TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistหนี้ครัวเรือน … หนี้ชั่วนิรันดร์

หนี้ครัวเรือน … หนี้ชั่วนิรันดร์

 

ดูท่าการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงเกินเกณฑ์ไม่ใช่เรื่องยาวธรรมดาเสียแล้ว หากยาวระดับมหากาพย์กันเลยทีเดียว หลังนโยบายที่ออกมาก่อนหน้านี้ นับจากรัฐบาลประยุทธ์ประกาศให้ปี 2565 ให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ แบงก์ชาติเปิดคลินิกแก้หนี้ ฯลฯ แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนตัวลงแต่อย่างใด           

วันก่อน กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยคลัง (รมช.) ไปพูดบนเวทีสัมมนาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่าจะสะสางปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยการให้ แบงก์ออมสิน เป็นหัวหอกตั้ง เอเอ็มซี (บริษัทบริหารสินทรัพย์) แล้วรวบรวมหนี้เสียจากธนาคารเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐเข้ามา ซึ่งเป็นโมเดลที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในช่วงปี 2540 -2544 หรือครั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง

แม้ รมช.กฤษฎามั่นใจว่าแนวทางนี้จะแก้ไข ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้เร็วขึ้น แต่ถ้าพิจารณาจากแนวโน้มสถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนแล้วดู รมช.คลัง ออกจะเล็งผลเลิศมากเกินไป

มาสำรวจสถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือน กันหน่อย ..

แบงก์ชาติเคยให้ข้อมูลว่า ในรอบ 10 ปี (2553 ถึงไตรมาสสามปี 2565) หนี้ครัวเรือนทะลึ่งพรวดขึ้นมาราว 30% หรือจาก 55% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็น 86.8% ต่อจีดีพี ซึ่งเกินจุดเฝ้าระวังที่แบงก์ชาติวางไว้ว่าไม่ควรเกิน 80% (ตอนนั้น)

เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ แถลงภาวะสังคมไตรมาสแรกของปีนี้ ระบุว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนของประเทศอยู่ 15.09 ล้านล้านบาท หรือ 86.9% ต่อจีดีพี

ส่วนที่มาของปัญหาหนี้ครัวเรือนจากการศึกษาของแบงก์ชาติพบว่ามาจากสาเหตุ 8 ประการ ซึ่งพอสรุปย่อได้ตามนี้ คือ หนึ่ง เป็นหนี้เร็วตั้งแต่วัยรุ่น สอง เป็นหนี้โดยดูข้อมูลไม่ครบถ้วน สาม เป็นหนี้เพราะเหตุจำเป็น สี่ เป็นหนี้นาน (เกษียณแล้วยังมีหนี้ให้ดูแล) ห้า ก่อหนี้เกินตัว หก เป็นหนี้เสีย เจ็ด เป็นหนี้เรื้อรัง (ยึดทรัพย์ขาดทอดตลาดแล้วยังเหลือหนี้เป็นเพื่อน) และ แปด ก่อหนี้นอกระบบ

แบงก์ชาติยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันคนวัยใสวัยเริ่มทำงานอายุ 25-29 ปี มากกว่า 58% ริเป็นหนี้แล้วและมากไปกว่านั้นคือ 25% ของหนี้กลุ่มดังกล่าว… เป็นหนี้เสีย

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการฯสภาพัฒนฯ กล่าวในบนเวทีต่างๆหลายครั้ง ระบุว่า ปัจจุบันคนเป็นหนี้เร็วขึ้น และนานขึ้น คนรุ่นใหม่กล้าก่อหนี้ด้วยเหตุผล “ของมันต้องมี “ แต่ รายได้น้อย ไม่มีเงิน เมื่อต้องการจำเป็นต้องกู้มาซื้อ  

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร ออกมาให้ข้อมูลแบบลงลึกว่า ปัจจุบัน (ณ พฤษภาคม 2566) มีหนี้ที่น่าเป็นห่วงอยู่ 2 ก้อน ๆ แรกคือ หนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ ก้อนนี้มียอดหนี้รวมอยู่ที่ 800,000 ล้านบาท หรือ 6% ของสินเชื่อรวม ส่วนหนี้ที่กำลังจะเสียอยู่ 600,000 ล้านบาท หรือ 4.5%

พร้อมแจกแจงจำนวนของ คนวัยต่าง ที่มีภาระหนี้ติดตัว ปรากฎว่าคนเจน Y (อายุระหว่าง 26-40 ปี ) นำโด่ง 11 ล้านคน ตามด้วยเจน X (30 – 44 ปี ) 8.4 ล้านคน และ กลุ่มเจน Z (10 – 21 ปี) อีก 1.2 ล้านคน    

สุรพลยังได้ชี้เป้าด้วยว่า ในหนี้ก้อนโตที่กำลังจะเสีย มูลค่า 600,000 ล้านบาทจาก 2.37 ล้านบัญชีนั้น เป็นบัญชีของกลุ่มเจน Y มากที่สุด 52 % รองลงมาเจน X 32% ตามด้วยกลุ่มเบเบี้บูม (56-74 ปี ) 10 % และกลุ่มเจน Z 6%

ข้อมูลจาก เครดิตบูโร ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า คนในวัยทำงาน มีความเสี่ยงมากที่จะติดกับดักหนี้ ..

ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้มาถึงจุดพีคเมื่อ แบงก์ชาติ ประกาศนิยามหนี้ครัวเรือนใหม่ (เมื่อ มิ.ย. 2566) โดยรวมเอาหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กษย.) 483,00 ล้านบาท หนี้กู้ยืมจากสหกรณ์ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ 265,000 ล้านบาท หนี้กู้ยืมจากการเคหะแห่งชาติ 11,000 ล้านบาท และหนี้กู้ยืมจากฟิโฟแนนซ์ หรือธุรกิจให้รายย่อยกู้ยืมระดับจังหวัดอีก 6,000 ล้านบาท

นิยามใหม่ของแบงก์ชาติข้างต้นทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนพุ่งพรวดขึ้นมาเป็น 16 ล้านล้านบาท หรือ 90.6% ต่อจีดีพี

ถัดจากนั้น แบงก์ชาติได้ประกาศจะใช้นโยบาย แก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นปี 2567 โดยมีหลักการว่า แบงก์หรือสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ต้องรับผิดชอบตลอดวงจรหนี้ คิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ และแบงก์ หรือสถาบันการเงินฯ ต้องให้ลูกค้ากู้ตามความสามารถในการชำระหนี้

พร้อมกับประกาศแก้หนี้กลุ่มเรื้อรัง ซึ่งแบงก์ชาติ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก อยู่ในชั้นเรื้อรังธรรมดา หรือจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น มีหนี้ยื้ดเยื้อ 3 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้จะได้รับการแจ้งเตือนให้ ชำระหนี้ ให้มากขึ้น และ สอง กลุ่มลูกหนี้เรื้อรังรุนแรง หรือจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น เป็นหนี้ยืดเยื้อมา 5 ปี รวม 2 กลุ่มมีอยู่ 500,000 บัญชี  

ในกรณี เป็นลูกหนี้แบงก์พาณิชย์ หรือ กลุ่มธุรกิจ และมีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน เป็นลูกหนี้ นอนแบงก์ มีรายได้ 10,000 บาทต่อเดือน จะได้รับข้อเสนอดอกเบี้ย 15% โดยแบงก์ชาติวางแผนดีเดย์สลายกลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง ในวันที่ 1 เมษายน ปีหน้า และตั้งเป้า 5 ปีต้องจบ

และการเคลื่อนไหวล่าสุดคือ กระทรวงการคลัง สั่งแบงก์ออมสินตั้งเอเอ็มซีรวมหนี้แบงก์เฉพาะกิจตามที่กล่าวถึงแล้ว เท่ากับว่าเวลานี้ กระทรวงการคลัง กับ แบงก์ชาติ จับมือตีกระหนาบปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่ง เรื้อรัง พอๆกับกลุ่มห้าแสนบัญชีข้างต้น  หากรอบนี้แบงก์ชาติยังไม่สามารถจับ หนี้ครัวเรือน ให้เข้าที่เข้าทางได้อีก ปัญหาหนี้ครัวเรือน คงเปลี่ยนรูปไปเป็น หนี้ชั่วนิรันดร์ ละทีนี้ ..         

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

“ทุน”​ ถอยตั้งหลัก คอย “ตั้งรัฐบาลใหม่” ชัดเจน      

เงินเฟ้อชะลอ แต่ดอกเบี้ยยังไม่ลด

เมื่อ “ตลาดส่งออกทุเรียนไปจีน” ของไทย ถูกท้าทาย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ