TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเก็บภาษีสินค้านำเข้า… สกัดจีนตีตลาดไทย ไม่ง่าย

เก็บภาษีสินค้านำเข้า… สกัดจีนตีตลาดไทย ไม่ง่าย

เทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมามีเรื่องเกี่ยวกับจีน 2 เรื่องที่เนื้อหาสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

ด้านหนึ่ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท. ออกมาให้ข้อมูลว่าระหว่างวันที่ 1-11 กุมภาพันธ์ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยแล้วกว่า 300,000 คน และคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะอยู่ในระดับ 26,000-27,000 คนต่อไปอีก 4-5 วัน และยังคาดการณ์ด้วยว่าเดือนกุมภาพันธ์จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยไม่น้อยกว่า 750,000 คนเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่เดินทางเข้ามา 508,563 คน

แต่อีกด้านหนึ่งมีเสียงโอดครวญจากภาคเอกชนโดยเฉพาะ SME อย่างน่าเห็นใจว่า เจอสินค้าจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาดจนประคองกิจการแทบจะไม่ไหวแล้ว โดยสินค้าจีนอาศัยช่องทางอีคอมเมิร์ซส่งสินค้าเข้ามาขายราคาต่อชิ้นไม่เกิน 1,500 บาท ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่ม

ขณะเดียวกัน สินค้าไทยทำต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก ความได้เปรียบเสียเปรียบตรงนี้เอง ที่เป็นหนึ่งในจุดตายของ SME ไทย นอกจากนี้ ยังมีการสำแดงเท็จผ่านคลังสินค้าปลอดอากร (Free Trade Zone) ว่าสินค้ามีราคาต่ำกว่า 1,500 อีกด้วย

เรื่องการค้าขายระหว่างไทยกับจีน นักวิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช พูดในรายการ Deep Talk ว่า ไทยขาดดุลการค้าจีนมากขึ้น จาก 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯมาเป็น 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน

นักวิชาการรายนี้ วิเคราะห์ว่า การที่ (ไทย ) ขาดดุลการค้าจีนมากขนาดนี้ และเศรษฐกิจไทยพึ่งจีนอยู่ 16 % ทำให้เกิดผลการผูกโยงไปมา คือเมื่อ ( เศรษฐกิจ ) จีนชะลอไทยก็ชะลอตัวตาม และการที่สินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาดโดยสะดวกท้ายที่สุดทั้ง SME และเกษตรกรไทย ตายเรียบ

ที่มาที่ไปของเรื่อง สินค้าไม่เกิน “1,500“ ไม่ต้องเสียภาษี จนสินค้าจากจีนใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซบุกเข้ามาตีตลาดไทยจน SME ระทมกันถ้วนหน้านั้น มติชน ( 12 ก.พ.67 ) รายงานข่าวว่า “ .. เป็นไปตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นเครื่องมือเปิดตลาดและอำนวยความสะดวกทางการค้าระดับภูมิภาคได้ดี

ส่วนไทยการกำหนดราคาศุลกากรขั้นต่ำนั้น อธิบดีกรมศุลกากรจะขอความเห็นชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ดีการกำหนดราคาขั้นต่ำดังกล่าว ยังถกเถียงกันในเวทีโลกว่า ระดับราคาที่แท้จริงควรอยู่ที่เท่าไร จึงจะได้ผลดีต่อการอำนวยความสะดวกจากการค้ามากที่สุด โดยเฉพาะสถานการณ์การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่สูงขึ้นทุกปี การกำหนดราคาศุลกากรขั้นต่ำดังกล่าวจะช่วยลดขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าของเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดความคล่องตัวได้มากขึ้น …”

อนึ่ง ราคาสินค้าศุลกากรขั้นต่ำที่ไทยกำหนดให้ยกเว้นอากร 1,500 บาท เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2530 กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 500 บาท เมื่อราคาสินค้าขั้นต่ำได้รับการยกเว้น (อากร) ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้าตามมูลค่าดังกล่าว ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากอากรได้รับการยกเว้นจึงไม่มีฐานมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

เรื่องนี้ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอ บริษัท โซลูชั่น จำกัด อดีตนายกสมาคมอีคอมเมิร์ชไทย กล่าวว่า ได้เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการพัฒนาการเศรษฐกิจสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับเรื่อง “การขาดดุลดิจิทัลของประเทศไทย“ จากการที่คนไทยหันมาใช้บริการต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยประมาณการว่าจะสูงถึงปีละ 2 แสนล้านบาท พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลมีแผนกำกับดูแลจริงจัง โดยเฉพาะสินค้าจีนที่ทะลักผ่าน ช่องโหว่กฎหมาย ผ่านฟรีเทรดโซน และการเว้นภาษีขาเข้าจากสินค้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท (กรุงเทพธุรกิจ 15 ก.พ. 67)

ความจริง ปัญหาสินค้าจีนตีตลาด SME ไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาภาคเอกชนทั้งร้องทั้งกระทุ้งทั้งรัฐบาลก่อนหน้า และรัฐบาลตอนนี้ มาหลายครั้งแต่กระแสไม่ขึ้น กระทั่งมีการรายงานว่าในปีที่ผ่านมา (2566) ไทยขาดุลการค้าจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 36,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัวในรอบ 20 ปี

ผนวกกับกระแสดรามา เรื่องจีนก็อปกางเกงช้าง (กางเกงแห่งชาติของไทย) เข้ามาตีตลาด จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และมีการท้าวความไปถึงปัญหา SME ไทยที่เจอสินค้าจีบเข้ามาตีตลาดโดยอาศัยช่องโหว่การนำเข้าสินค้ามูลค่าไม่เกิน 1,500 ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซและสิทธิทางภาษี เข้ามาตีตตลาดไทย กระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องภาษี จึงออกมาขยับอย่างขึงขังเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับทางออกในเรื่องนี้

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ สัปดาห์ที่แล้ว ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ได้นัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร กรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมถึง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มาหารือเพื่อพิจารณาผลกระทบทุกมิติ ไม่ว่าการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการใช้ช่องโหว่เลี่ยงภาษี

ตามข่าวระบุว่า ปลัดคลัง วางกรอบหารือไว้ 2 ประเด็นใหญ่ หนึ่ง การปรับลดมูลค่าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าจาก 1,500 บาทลงมา และสอง การแก้ไขประมวลรษฎากรในการยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้านำเข้าตามกฎหมายศุลกากร เพื่อให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนำเข้าในทุกรายการสินค้า รวมทั้งให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาให้ข่าว มีประเด็นหลัก ดังนี้ คือ 1) กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขประมวลรัษฏากร ในการยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้านำเข้าตามกฎหมายศุลกากร เพื่อให้กรมสรรพากรสามารถดำเนินการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนำเข้าในทุกรายสินค้าได้ 2) สินค้าที่มาจากต่างประเทศจะไม่สามารถปลอดภาษีมูลค่าเพิ่มได้ต่อไป

สรุปว่า คลังเอาแน่ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าที่มูลค่าไม่ถึง 1,500 แต่จะเริ่มเมื่อไร ยังไม่สามารถกำหนดได้เพราะในทางปฏิบัติมีรายละเอียดให้ต้องคำนึง อาทิ ตู้สินค้าหนึ่งมีสินค้าไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นรายการซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่เคลียร์ออกมา ส่วนประเด็นที่ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะกระทบกับสินค้านำเข้าจากจีนทีครองตลาดส่วนนี้อย่างเบ็ดเสร็จ

จุลพันธ์ยังบอกด้วยว่า “..เชื่อมั่นว่าจีนไม่น่าจะการตอบโต้อะไร เพราะแนวทางที่กำลังดำเนินการเป็นไปตามกรอบข้อตกลง ไม่ได้มีการทำนอกกรอบข้อตกลง “มุมมองของ รมช.คลัง ถือว่ามองโลกในแง่ดีมาก ๆ และ พูดเร็วเกินไปน่าจะให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องสำรวจท่าทีจีนก่อน อย่าด่วนทึกทักไปเอง เพื่อให้การเจรจาขอเปลี่ยนแปลงมีอุปสรรคน้อยที่สุด

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้เรื่องนี้ นายกฯเศรษฐา สั่งการ ปลัดคลังรวมทั้งอธิบดีที่เกี่ยวข้อง ผ่านแอปพลิเคชัน X ตามถนัด เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า “อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ควรจะทำได้ คือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม “แต่การจะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าจีนและจากประเทศอื่น ๆ ที่ นำเข้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ หรือจะยกเลิกข้อยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีหากสินค้ามูลค่าไม่เกิน 1,500 คงไม่ได้เห็นในเร็ววันนี้ เพราะในทางปฏิบัติหากจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าที่นำเข้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซทุกชิ้น จะเคลียร์สินค้าที่ถูกส่งมาเป็น 10 ล้านชิ้น อย่างไรนี่แหละปัญหาใหญ่ ….

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“เศรษฐาโทเคน” จะสร้าง พายุหมุนทางเศรษฐกิจ?   

เข้าเกียร์ห้า ดันเศรษฐกิจระวังทางโค้งด้วย

เข้าเกียร์ห้า ดันเศรษฐกิจระวังทางโค้งด้วย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ