TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityธุรกิจไทยต้องปรับตัว! ดันธุรกิจให้เป็นมิตรกับโลก

ธุรกิจไทยต้องปรับตัว! ดันธุรกิจให้เป็นมิตรกับโลก

โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อทุกภาคส่วน ธุรกิจไทยต้องปรับตัวให้ทัน ฎหมายโลกร้อน มาตรฐานคาร์บอนเครดิต และกฎหมายห่วงโซ่อุปทาน ล้วนเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

กรุงเทพธุรกิจ เปิดเวที Green 2024: The Ambition of Thailand ร่วมเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย พาทุกภาคส่วนและประเทศไทยไปสู่การแปลง “ความท้าทาย” ให้เป็น “โอกาสที่ยิ่งใหญ่กว่า”

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เรื่องที่เคยเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง ปัจจุบันจะเห็นได้บ่อยขึ้น ความถี่ (Frequency) และความหนาแน่น (Intensity) ของภัยพิบัติจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น “โลกที่กำลังร้อน” จะกลายเป็น “โลกเดือด” ด้วยอุณหภูมิที่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

“อนาคตของภัยพิบัติจากโลกร้อน โหดร้าย รุนแรง และยากเกินคาดเดา”

อุณหภูมิที่แอนตาร์กติกาพุ่งสูง สัญญาณอันตรายต่อโลก

อุณหภูมิที่ทวีปแอนตาร์กติกาพุ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย ประมาณ 40 องศาเซลเซียส สร้างความกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก แม้ว่าอุณหภูมิปัจจุบัน จะอยู่ที่ -9 องศาเซลเซียส ซึ่งยังคงหนาวเย็น แต่เปรียบเทียบกับอุณหภูมิในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เคยต่ำถึง -50 องศาเซลเซียส ปรากฏการณ์นี้ส่งผลต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Sea Level Rise) กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก คาดการณ์ว่าอุณหภูมิโลก อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5-2.4 องศาเซลเซียส ส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเล ปะการังมีความเสี่ยงสูงที่จะตาย สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น 0.03 องศาเซลเซียส สาเหตุหลักมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากต้องการหยุดยั้งอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 43% ภายในปี 2030 แต่จากแนวโน้มปัจจุบัน ยังต่ำกว่า 10% นี่คือสัญญาณเตือนอันตราย ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันส่งผลต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 30-40% ภายในปี 2030 เป้าหมายดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ความพยายามภายในประเทศ ลดก๊าซเรือนกระจก 33.2% ผ่านกลไกภายในประเทศที่มีอยู่ทั้งหมด การสนับสนุนจากต่างประเทศ ลดก๊าซเรือนกระจก 6.8% ผ่านกลไกทางการเงินระหว่างประเทศ ทั้งในรูปแบบเงินกู้และเงินให้เปล่า นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายสำรองเพิ่มเติมอีก 3% สำหรับใช้กับกลไกซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ

กลไกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นต้องได้รับการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ตามที่กำหนดไว้ในแผน ปัจจุบันได้มีการ ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประกอบด้วย 14 หมวด 169 มาตรา ดังนี้

  • หมวด 1 ทั่วไป รับรองสิทธิของประชาชนและกำหนดการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วน สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล การแสดงความคิดเห็น การได้รับการเยียวยา ฯลฯ
  • หมวด 2 เป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทยสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่ละหน่วยงานรัฐกำหนดเป้าหมายและแผนให้สอดคล้อง บูรณาการเป้าหมายกับภารกิจตนเอง
  • หมวด 3 คณะกรรมการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กนภ.) การบูรณาการในการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพิจารณาเห็นชอบกฎหมายลำดับรองเสนอแนะนโยบาย และการดำเนินงาน
  • หมวด 4 กองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินและใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง
  • หมวด 5 แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วยสถานการณ์ เป้าหมาย แนวทางการดำเนินการ และการติดตามผล ทบทวนทุก 5 ปี
  • หมวด 6 ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และส่งข้อมูลผ่านรายงานแห่งชาติไปยัง UNFCCC รายงานการปล่อยก๊าซของนิติบุคคล เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดก๊าซเรือนกระจก
  • หมวด 7 การลดก๊าซเรือนกระจก กำหนดแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐตามเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้สอดคล้องกับแผนแม่บท
  • หมวด 8 ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้มีมาตรการภาคบังคับในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ กำกับดูแลระบบซื้อขายสิทธิการปล่อย GHGs จัดทำแผนการจัดสรรรสิทธิ ควบคุมการปล่อย GHGs อุตสาหกรรมใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูง และกำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้แน่นอนกว่า
  • หมวด 9 ระบบภาษีคาร์บอน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดการกับปัญหาการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจก เก็บภาษีและค่าธรรมเนียมคาร์บอนจากผลิตภัณฑ์ เก็บภาษีเพลิงฟอสซิลภาคคมนาคมขนส่ง กาคการใช้ไฟฟ้า และเก็บภาษีจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
  • หมวด 10 คาร์บอนเครดิต เพื่อให้การจัดการและใช้คาร์บอนเครดิตมีความน่าเชื่อถือและไม่ขัดหรือแย้งกับประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ กลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต กำกับดูแลการใช้คาร์บอนเครดิตภายในประเทศและระหว่างประเทศ และการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจคาร์บอนเครดิต
  • หมวด 11 การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • หมวด 12 มาตรการส่งเสริมการดำเนินงาน เพื่อให้มีการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน หน่วยงานของรัฐองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรด้านการศึกษา เอกชน
  • หมวด 13 มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรม ทางเศรษฐกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
  • หมวด 14 บทกำหนดโทษ ป้องกันยับยั้งมิให้มีการกระทำฝ่าฝืนมาตรการบังคับ จงใจรายงานข้อมูลเท็จ ฝ่าฝืนระบบซื้อขายสิทธิ และฝ่าฝืนบทบัญญัติคาร์บอนเครดิต
  • บทเฉพาะกาล

เป้าหมาย Climate Change Act หรือวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนประเทศไทยมีไว้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ และยั่งยืน พัฒนากลไก เครื่องมือ ในภาคบังคับและภาคสมัครใจให้ครอบคลุม และเพียงพอต่อการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวฯ พัฒนากลไกทางการเงิน สนับสนุน การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวฯ แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและยั่งยืน เพื่อพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พิรุณ กล่าวทิ้งท้ายว่า “รัฐพร้อมรับฟังและพร้อมขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วนด้วยกลไกการร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 10 ปีที่แล้วทุกคนไม่เคยพูดถึงเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หลังปี 2030 พรบ. ฉบับนี้จะมีความจำเป็นอย่างมากในการใช้ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน”

คาร์บอนเครดิต สู่ Premium T-VER รับมือ Climate crisis

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ทุกคนกำลังเผชิญการสิ่งใหม่ที่เรียกว่า Climate Crisis หรือ วิกฤติสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคมทั่วโลก ปัจจุบันโลกของเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมสูงถึง 2.4 ล้านล้านตัน เห็นชัดได้ว่าอุณหภูมิเข้าสู่จุดย่ำแย่

จากรายงาน IPPCC’s ค้นพบว่า “ก๊าซเรือนกระจก” เป็นปัญหาใหม่และมีความเชื่อมโยงกับวิกฤติในปัจจุบัน ดังนั้น จึงต้องเกิดการปรับตัวไม่ว่าจะเป็นในด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) การตัดต้นไม้ การผลิตอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซมีเทนในภาคอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ฉะนั้นการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหยุดยั้งวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งอีกต่อไป แต่ทุกคนมีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้ไฟฟ้า การขับรถออกไปทำงาน การซื้อของมาแล้วขายของไป ซึ่งเรียกว่า Carbon Footprint

เกียรติชาย มองว่า Net Zero เกิดขึ้นได้ยากเพราะต้องเกิดจากความร่วมมือกับทุกฝ่าย ดังนั้น การใช้มาตราการ Carbon Credit จึงเป็นโอกาสใหม่ที่เชิญชวนให้ทุกฝ่ายรับรู้เกี่ยวกับมาตรฐานเพื่อสร้าง Carbon Credit และถ่ายโอนให้กับผู้ที่สร้าง Carbon Footprint ขึ้น สู่ตลาดการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นส่งผลให้ต้นทุนภาพรวมลดลง

สิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดโลกมีการใช้สิทธิการปล่อยควบคุมโดยกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย ยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป (The European Union – EU) ที่มีการกำหนดอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็ก หรือมาตรการ CBAM หรือ กลไกการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสหภาพยุโรป โดยมีการกำหนดใครก็ตามที่มีสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือสามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยนกันได้ คาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าประเทศไทยมีมีมาตรการนี้เช่นกัน ด้านราคา Allowance ในระบบ ETS สูงถึง 100 เหรียญต่อตัน

ปัจจุบันเริ่มมีโครงการการร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ “รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” (“Bangkok E-Bus Programme”) ซึ่งเป็นโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศโครงการแรกของโลกที่มีการซื้อขายกันเกิดขึ้น ภายใต้ความตกลงปารีส Article 6.2 นอกจากนี้ ยังมีประเทศญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างเสนอข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจากการตั้งเป้าสู่ Net Zero ปี 2065 และเป็น Carbon Neutrality ปี 2050 ต้องเกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายผ่านระบบนิเวศ (Ecosystem) ภายในประเทศ ซึ่งเรียกว่า Premium T-VER คาร์บอนเครดิต มาตรฐานใหม่สู่สากลที่จะสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลและขั้นตอนการพัฒนาโครงการ Premium T-VER เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ ghgreduction.tgo.or.th

“ภาคธุรกิจไทยตั้งหน้ารับมือสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม”

ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า EU เสนอร่างกฎหมายห่วงโซ่อุปทาน คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมาย “EU Directive on Corporate Sustainability Due Diligence” ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้ภาคเอกชนต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของตนเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

โดยหลักการของร่างกฎหมาย การกำกับดูแลให้ภาคเอกชน EU รวมถึงบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ที่ทำธุรกิจกับบริษัทใน EU ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม โดยวางกฎเกณฑ์ให้มีการตรวจสอบ ดังนี้ Due Diligence in Supply Chain ห่วงโซ่อุปทาน Policy การจัดทำนโยบาย และ Code of Conduct จรรยาบรรณธุรกิจ บริษัทขนาดใหญ่ ต้องเพิ่มการตรวจสอบในด้านสภาพอากาศ (Climate Due Diligence) ซึ่งมุ่งจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ทั้งนี้ ภาคเอกชนใน EU อาจได้รับโทษปรับและความรับผิดชอบทางแพ่ง หากไม่ทำ Due Diligence ตามข้อกำหนด

ใครต้องทำ Due Diligence บ้าง ?

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปแต่ละประเทศจะแต่งตั้งหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด CSDDD ของบริษัท โดยขอบเขต และการบังคับใช้ข้อกำหนดจะถูกนำไปใช้กับ “บริษัทในสหภาพยุโรป” ที่มีรายได้สุทธิทั่วโลกเกินกว่า 450 ล้านยูโร (416 ล้านดอลลาร์) และมีการจ้างงานมากกว่า 1,000 คน อย่างไรก็ตามการดำเนินการจะค่อยเป็นค่อยไปโดยเริ่มจากบริษัทที่ใหญ่ที่สุดและขยายไปยังบริษัทขนาดเล็ก และ “บริษัทนอกสหภาพยุโรป” ที่มีรายได้ 450 ล้านยูโร ในสหภาพยุโรป โดยไม่มีเกณฑ์จำนวนพนักงาน *ตัวเลขล่าสุดจากรายงาน The Eu Corporate Sustainability Due Diligence: The Final Text เดือนมีนาคม 2024

การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทย

ผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายนี้ คือ บริษัทที่เข้าไปลงทุนใน EU และมีคุณสมบัติเข้าข่ายตลอดจนบริษัทในไทยที่เป็น Suppliers ส่งออกสินค้าให้กับบริษัทที่เข้าข่าย/ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องเตรียมการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดเพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ และ EU ตลาดสำคัญของสินค้าส่งออกไทย การปรับตัวเพื่อดำเนินการตามมาตรฐานใหม่ให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงเป็นโอกาส และความท้ากายที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า และผู้บริโภคซึ่งจะเป็นใบเบิกทางในการเจาะตลาดการค้าและการลงทุนของสินค้าและบริการไทยในตลาดยุโรป

ตัวช่วยในการบรรลุเป้าหมาย

UN Global Compact มีเครื่องมือและทรัพยากรที่จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สร้างความแตกต่างได้อย่างแท้จริงในโลกและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น UN Global Compact Academy แพลตฟอร์มเรียนรู้ด้านความยั่งยืนเกี่ยวกับภาคเอกชนที่นักธุรกิจมากกว่า 100,000 คน เข้าร่วมในแต่ละปี Peer Learning แผลตฟอร์มแบ่งปันผลลัพธ์ความสำเร็จและข้อควรเรียนรู้จากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทต่าง ๆ ในภูมิภาค Business Accelerators โปรแกรมช่วยเหลือบริษัทต่าง ๆ ให้มุ่งเน้นไปที่การดำเนินงาน ด้านสิทธิมนุษยชน การดำเนินการ ด้านสภาพอากาศ ความเท่าเทียมทางเพศ และนวัตกรรม เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ Think Labs โครงการที่ผู้นำจากพื้นที่ต่าง ๆ มารวมตัวกัน เพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาสำคัญด้านความยั่งยืน

กฎหมายห่วงโซ่อุปทานเปรียบเสมือนแรงผลักดันสำคัญ ให้ธุรกิจทั่วโลกต้องปรับตัว มุ่งสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเคารพสิทธิมนุษยชน ธุรกิจไทยจึงควรศึกษาและเตรียมพร้อมรับมือกับกฎระเบียบใหม่เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวสู่ธุรกิจมิตรกับโลก ไม่ได้เป็นเพียงภาระ แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจ “ธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็ว จะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภค นักลงทุน และภาครัฐ สร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต”

สรุปงานจากงานสัมมนา Go Green 2024:The Ambition of Thailand “ร่วมเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย” หัวข้อ “Climate Change Act: The Springboard To Opportunities กฎหมายโลกร้อน: เกณฑ์ใหม่กับโอกาสประเทศไทย หัวข้อ “T-VER Premium คาร์บอนเครดิต มาตรฐานใหม่สู่สากล” และหัวข้อ “กฎหมายห่วงโซ่อุปทาน ผลักดันโลกทำธุรกิจอย่างยั่งยืน”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

การขับเคลื่อน ESG สำหรับบริษัทนอกตลาด

จับทิศทาง ESG ปี 2024 กับ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

TEI เปิด 10 เรื่องต้องรู้ Green Chongqing การพัฒนานครฉงชิ่ง สู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ