TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistดิจิทัล วอลเล็ต ต้องฝ่ามรสุมอีกหลายลูก

ดิจิทัล วอลเล็ต ต้องฝ่ามรสุมอีกหลายลูก

ท่ามกลางอากาศในเดือนเมษาที่ร้อนระอุ กระทั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ออกมาดับร้อนให้หลาย ๆ คนที่รอความหวังจากเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ชุ่มชื่นกันบ้าง พร้อมให้ความหวังว่า ไม่เกินไตรมาส 4 ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้เกิน 840,000 บาทต่อปี หรือ 70,000 บาทต่อเดือน มีเงินฝากรวมกันไม่เกิน 500,000 บาทต้องได้ทุกคน

การแถลงข่าวรอบนี้ดูเหมือนว่านายกฯ เศรษฐาพกความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม บรรยากาศในการประชุมก็เป็นไปอย่างรวบรัดมาก ๆ จิ้งจกในทำเนียบแอบกระซิบว่า

“ห้องประชุมคณะกรรมการเงินดิจิทัล วอลเล็ต ชุดใหญ่ที่มี “นายกเศรษฐา” นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ที่ประชุมใช้เวลาในการหารือเพียงแค่ 1 ชั่วโมง แทบจะไม่ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นคณะกรรมการได้แสดงความคิดเห็นมากเท่าใดนัก”

เรียกว่าประชุมพอเป็นพิธี เนื่องจากมีการจัดเตรียมทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว หลังจากต้องเสียเวลาถึง 7 เดือน จึงจะได้ข้อสรุปที่ลงตัว เหตุที่ต้องรอนานเพราะรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศในห้วงเวลาที่กฎหมายงบประมาณปี 2567 ออกมาล่าช้ากว่ากำหนดไม่มีงบประมาณบริหารประเทศ

จึงเป็นที่มาพ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท แต่เมื่อกฎหมายงบประมาณผ่านการเห็นชอบของสภาฯ แล้ว รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้เงินงบประมาณ น่าจะปลอดภัยกว่าการใช้เงินกู้ที่มีเสียงคัดค้าน แม้กระทั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ต่างพากันไม่เห็นด้วย 

แหล่งงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วน 1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท 2.ใช้เงินจากมาตรา 28 ของธ.ก.ส. วงเงิน 172,300 ล้านบาท 3.บริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท ดูเผิน ๆ ใช้งบประมาณปี 2567 และ 2568 น่าจะปลอดภัยไม่น่าจะมีปัญหาอะไร 

หากวิเคราะห์ลึก ๆ แล้ว ยังมีข้อสงสัยว่าทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งงบประมาณปี 2568 ไม่น่าจะมีอะไร เพราะบรรจุไว้ในพ.ร.บ.งบประมาณปีหน้าได้ แต่ที่จะเป็นปัญหาคืองบประมาณปี 2567 ซึ่งผ่านสภาฯ ไปแล้ว มีข้อน่าสังเกตก่อนที่รัฐบาลจะแถลงข่าวดิจิทัล วอลเลต ที่ประชุมครม.มีมติ ให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ เร่งทำสัญญาว่าจ้างโครงการลงทุนแบบต่าง ๆเป็นการเร่งด่วนให้มีผลก่อน 31 พฤษภาคม 2567 คาดว่าจะมีงบเหลือ 500,000 ล้านบาทแต่รัฐบาลจะเจียดมา 175,000 ล้านบาทมาเติมโครงการนี้ 

อย่าลืมว่า ในพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2567 ที่ได้ผ่านสภาฯ ไปแล้วนั้นไม่ได้บรรจุโครงการดิจิทัล วอลเลต เข้าไว้ด้วย หากนำมาใช้จริงอาจจะถูกตีความว่าทำไม่ได้ เนื่องจากไม่มีรายละเอียดให้สภาฯ ได้พิจารณาเพราะไม่มีอยู่ในงบประมาณตั้งแต่แรก 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่คนในสังคมตั้งคำถามกันมากที่สุด คือ การล้วงเงินจากกระเป๋าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 172,300 ล้านบาท รัฐบาลอ้างว่ายืมก่อนแล้วนำมาใช้ภายหลัง แต่ก็มีคนในที่ประชุมบอร์ดใหญ่แอบกระซิบว่าไม่ต้องยืมเพราะธ.ก.ส.เป็นธนาคารของรัฐสามารถสั่งการได้เลย

เรื่องนี้เสียงคัดค้านอย่างกว้างขวางว่าการที่รัฐบาลจะไปล้วงเอาเงินจากธ.ก.ส. เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือไม่หากดูตาม พ.ร.บ. ของ ธ.ก.ส. ในหมวด 2 มาตรา 9 ได้ระบุชัดเจนว่า เพื่อการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมกับการส่งเสริมเกษตรกรในบริบทการทำอาชีพเกษตรกรรม 

ไม่มีข้อความใดแม้แต่นิดเดียวที่เปิดทางให้ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ให้รัฐบาลเพื่อนำมาแจกประชาชนได้ แม้คนที่รับแจกจะเป็นเกษตรกรโดยตรงก็ตาม ขณะที่วัตถุประสงค์การแจกเงินดิจิทัลประกาศไว้ชัดเจนว่า ‘เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ’ และ ‘เพื่อการบริโภค’ และเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน ยิ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์เดิมของธ.ก.ส. เพราะการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการ ‘ส่งเสริมการเกษตร’ แต่อย่างใด

ที่สำคัญ พ.ร.บ.วินัยทางการคลัง ในมาตรา 28 ว่ากำหนดชัดเจน รัฐบาลใช้เงินของรัฐวิสาหกิจโดยขัดหรือไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ ไม่ได้ เรื่องนี้ต้องดูให้ดี ประเด็นนี้แบงก์ชาติได้ออกมาเตือนหลายครั้งแต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่ฟังหรือฟังแต่ไม่ได้ยิน

ยังมีข้อสังเกตอีกหลายประเด็นที่อาจจะเข้าข่ายไม่สามารถทำได้ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารฟาสต์ฟูดส์ ที่รัฐบาลบอกเข้าร่วมโครงการได้ ทั้งที่ธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่มีรายได้ปีละแสนล้าน แต่กฎหมายกระทรวงพาณิชย์ นิยามว่าร้านค้าขนาดเล็กมีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทเท่านั้น

มีข้อสงสัยไม่น้อยถ้ามีการแจกเงิน ดิจิทัล วอลเลต จริง ๆ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลคุ้มค่ากับหนี้สินที่จะเกิดขึ้นตามมาหรือไม่ หากยึดตามคำยืนยันรัฐบาลที่บอกว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.8 หรือ ราว 330,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลถมเงินลงไป 500,000 ล้านบาท หรือ 3% ของจีดีพี แค่นี้ก็รู้ว่าผลที่ได้ทางเศรษฐกิจไม่คุ้ม แต่กำไรน่าจะอยู่กับพรรคการเมืองเรตติ้งอาจจะดีขึ้น

รัฐบาลพยามอ้างว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยให้เกิดการลงทุนเพิ่ม ก็หวัง ๆ ลมแล้ง เพราะ คงไม่มีเจ้าของโรงงานหรือนักธุรกิจคนไหนจะขยายกำลังการผลิตหรือยอมลงทุนเพิ่มเพื่อรองรับออร์เดอร์จากเงินแจกมีผลช่วงสั้น ๆ แค่ 6 เดือน แต่อาจจะระบายสต็อกเก่า ๆ ที่ค้างในโกดังเท่านั้น 

อดสงสัยไม่ได้ว่าเราไม่มีวิธีการใช้เงิน 500,000 ล้านบาท นี้ไปทำประโยชน์อย่างอื่นที่ยั่งยืนและดีกว่าเอามาแจกเป็นเงินดิจิทัลอีกแล้วหรือ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“CASINOMIC” เครื่องปั๊มเศรษฐกิจตัวใหม่ ?

โครงการแลนด์บริดจ์ ฝันได้ … ไปไม่ถึง

SOFT (NO) POWER

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ