TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistหนี้ครัวเรือน หลอนเศรษฐกิจ

หนี้ครัวเรือน หลอนเศรษฐกิจ

หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนไต่เพดานทะลุขึ้นไปที่ระดับ 90.9% ต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ในไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งสะท้อนถึงระดับความรุนแรงปัญหาหนี้ครัวเรือน แม้ตัวเลขปรับลดลงบ้างในช่วงหลังจากนั้น หากหนี้ครัวเรือนยังถูกปักธงแดงเพื่อเตือนถึงความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจจากการออกมาเตือนของหน่วยงานต่าง ๆ และรัฐบาลประยุทธ์ได้ประกาศเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ โดยยกให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ปัญหาหนื้ครัวเรือนถูกเน้นย้ำจากแบงก์ชาติอีกครั้งด้วยการขยายนิยามรวมเอาหนี้อื่นอีก 4 ก้อนคือ หนึ่ง หนี้กองทุนการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  483,000 ล้านบาท สอง หนี้กู้จากสหกรณ์อื่นที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ 265,000 ล้านบาท สาม หนี้กู้ยืมจากการเคหะแห่งชาติ 11,000 ล้านบาท และ สี่ หนี้กู้ยืมจากฟิโกไฟแนนซ์ (ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด) อีก 6,000 ล้านบาท รวม 776,000 ล้านบาท เมื่อบวกกับยอดหนี้ตามนิยามเดิมทำให้ยอดหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ณ ไตรมาสแรก พุ่งพรวดขึ้นไปอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาทหรือ 90.6% ของจีดีพี     

แม้ สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค แบงก์ชาติ ผู้แถลงข้อมูลชุดนี้เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ย้ำว่าตัวเลขหนี้ (ครัวเรือน) ที่เพิ่มขึ้นมาจากการขยายนิยามหนี้ครัวเรือนใหม่เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือไม่ใช่มีหนี้ใหม่งอกขึ้นมา แต่ชุดตัวเลขดังกล่าวได้ยกระดับความหลอนที่มีต่อหนี้ครัวเรือนขึ้นมาทันที เพราะที่ผ่านมาสังคมรับรู้จากการส่งสัญญาณจากหน่วยงานต่าง ๆ มาเป็นระยะว่าหนี้ครัวเรือนนั้นน่ากลัว เป็นตัวเหนี่ยวรั้งให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และมีการเปรียบปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกาะกินเศรษฐฏิจไทยมากว่าทศวรรษว่าไม่ได้ต่างจากระเบิดเวลา 

ก่อนหน้านี้ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือที่รู้จักในนามเครดิตบูโร ออกมาสแกนหนี้ครัวเรือนให้เห็นมิติต่าง ๆ มากขึ้นโดยมีรายละเอียดตามนี้  

สถานการณ์หนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล ดูดีขึ้น โดยเอ็นพีแอล จากสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบัตรเครดิต ลดลงมาที่ระดับ 950,000 ล้านบาท จากที่เคยทำนิวไฮทะลุขึ้นไปถึง 1.1 ล้านล้านบาท เมื่อไตรมาส 2 ปี 2565 ช่วงวิกฤติโควิด สาเหตุที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างหนี้การขายหนี้ของสถาบันการเงินรวมทั้งเป็นผลจากเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมาขยายตัวดีขึ้นด้วย

แม้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนภาพใหญ่ดูผ่อนคลายขึ้น แต่เมื่อลงรายละเอียดกลับพบว่า มีประเด็นน่าห่วงที่หนี้ 2 ก้อนใหญ่ ก้อนแรกคือ หนี้เสีย ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ที่สูงกว่า 800,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 6% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า เช่นเดียวกับ หนี้กำลังจะเสีย หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน อีกราว 600,000 ล้านบาท หรือ 4.5% ของสินเชื่อรวม 

สุรพล ยังให้รายละเอียดด้วยว่า “หนี้” ทั้งที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างและกำลังจะเสียนั้นมีลูกหนี้ที่ช่วงอายุอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมาก คือเป็นลูกหนี้ในกลุ่มเจนวาย (อายุ 18-32 ปี ) ถึง 11 ล้านคน เจนเอ็กซ์ (อายุ 33-47 ปี) 8.4 ล้านคน และเจนแซด (อายุ 9-24 ปี ) 1.2 ล้านคน 

ในมุมของสุรพล เขามองว่า หากไม่สามารถแก้หนี้กลุ่ม ที่กำลังจะเสียหรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน  ได้ทัน โอกาสที่หนี้ก้อนนี้ จะไหลมาสมทบกับหนี้เสียที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือน ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก

โดยหนี้ก้อนที่กำลังจะเสียที่มีมูลค่าราว 600,000 ล้านบาทนั้น มีทั้งหมด 2.37 ล้านบัญชี มาจากหนี้ กลุ่มเจนวาย 52% เจนเอ็กซ์ 3 2% เบบี้บูมเมอร์ (อายุ 60 ปี+) 10% และเจนแซด 6% 

หรือหากดูจากมิติของมูลค่าหนี้ค้างชำระ เจนวายก็ยังเป็นกลุ่มที่ค้างชำระสูงสุดที่ 48% หรือคิดเป็นยอดหนี้ที่กำลังจะเสียถึง 2.9 แสนล้านบาท เจนเอ็กซ์ 35% หรือ 2.1 แสนล้านบาท โดย 2 ก้อนนี้รวมกัน 5 แสนล้านบาทที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย 

ข้อมูลจากเครดิตบูโร ระบุว่าหนี้ที่ค้างชำระนั้น ก้อนใหญ่สุดมาจากสินเชื่อเช่าซื้อราว 32% ของหนี้ที่ค้างชำระประมาณ 190,000 ล้านบาท รองลงมาคือ รองลงมา สินเชื่อที่อยู่อาศัย 27% หรือคิดเป็นยอดเงิน 160,000 ล้านบาท ตามด้วยสินเชื่อบุคคล 26% สินเชื่อเพื่อธุรกิจ 8% ฯลฯ

ดูจากข้อมูลข้างต้น หนี้เสียหรือเอ็นพีแอล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งทางแบงก์ชาติยอมรับในจุดนี้เช่นกัน แต่จะเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่ถึงกับส่งผลกระทบจ่อระบบเศรษฐกิจ และสถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่แบงก์สามารถรับมือได้ ส่วนภาพย่อยการที่คนรุ่นใหม่ อนาคตของชาติติดบ่วงหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นจำนวนมากนับเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่น่ากังวลอย่างหนึ่ง

กับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ยังอยู่ในภาวะทรง ๆ วันก่อนแบงก์ชาติประกาศว่าเตรียมจะออกมาตรการเพื่อ รับมือกับปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งคงต้องติดตามว่ามาตรการใหม่ที่จะออกมาต่างๆจากมาตรการเดิมอย่างไร   

ส่วนระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือนเริ่มนับถอยหลังหรือยังนั้น? ดนุชา พิชยนันท์ เลขาสภาสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ฯ เคยตอบคำถามนี้ว่า “เท่าที่ดูถ้าการจ้างงานยังไปได้ระดับนี้และเศรษฐกิจยังเติบโตได้ระเบิดก็ยังไม่ระเบิด” แต่ถึงระเบิดหนี้ครัวเรือนยังไม่ตูมตามออกมาแต่ระเบิดเวลาลูกนี้ไม่ได้หายไปไหนยังอยู่หลอนเศรษฐกิจและครัวเรือนไปอีกนาน 

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน  

เงินเฟ้อชะลอ แต่ดอกเบี้ยยังไม่ลด

“ทุน”​ ถอยตั้งหลัก คอย “ตั้งรัฐบาลใหม่” ชัดเจน

จับตา ‘เศรษฐกิจ’ ก่อนและหลัง การเลือกตั้ง

อาร์เจนตินา กระจกสะท้อน ประชานิยมไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ