TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเงินเฟ้อชะลอ แต่ดอกเบี้ยยังไม่ลด

เงินเฟ้อชะลอ แต่ดอกเบี้ยยังไม่ลด

สัปดาห์ก่อนหน้า กระทรวงพาณิชย์ออกมาแถลงตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าอยู่ที่ระดับ 0.53% เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเดือนที่ 5 และถือว่าเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 21 เดือน นับจากเดือนกันยายน ปี 2564 ที่เงินเฟ้อ 1.68%

วิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) บอกว่า การชะลอตัวของเงินเฟ้อมาจาก 4 ปัจจัยหลัก ๆ คือ หนึ่ง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง สอง ค่าไฟฟ้าลดลง สาม ราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวลง และ สี่ ฐานราคาในเดือนพฤษภาคม  2565 ที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้น 2.96%

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อช่วงต่อไปจะอยู่ในภาวะทรง ๆ บางเดือนอาจลงไปเฉียดใกล้ ๆ กับศูนย์โดยราคาน้ำมันและพลังงานที่ย่อลงคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงเงินเฟ้อ

โลกเข้าสู่วิกฤติเงินเฟ้อหลังสงครามยูเครนปะทุเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ ปีที่ผ่านมาราคาน้ำมัน ก๊าซ ทะยานขึ้นอย่างฉับพลัน และส่งผลผูกโยงเป็นทอด ๆ ไปยังต้นทุนผลิต ภาคบริการ ที่ขยับราคาตามต้นทุนใหม่  และสุดท้ายไปจบที่ “ค่าครองชีพ” 

เกือบทุกประเทศเผชิญกับ ภาวะเงินเฟ้ออย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ อาทิ สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 41 ปี อังกฤษ 40 ปี นิวซีแลนด์ 32 ปี เกาหลีใต้ 24 ปี สิงคโปร์กับฟิลลิปปินส์ในรอบ 14 ปี  

ส่วนเศรษฐกิจบ้านเรา เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อถูกดันขึ้นไปถึง 7.86% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี ปรากฎการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวมาพร้อมกับการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการ 

เช่น เรือข้ามฟาก ขึ้น 50 สต.ต่อเที่ยว (เริ่ม 1 มิ.ย. 65) เรือด่วนขึ้น 1 บาท (เริ่ม 15 มิ.ย. 65) รถโดยสาร บขส.ขึ้น 5 สต.ต่อกิโลเมตร (เริ่ม 4 ก.ค. 65) ไปรษณีย์ไทยขึ้นค่าบริการส่งจดหมายและพัสดุครั้งแรกในรอบ 18 ปี (เริ่ม 6 ก.ค. 65) บะหมี่สำเร็จรูป ยำยำช้างน้อย ขยับขึ้นจาก 2 บาทต่อซองเป็น 3.30 บาทต่อซอง ครั้งแรกในรอบ 20 ปี กาแฟอเมซอนขึ้น 5 บาทต่อเมนู เป็นต้น และยังมีสินค้าอีกหลาย ๆ รายการที่ขึ้นราคาแบบเงียบโดยอ้าง “น้ำมันแพง

แต่การชะลอตัวของเงินเฟ้อดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าราคาสินค้าและดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นไปก่อนหน้าจะปรับลงตาม

ที่ผ่านมาแบงก์ชาติทั่วโลกปรับนโยบายการเงินจากผ่อนคลายมาเป็นเข้มงวดด้วยการขึ้น ดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นับจากปลายไตรมาสแรกปีที่แล้วจนถึงวันนี้ เราจะเห็นข่าวแบงก์ชาติทั่วโลกปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนหลายประเทศ อัตราดอกเบี้ยนโยบายทำสถิติสูงสุดใหม่รอบทศวรรษเลยทีเดียวเช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 10 ครั้ง รวม 5% สู่ระดับ 5.00 -5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 16 ปี เช่นเดียวกับแบงก์ชาติไทย ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดูแลเงินเฟ้อมาโดยตลอด   

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00% โดยให้มีผลในวันนั้นเลย 

ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงถึงสาเหตุที่ กนง.ต้องขึ้นดอกเบี้ยว่า “ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ….“ 

พร้อมอธิบายถึงเหตุผลที่ กนง.ยังขึ้นดอกเบี้ยทั้งที่เงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่องด้วยว่าด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงแต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน คณะกรรมการฯ เห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี “ 

คล้อยหลัง กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบงก์พาณิชย์ และแบงก์รัฐ ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากกันถ้วนหน้า เฉลี่ยดอกเบี้ยเงินกู้ขยับขึ้นเฉลี่ย 0.20% นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่สองของปีนี้ ส่วนแนวโน้นนักวิเคราะห์หลายค่ายเชื่อว่า หลังจากนี้ กนง.อาจจะเปลี่ยนใจหันมา คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังเงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่อง อีกทั้งการขึ้นดอกเบี้ยทีละน้อย ๆ แต่ขั้นเรื่อย ๆ ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และยังเพิ่มภาระให้กับสมาชิกหนี้ครัวเรือนได้

การแสวงหาสมดุลระหว่างเสถียรภาพ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นโจทย์ยาก ราวกับว่าไม่มีอย่จริง

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“ทุน”​ ถอยตั้งหลัก คอย “ตั้งรัฐบาลใหม่” ชัดเจน

จับตา ‘เศรษฐกิจ’ ก่อนและหลัง การเลือกตั้ง

อาร์เจนตินา กระจกสะท้อน ประชานิยมไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ