TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"เศรษฐาโทเคน" จะสร้าง พายุหมุนทางเศรษฐกิจ?   

“เศรษฐาโทเคน” จะสร้าง พายุหมุนทางเศรษฐกิจ?   

นโยบายแจกเงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาท 56 ล้านคนรวมเป็นเงิน 560,000 ล้านบาทซึ่งรัฐบาลเศรษฐา โดยพรรคเพื่อไทยชูเป็นนโยบายฉลองการกลับมาครองทำเนียบอีกครั้ง ของเจ้าแห่งประชานิยมตัวจริง การประกาศแจกเงินต่อคนจำนวนสูงสุดในประวัติศาสตร์ประชานิยมไทย ทำเอาชาวบ้านฝันเห็นเงินหมื่นกันถ้วนหน้าแล้ว แม้จะงง ๆ อยู่นิดนึงว่า เจ้าเงินดิจิทัลที่ว่านั้นคืออะไร? จะเอามาซื้อข้าวของอย่างไร พร้อมกันนั้นยังมีคำถามตามมาอีกขบวนใหญ่

เงินดิจิทัลที่รัฐบาลจะแจกนั้นคือ โทเคน มีคำอธิบายว่าหมายถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงสิทธิต่าง ๆ อาทิ ร่วมทุนหรือสิทธิอื่นตามแต่ผู้ออก (โทเคน ) ต่างจากคริปโทที่เป็นสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งในกรณีเงินดิจิทัลที่กล่าวถึงนี้ รัฐบาลเป็นผู้ออกและตกลงกับประชาชนที่ได้รับว่าสามารถนำไปซื้อสินค้าบริการที่กำหนดได้ ปกติจะมีการตั้งชื่อแต่โทเคนแต่ของรัฐบาลยังไม่ตั้งชื่อ ขอเรียกว่า “เศรษฐาโทเคน” ไปพลางก่อน   

ด้วยนโยบายแจกเงินดิจิทัลที่ว่ามีมูลค่ามหาศาลจึงมีคำถามตั้งแต่วันแรกที่ เศรษฐ ทวีสิน แคดิเคตนายกฯ ของเพื่อไทย (ขณะนั้น) ไปประกาศช่วงหาเสียงลั่นเมืองทองธานี เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านาว่าจะแจกเงินดิจิทัลมูลค่า 10,000 บาทให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นทุกคน จนถึงวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะเอางบประมาณมาจากไหน?

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เศรษฐา นายกฯ ได้ยืนยันว่าจะแจกเงินดิจิทัลพร้อมกันทั่วประเทศภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งหมายความว่าระหว่างนี้ รัฐบาลต้องหางบประมาณเตรียมไว้ 560,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของงบประมาณฯ ปี 2567 (3,350,000 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับงบลงทุนปีงบฯ 2567 ที่วางไว้ 690,000 ล้านบาท หรือ 20.60% ของงบฯรวม 

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว กฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์สื่อถึงประเด็นดังกล่าว (เอาเงินมาจากไหน?) โดยยืนยันว่าจะไม่ออกพ.ร.ก.กู้เงินพิเศษ (เหมือรัฐบาลก่อนที่กู้มารับมือกับวิกฤติโควิด) แต่จะพิจารณาแหล่งเงินจากสถาบันการเงินของรัฐก่อน เพราะมีเงินงบประมาณที่สามารถนำมาใช้ได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 

รมช.คลัง ขยายความว่ามาตรา 28 ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ.2561 นั้น กระทรวงการคลังสามารถมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการเงินของรัฐ ดำเนินโครงการมาตรการ หรือกิจกรรมเพื่อฟื้นฟู หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม โดยให้สถาบันการเงินของรัฐ ออกค่าใช้จ่ายไปก่อน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระในการชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้จากการดำเนินการดังกล่าวในภายหลัง

ประเมินจากคำสัมภาษณ์ข้างต้นเชื่อว่า รัฐบาลน่าจะเลือกช่องทาง มาตรา 28 ตาม พรบ.วินัยการเงินคลัง ฯลฯ ในการหาเงินมาทำนโยบายเงินดิจิทัล โดยมอบความไว้วางใจให้กับแบงก์รัฐ แบงก์เฉพาะกิจ นำโดยกรุงไทย ออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฯลฯ รับหน้าที่หาเงินมาสำรองจ่ายไปพรางก่อน จากนั้นรัฐบาลนี้หรืออาจข้ามยาวไปถึงรัฐบาลหน้า จะจัดงบประมาณทยอยคืนในภายหลัง ซึ่งเปรียบเหมือนการกู้ทางอ้อม

ประเด็นถัดมาที่มีการถกเถียงไม่แพ้ประเด็นแรกคือ แจกเงินดิจิทัลแบบถ้วนหน้าแล้วจะดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวแบบที่พรรคเพื่อไทยเรียกว่า พายุหมุนทางเศรษฐกิจ ได้จริงหรือ? 

ข่าวที่ออกมาจากพรรคเพื่อไทยก่อนหน้า ตั้งเป้าแบบคิดใหญ่ทำเป็นผสมกับฝันให้ไกลไปให้ถึงว่าเมื่อเติมเงินดิจิทัลเข้าระบบเศรษฐกิจแล้ว หากเงินหมุน 3 รอบและจะปั่นเศรษฐกิจเพิ่มเข้าไปในระบบได้ 1.68 ล้านล้านบาท สร้างรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มได้รอบละไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และดันจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ขึ้นไปซึ่งจะทำให้ปีหน้า จีดีพีจะขยายตัวทะลุขึ้นสู่ระดับ 5% หรือระดับศักยภาพ 

ประเด็นนี้จากการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่สะท้อนมุมมองผ่านสื่อต่างๆ ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีความเห็นแยกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ  หนึ่ง ว่าไปตามหลักการเงินเข้ามาเท่านี้จีดีพีจะโตเท่านั้น  สอง ให้ความเห็นแบบตกหลุมรักนโยบายแจกเงินดิจิทัลอย่างจัง และ สาม มาพร้อมกับข้อสังเกต

สักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค แบงก์ชาติ ประเมินตามหลักการว่า หากอัดเงินดิจิทัลเข้าระบบแล้วหมุน 3 รอบจะช่วยดันจีดีพีได้ 3%

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลว่า รัฐบาลสามารถแจกเงินดิจิทัลโดยไม่กระทบกับการคลัง และคาดว่าเม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาทจากโครงการดังกล่าวจะหมุน 2-3 รอบ คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท จะดันจีดีพีเพิ่มขึ้นอีก 3-4% และเศรษฐกิจปีหน้า (2567) จะโตถึง 7% หากส่งออกโตไม่น้อยกว่า 3% 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ตั้งคำถามว่าการอัดฉีดเงิน (650,000 ล้านบาท) มีขนาดใหญ่ไปหรือไม่เมื่อเทียบกับระบบการเงินในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ 

หรือมุมมองจาก พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจไว้หลาย ๆ ประเด็น อาทิ การแจกเงินดิจิทัลอาจจะไม่สร้างจีดีพีใหม่มากมายอย่างที่คิด โดยยกตัวอย่างว่าหากคน ๆ หนึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 10,000 บาทต่อเดือน เมื่อได้เงินดิจิทัลเพิ่มมาอีก 10,000 บาท อาจใช้เงินเพิ่มเป็น 15,000 บาท และเก็บไว้ 5,000 บาทหรือใช้หนี้ ซึ่งเท่ากับว่าเกิดจีดีพีใหม่แค่ 5,000 บาท หรือนำเงินแจกดิจิทัลไปซื้อสมาร์ทโฟนก็จะเกิดจีดีพีในประเทศน้อย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอื่น อาทิ มีการกำหนดประเภทร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการแจกเงินดิจิทัล เหมือนโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลประยุทธ์ จำกัดเฉพาะร้านของคนตัวเล็ก ส่วนร้านสะดวกซื้อ หรือโมเดิรน์เทรด ฯลฯ ไม่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เงินของรัฐเข้ากระเป๋าชาวบ้านเป็นหลัก ไม่ใช่ไหลไปกองในบัญชีเจ้าสัว หรือร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลไปแล้วสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที หรือต้องรอ 6 เดือนจนสิ้นอายุโครงการ หากเป็นอย่างหลัง รอบหมุนเงินคงไปไม่ถึง 3 รอบและปั่นเศรษฐกิจไม่ได้มากอย่างที่คิด เป็นต้น

ประมาณกลางปีหน้าคงได้ทราบกันว่าเศรษฐาโทเคนที่จะเริ่มแจกราวต้นปีหน้าจะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจลูกโต ปั่นจีดีพีทำนิวไฮในรอบทศวรรษตามที่พรรคเพื่อไทยคิดใหญ่ไว้หรือไม่ หรือว่าจะอ่อนตัวกลายเป็นดีเปรสชั่น หรือหนักไปกว่านั้น สลายตัวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ส่งผลเศรษฐกิจเล็กน้อยจนสัมผัสไม่ได้ไม่คุ้มกับงบประมาณก้อนโตที่ถล่มลงไป

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“เศรษฐา ทวีสิน” และเศรษฐกิจท้ายปี

ได้รัฐบาลช้า บั่นทอนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ

หนี้ครัวเรือน หลอนเศรษฐกิจ

เมื่อ “ตลาดส่งออกทุเรียนไปจีน” ของไทย ถูกท้าทาย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ