แต่ตอนนี้หายไป

รายการสำหรับเด็กได้รับความสำคัญมาตั้งแต่ปี 2522 ที่ประเทศไทยเริ่มประกาศปีเด็กสากล และให้ความสำคัญกับการจัดช่วงเวลารายการสำหรับเด็กทางสื่อ เช่น วิทยุและโทรทัศน์ ช่วงปลายปี 2553 ประเทศไทยมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ที่ถัดมาอีก 2 ปี คือ ในปี 2556 กสทช.ได้ออกประกาศเรื่อง ‘หลักเกณฑ์การจัดทําผังรายการสําหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556’ ระบุว่าในช่วงเวลา 16.00-18.00 น. ของทุกวัน และในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 7.00-9.00 น. ขอให้สื่อโทรทัศน์จัดสรรเวลาอย่างน้อย 60 นาที ให้รายการสำหรับเด็ก 

ทว่าในปี 2557 เมื่อ กสทช.จัดการประมูลทีวีดิจิทัล โดยกำหนดให้มีช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว 3 ช่อง ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาต คือ ช่อง 3 Family โดย บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ที่ประมูลมาในราคา 666 ล้านบาท ช่อง MCOT Family โดยบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ประมูลมาในราคาราคา 660 ล้านบาท และช่อง LOCA โดยบริษัท ไทยทีวี จำกัด ท่ีประมูลมาในราคา 648 ล้านบาท

แต่ผ่านมาเพียง 1 ปี คือปี 2558 ช่อง LOCA ของ Thai TV ได้ยุติการออกอากาศ ขอคืนใบอนุญาต ด้วยตัวเลขขาดทุน 700 ล้านบาท ถัดมาอีก 4 ปี ในปี 2562 ช่องรายการสำหรับเด็กฯ อีก 2 ช่อง คือ ช่อง 3 Family และ MCOT Family ได้ยื่นขอคืนใบอนุญาต ทำให้ช่องทีวีดิจิทัลสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวสูญหายไปจากหน้าจอฟรีทีวีทั้งหมดด้วยสาเหตุหลัก คือ สร้างรายได้ต่ำ ผู้ประกอบกิจการไม่สามารถแบกต้นทุนได้

จากข้อมูลของสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานกสทช. ได้เผยตัวเลขการสำรวจเม็ดเงินโฆษณาของทีวีดิจิทัล ในช่วง 5 ปี (ปี 2557 – ปี 2561) โดย “นีลเส็น” ว่ามูลค่าโฆษณาของช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของเม็ดเงินโฆษณาทั้งหมด ซึ่งทีวีดิจิทัลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ในหมวดหมู่เด็ก เยาวชนและครอบครัว กับหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ เป็น 2 หมวดหมู่ที่มีเม็ดเงินโฆษณา “น้อยที่สุด” อันเป็นสาเหตุให้มีการขอคืนใบอนุญาตมากกว่าหมวดหมู่อื่น

รายการเด็กมีคนดูเฉพาะกลุ่ม มีเรตติ้งน้อย โฆษณาไม่เข้า ผู้ประกอบการให้เหตุผลว่าไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เป็นการยืนยันชัดเจนว่า การมีสื่อวิทยุ โทรทัศน์สำหรับเด็ก กลายเป็นโจทย์ยากของสังคมไทย

ดร.สรวงมณฑ์  กล่าวว่า เมื่อโครงสร้างธุรกิจของสื่อโทรทัศน์ที่ประมูลช่องมา มีต้นทุนสูง ทำให้ต้องหารายได้ และต้องเลือกรายการที่ทำเงิน จึงไม่เลือกรายการที่ไม่ทำเงิน ซึ่งรายการสำหรับเด็กนั้นไม่ทำเงิน หรือทำเงินได้น้อย เมื่อเทียบกับรายการประเภทอื่น นั่นจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รายการเด็กหายไปจากสื่อโทรทัศน์

ในยุคโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก ที่มีจำนวนช่องสถานีโทรทัศน์ไม่มาก แต่ก็มีรายการสำหรับเด็ก ที่เป็นที่รู้จักและนิยม อาทิ เจ้าขุนทอง สโมสรผึ้งน้อย ไอคิว 180 เป็นต้น มีรายการสำหรับเด็กในช่วงไพร์มไทม์ ช่วงเวลาที่เด็กกลับจากโรงเรียน ช่วงเช้าวันหยุดเสาร์อาทิตย์ สะท้อนว่ามีสถานีและผู้ผลิตที่เห็นความสำคัญในการใช้รายการโทรทัศน์เพื่อให้ความรู้ ความสุข และเสริมพัฒนาการของเด็ก พอเข้าสู่ยุคดิจิทัลทีวี ที่มีจำนวนสถานีโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น แต่รายการสำหรับเด็กแทบไม่มีเลย

ก่อนจะมีกสทช. มีทีวีไม่กี่ช่องแต่ทุกช่องมีรายการสำหรับเด็ก พอมีกสทช.มีการประมูลทีวีดิจิทัล 20 กว่าช่อง มีช่องเด็ก 3 ช่อง ทำให้เด็กมีทางเลือก แต่สุดท้ายผู้บริโภคไม่มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ทั้งรูปแบบและคุณภาพรายการสำหรับเด็ก

“รายการเด็กที่มีคุณภาพต้องลงทุน หากลงทุนแล้วไม่ได้ผลตอบแทบกลับมา ใครจะลงทุน” ดร.สรวงมณฑ์ กล่าว

ภาครัฐมีการกำหนดระยะเวลาที่ทุกช่องควรจะต้องมีช่วงเวลาอย่างน้อย 60 นาทีพื่อรายการสำหรับเด็ก ตอนนี้ไม่มี กลายเป็นละครและละครรีรัน ถามว่าเด็กจะดูอะไร

“เรามักจะถกเถียงกันว่า “เด็กไม่ดูทีวี” หรือ “ทีวีไม่มีอะไรให้เด็กดู” เด็กไม่ดูทีวี เด็กไปดูออนไลน์กันหมด เราจะผลิตไปทำไม เรายอมรับได้ใช่หรือไม่ ที่ให้เด็กไปดูเนื้อหาบนออนไลน์ จะเดินหน้าประเทศไปแบบนี้ใช่ไหม” ดร.สรวงมณฑ์ กล่าว

ภาครัฐควรแสดงบทบาท “ให้ทุนผลิต” “สร้างเวทีปล่อยของ”

ภาครัฐควรสนับสนุนส่งเสริมภาคเอกชนในการผลิตรายการสำหรับเด็กและเยาวชน และสนับสนุนให้เกิดช่องทางในการนำเสนอสื่อที่เป็นทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชนมากขึ้น รัฐควรทำให้เกิดแพลตฟอร์มให้บรรดาเอกชนมาปล่อยของที่สร้างสรรค์เหมาะสมกับวัยของเด็กและเยาวชน หรือมีมาตรการหรือระบบที่จะสนับสนุนให้เกิดรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน

ภาครัฐสามารถให้การสนับสนุนผู้ผลิตรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีวิธีการสนับสนุนหลายอย่าง ใช้มาตรการทางภาษีได้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตรายการ หรือสนับสนุนด้านเวลาในการมีรายการสำหรับเด็กและเยาวชน หรือมีการสนับสนุนและลงทุนให้เกิดระบบการประชาสัมพันธ์และการตลาดให้กับรายการประเภทนี้ เช่น ภาคเอกชนสนับสนุนเรื่องภาษี ส่วนรัฐวิสาหกิจต้องมาลงทุนในธุรกิจนี้เพื่อได้รับสิทธิพิเศษ ต้องมีช่วงเวลาออกอากาศรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างแท้จริง

การให้ทุนเป็นรูปแบบหนึ่งของการสนับสนุนให้เกิดการสร้างรายการสำหรับเด็กและเยาวชน ปัจจุบันมีหน่วยงาน อาทิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่สนับสนุนด้วยการให้ทุนเปิดรับทั่วไป (Open Grant) มีการให้ทุนสนับสนุนการผลิตรายการสำหรับเด็กและเยาวชนมากขึ้น

รายการสำหรับเด็กไม่ใช่งานง่าย กลุ่มคนที่จะผลิตรายการสำหรับเด็กเป็นกลุ่มคนที่มีใจที่รัก แต่เขาจะไปต่อไมได้เนื่องจากติดปัญหาเรื่องทุน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีการให้ทุนสนับสนุนผู้ผลิตรายการสำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงให้ทุนกับเด็กและเยาวชนทำสื่อสำหรับเด็กเอง แต่สุดท้ายผลิตแล้วไม่มีช่องทางในการปล่อยของก็ไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร

“ภาครัฐควรสนับสนุนให้เอกชนผลิต หาช่องทางให้เขาเผยแพร่ ทำให้เกิดแพลตฟอร์มคุณภาพที่คนทำรายการคุณภาพทั้งหลายสามารถมาใช้แพลตฟอร์มร่วมกัน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ๆ รัฐควรมองเห็นและเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้ผลิตเหล่านี้” ดร.สรวงมณฑ์ กล่าว

รัฐจะต้องเข้ามาช่วย เพราะรายการสำหรับเด็กและเยาวชนสำคัญและจำเป็น ภาครัฐต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องมองเห็นว่าเด็กและเยาวชนสำคัญและจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมตามวัย เพื่อเติบโตไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เติบโตมาเป็นเพียงประชากรที่เพิ่มจำนวนขึ้นเท่านั้น

สำคัญมากที่ต้องทะลุประโยคที่บอกว่า “เด็กไม่ดูทีวี เพราะไม่มีอะไรให้เด็กดู” “เด็กไม่ฟังวิทยุ เพราะไม่มีอะไรให้เด็กฟัง” คือจะต้องไม่มีการกล่าวอย่างนี้ อย่ายอมจำนนว่าเพราะมันเป็นแบบนี้ ต้องเอาชนะความท้าทายนี้

กสทช อนุญาตให้ไทยพีบีเอส ใช้คลื่นความถี่ออกอากาศช่อง “ALTV ทีวีเรียนสนุก” (โครงการ Active Learning TV ที่เปิดพื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน)​ ในช่องทีวีดิจิทัลหมายเลข 4 โดยทดลองออกอากาศตั้งแต่ 1 ก.ค. 2563 เป็นเวลา 6 เดือน และมีการขยายเวลาต่อ จนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 กสทช. ออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลให้แก่ ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก ให้บริการในกลุ่มทีวีดิจิทัลช่องสาธารณะ ประเภทช่องเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยใบอนุญาตจะสิ้นสุดในปี 2573 แต่ผลงาน การตอบรับ และการรับรู้ของสังคมก็ยังไปไม่ถึงขั้นการเป็นสถานีโทรทัศน์ระดับประเทศเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก

สื่อมวลชน ก็อยู่ในภาวะ “ ไม่เป็นที่พึ่งพา ” เพื่อรายการสำหรับเด็ก

สื่อมีความสำคัญต่อ “รายการสำหรับเด็กและเยาวชน” เป็นภาระรับผิดชอบของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นซึ่งเป็นทรัพยากรชาติในการประกอบกิจการ แต่สื่อเองก็มีปัญหา

วงการสื่อสารมวลชนมีปัญหาของตัวเอง สื่อเองก็ไม่มีคุณภาพ ช่วงที่เกิดทีวีจำนวนมากมหาศาล คนในวงการสื่อเติบโตไม่ทัน

“เด็กใหม่เข้ามาทำงาน 2 ปี ขึ้นเป็นหัวหน้าเป็นบรรณาธิการข่าว ทั้ง ๆ ที่ในอดีต การขึ้นเป็นบรรณาธิการต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะประสบการณ์ เกิดช่องทีวีจำนวนมาก ต้องการกำลังคนจำนวนมาก แต่องค์ความรู้ของคนทำงานสื่อเติบโตไม่ทันและยังไม่มีวุฒิภาวะ” ดร.สรวงมณฑ์ กล่าว

ทีวีช่องใหญ่ ๆ หลายช่องไม่มีบุคลากรที่มีความรู้เรื่องเด็กและเยาวชน ไม่มีโต๊ะข่าวเด็กและเยาวชน ไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาและพัฒนาการตามวัยของเด็กและเยาวชนที่จะผลิตหรือจัดหารายการสำหรับเด็กและเยาวชนที่มีประโยชน์ สื่อไม่มีการสร้างนักข่าวคุณภาพสายข่าวเด็กและเยาวชน

ทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสนใจที่จะให้ความสำคัญกับรายการสำหรับเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมตามวัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม สื่อมีพลังมากในการสื่อสารและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของรายการสำหรับเด็กและเยาวชน แต่สื่อกลับให้พื้นที่กับข่าวรายวัน ข่าวกระแส ข่าวหวือหวา แต่ไม่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาเพื่อเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องข่าวดี ๆ ของเด็ก อาจด้วยเหตุผลว่าเด็กเสพข่าวน้อย ยอดไลค์น้อย สื่อเลยไม่ทำข่าวเพื่อกลุ่มเป้าหมายเด็ก

ทางออกของโจทย์ “ทำอย่างไรให้มีรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก”

รายการเด็กและเยาวชนแบ่งเป็นรายการสำหรับเด็กเล็กและเด็กโต ปัจจุบันมีรายการที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กโต อยู่บ้าง แต่รายการสำหรับเด็กเล็กแทบไม่มีในทีวีดิจิทัล เพราะรายการสำหรับเด็กเล็กใช้เวลาและขั้นตอนในการผลิต ใช้ทรัพยากร ความเข้าใจ และความทุ่มเท เช่น การนำเด็กเล็กมาร่วมรายการที่ต้องบริหารจัดการอย่างรอบคอบระมัดระวัง

ด้วยคิดว่ารายการสำหรับเด็กและเยาวชนผลิตยาก คนที่ทำรายการสำหรับเด็กและเยาวชนจึงหันมาทำรายการประกวด โดยเฉพาะการประกวดร้องเพลง ที่จัดธรรมชาติของเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ ที่จริงเป็นรายการสำหรับผู้ใหญ่ แต่นำเสนอเด็กในร่างผู้ใหญ่ รายการรูปแบบเช่นนี้ ไม่ควรบอกว่าเป็นรายการสำหรับเด็ก

“ความฝันของเด็กมีมากมายหลากหลาย แต่ผู้ใหญ่ไม่นำเสนอทางเลือกให้เด็ก ๆ ทำให้ได้เด็กที่เติบโตขึ้นมาในรูปแบบเดียว สังคมสร้างทางเดินให้เด็กจำกัด ไม่หลากหลาย ไม่เปิดโอกาสให้เด็กมีทางเลือกมากมาย” ดร.สรวงมณฑ์ กล่าว

การผลิตรายการสำหรับเด็กจะต้องมีจิตวิทยาเด็ก ต้องมีเนื้อหา และต้องเข้าใจว่าเด็กในแต่ละวัยต้องการสื่อสารอะไร และจะสื่อสารกับเด็กในแต่ละช่วงวัยอย่างไร หากใช้โจทย์นี้มาสร้างรายการสำหรับเด็ก จะออกแบบให้มีรายการเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กในแต่ละด้านและในแต่ละวัยได้

“ควรจะต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรที่พร้อมเปิดพื้นที่และหยิบยื่นโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาผลิตสื่อสำหรับเด็ก นี่เป็นหัวใจสำคัญมาก ๆ เพียงมีพลังและความรักในการทำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีทุนในการทำด้วย ซึ่งทุนนี้ไม่ควรเป็นการกู้ ควรมีทุนให้เขา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีความจำเป็นมากที่จะต้องให้การสนับสนุนกลุ่มคนที่มีไอเดียแต่ขาดเงิน ทั้งยังสามารถจัดสรรทุนเพื่อให้ผลิตรายการตามโจทย์ได้เช่นกัน”

กระบวนการออกแบบสื่อที่มีคุณภาพ จะส่งเสริมให้เด็กเติบโตขึ้นพร้อมทักษะในการวิเคราะห์​ แยกแยะ และใช้วิจารณาณ การสร้างรากฐานตั้งแต่เด็ก มีผลต่อพัฒนาการของเด็กทั้งสิ้น สื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์มีความสำคัญมากในการสร้างรากฐานนี้

รายการสำหรับเด็กและเยาวชน เป็นวาระสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน เพราะเด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ที่จำนวนประชากรเกิดน้อยลง จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้ประชากรที่มีจำนวนน้อยลงแต่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไปได้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“กระแสบนออนไลน์” สะท้อน “ความสนใจของคนในสังคม” หรือไม่? 

ใคร ? กำหนดวาระการสื่อสารบนโลกออนไลน์

“ภูมิทัศน์สื่อ” กับ “การกำหนดวาระข่าวสาร” ของสังคมไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ