TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistราคาทองคำจะถึง 40,000 บาท

ราคาทองคำจะถึง 40,000 บาท


ราคาทองคำ (รูปพรรณ) ขายออกทะลุขึ้นไปยืนที่ 37,100 บาทต่อน้ำหนักหนึ่งบาท (15.16 กรัม) ตอนช่วงเช้าของวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ก่อนย่อลงเล็ก ๆ เหลือ 37,050 บาท ช่วงเย็นวันเดียวกัน ระดับราคาดังกล่าวถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ หรือ นิวไฮ ในรอบกว่า 12 ปี วงการค้าทองระบุว่า 2 เดือนเศษปีนี้ราคาทองคำทำ นิวไฮต่อเนื่อง มาแล้วถึง 11 ครั้ง

มีคำอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ ราคาทองคำ พุ่งพรวดเช่นนี้ มาจากการประเมินว่า ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิถุนายน ที่จะถึงนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะลดลงมีผลให้ ผลตอบแทนในตลาดเงินเปลี่ยน เงินทุนจึงขยับออกจากตลาดการเงิน ไหลไปหาทองคำ สินทรัพย์ที่ได้ชื่อว่า มีความปลอดภัยขั้นสูงสุด แต่สาแหตุดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น

ความจริง จังหวะเคลื่อนไหวของ ราคาทองคำ เปลี่ยนจากขยับขึ้น-ลง แบบเนิบๆทำนองลีลาแบบสโลว์ซบ มาสู่โหมดสามช่าที่จังหวะกระชับ และเร้าใจ กว่า มาตั้งแต่ปี 2563 ปีที่ วิกฤติโควิด -16 พีกสุด ๆ ความเป็นความตายของมนุษย์มีเพียงหน้ากากคั่นกลางเอาไว้เท่านั้น

วันที่ 5 สิงหาคม ราคาทองคำทำสถิติขึ้นมายืนเหนือระดับสามหมื่นบาทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โดยราคาทองคำรูปพรรณ ( ขายออก ) ขึ้นไปอยู่ที่ 30,200 บาท

วันที่ 7 สิงหาคม ราคาทองคำแท่ง (ขายออก) ทยานขึ้นไปที่ 30,400 บาท และ ทองรูปพรรณ (ขายออก) อยู่ที่ 30,900 บาท เป็นสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 9 ปี หรือปรับขึ้นราว 40 % จากราคาต้นปี

ช่วงนั้นชาวบ้านต่างเฮโลขนทองจากหีบออกมาขายร้านทองดังๆย่านเยาวราช ภาพผู้คนเข้าคิวต่อแถวยาวออกมานอกร้านเพื่อรอขายทอง นับเป็นปรากฎการณ์ คนค้าทองบอกไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบหลายสิบปี

ความไม่แน่นอนจากวิกฤติโควิดทำให้ นักลงทุน เริ่มหันมาถือ ทองคำ เพิ่มขึ้น คือคำอธิบายอีกประการถึงสาเหตุที่ทำให้ ราคาทองพุ่งพรวดทำนิวไฮในช่วงเวลานั้น

ปี 2564 ราคาทองบ้านเราขยับขึ้น 6% แซงตลาดโลกที่ขึ้น 5% ราคาขายทองคำแท่งเฉลี่ยทั้งปีอยู่ 28,494 บาท

ปี 2565 ราคาทองคำอ่อนตัวลงจากแรงกดดันของ ดอกเบี้ย หลังธนาคารกลางทั่วโลกแห่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดวิกฤติเงินเฟ้อครั้งประวัติศาสตร์

21 ก.ค. 65 ราคาทองทั่วโลกยวบลงที่บ้านเรา เปิดตลาดราคาลง 200 บาท ทองแท่งขายออกอยู่ที่ 29,550 บาท ส่วนรูปพรรณ ( ขายออก ) อยู่ที่ 30,050 บาท

ปีถัดมา 2566 ราคาทองกลับมาแรงอีก วันที่ 21 มี.ค. 66 ราคาทำ นิวไฮ ราคาทองคำแท่งทะลุผ่านจุด 32,000 บาท ขึ้นไปได้

ส่วนแนวโน้มราคาทองคำปีนี้ วงการคาดเอาไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า ราคาทองคำ จะแรงอีกทั้งจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ดอกเบี้ยจ่อลดลงอีก และสถานการณ์โลก ที่สงครามยูเครนยังไม่จบแต่มีสงครามกาซ่าเพิ่มเข้ามา

นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้แรงหนุนจาก การแห่ตุนทองคำสำรองของ แบงก์ชาติ ทั่วโลก รวมทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย สื่อรายงานอ้างข้อมูล สภาทองคำโลกว่า ปี 2565 ธนาคารกลางทั่วโลกตุนทองคำเป็นทุนสำรอง 1,136 ตัน ปี 2566 ตุนไป 1,037 ตัน และปีนี้คงไม่มากหรือน้อนจากปีก่อนหน้ามากนัก

การตุนทองคำของแบงก์ชาติต่าง ๆ ถูกตีความว่า บรรดานายธนาคารกลางกังวลต่อสถานการณ์โลกมาก

ในบรรดาธนาคารกลางที่ตุนทอง แบงก์ชาติจีน (PROC) เป็นข่าวถี่สุด ในฐานะผู้ตุนทองคำไม่หยุด ล่าสุด ตามรายงานบลูมเบิร์ก แบงก์ชาติจีน ตุนทองเพิ่มอีก 390,000 ออนซ์ในเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รวมแล้ว แบงก์ชาติจีน ถือสำรองทองคำไว้ถึง 2,257 ตัน วิเคราะห์กันว่าการตุนทองคำของ แบงก์ชาติ จีนเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย ลดบทบาทดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่ผ่านมา BRICS หรือ บริกส์ กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ที่มี จีน รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ มีเป้าหมายสร้างขั้วเศรษฐกิจใหม่ลดอิทธิพลจ้าวโลกอย่างสหรัฐฯ โดยเริ่มจากการค้าขายในกลุ่มด้วยสกุลเงินของแต่ละประเทศ

คนวงการค้าทองเชื่อว่า ราคาทองคำน้ำหนัก 1 บาท มีโอกาสทะลุขึ้นไป 40,000 บาท และมีคนคาดการณ์อีกเช่นกันว่า สงครามใหญ่มีโอกาสจะเกิดขึ้น หลังแนวรบที่ ยูเครน และกาซ่าขยายวงออกไปเรื่อยๆ โดยปกติแล้วเสียงปืนมักทำให้ “ราคาทองคำ” เปลี่ยนไปเสมอ

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“อนาคตเศรษฐกิจ” และ ‘โฉมหน้าสงครามกาซา’ ที่ยากคาดเดา

หนี้ครัวเรือน … หนี้ชั่วนิรันดร์

เตรียมรับมือกับ “ความเสี่ยงใหม่”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ