TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistแก้ “หนี้นอกระบบ” 2 ทศวรรษที่ล้มเหลว

แก้ “หนี้นอกระบบ” 2 ทศวรรษที่ล้มเหลว

หลังจากโหมโรงมานาน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ก็ได้ฤกษ์ประกาศศึกกับ “หนี้นอกระบบ” อย่างเป็นทางการ ด้วยการยึดอาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เป็นที่ระดมพลบุคคลากรจากกระทรวงและหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแก้หนี้นอกระบบให้บรรลุผล

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลประกาศสงครามกับความยากจนด้วยนโยบายแก้หนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เริ่มครั้งแรกในปี 2547 รัฐบาลไทยรักไทยของนายกฯทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายลงทะเบียนคนจน รัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์มีนโยบายการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ล่าสุดรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีนโยบายแก้หนี้นอกระบบ โดยประกาศนโยบาย 5 ด้าน รัฐบาลเศรษฐา ก็จับเรื่องหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เน้นการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างผ่านธนาคารรัฐอีกครั้งแนวทางคล้ายกับรัฐบาลที่แล้ว 

ตลอด 22 ปีที่ผ่านมา หนี้นอกระบบต้องเผชิญศึกไม่รู้กี่สมรภูมิก็ยังไม่ล้มหายตายจากไปจากสังคมไทย กลับมีพัฒนาการที่ซับซ้อนและรุนแรงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า “หนี้นอกระบบ” คือ หนี้ที่ไม่ได้กู้ยืมเงินผ่านระบบสถาบันการเงิน จึงไม่อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานภาครัฐใด ๆ การดูแลแก้ปัญหาจึงยากกว่าหนี้ประเภทอื่น ๆ ข้อมูลสถาบันเศรษฐกิจป๋วยที่ลงพื้นใน 12 จังหวัด ระบุว่ามากกว่า 40% ของครัวเรือนที่ไปสำรวจมีหนี้นอกระบบ 

ขณะที่ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินตัวเลขหนี้นอกระบบว่าน่าจะมีสัดส่วน 30% ของจีดีพี เพราะอาชีพอิสระหลายอย่างสภาพัฒน์ฯ ไม่ได้นำไปรวมอยู่ในตัวเลขจีดีพี เช่น พ่อค้าหาบเร่ คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ผู้ประกอบการอิสระ ลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนใหญ่มีหนี้นอกระบบ 

นั่นแปลว่า หากประเมินมูลหนี้เท่ากับ 30% ของจีดีพี หนี้นอกระบบก็จะมีมูลค่ากว่า 5.22 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว ต่างจากรัฐบาลเศรษฐาได้ประเมินหนี้นอกระบบไว้เพียง 50,000 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าต่ำจากความเป็นจริงหลายสิบเท่า ซึ่งตัวเลขจากสถาบันเศรษฐกิจป๋วยและรศ.ดร.อัทธ์ น่าจะใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

สาเหตุที่คนไทยเป็นหนี้นอกระบบกันมากมีทั้งเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก สังคมไทยเป็นสังคมบริโภคนิยมเต็มตัวเป็นสังคม “ช้อป ง่ายจ่ายแหลก แดกด่วน” คนไทยมีพฤติกรรมฟุ่มเฟือย รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายประชานิยม นโยบายกระตุ้นการบริโภค ธุรกิจก็โหมโฆษณาลดแลกแจกแถมล่อให้คนมาจับจ่ายใช้สอยกันมากๆ

แต่ยังมี คนบางกลุ่มที่มีความจำเป็นการใช้เงินเร่งด่วน เช่น ต้องเข้าโรงพยาบาล ลูกเปิดเทอม บางคนก็ต้องการเอาเงินไปลงทุนหมุนเงินช่วงสั้น ๆ ต้องการวงเงินไม่มากแต่เร่งด่วน บางคนไม่มีงานไม่มีรายได้ประจำ เช่น พ่อค้าแม่ค้า อาชีพอิสระ ทำให้เข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบ บางคนเป็นหนี้ในระบบเต็มวงจนไม่สามารถกู้เพิ่มได้ หรือติดเครดิตบูโร เหล่านี้เป็นต้น เจ้าหนี้นอกระบบจึงใช้กลยุทธ์การบริการแบบ “เงินด่วน” “ได้เงินไว” “ไม่ตรวจประวัติ” “ไม่ต้องยื่นเอกสาร” จูงใจ 

หนี้นอกจะบบจะมีดอกเบี้ยแอบแฝง เวลาโฆษณาชักชวนอาจบอกว่าดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นดอกเบี้ยแบบคงที่ “รายวัน” ซึ่งคิดแล้วจะเท่ากับ 365% ต่อปี สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบที่เพดานอยู่ไม่เกิน 28% ต่อปี แถมบางแห่งยังคิดดอกเบี้ยแบบ “ดอกลอย” ซึ่งเป็นการกู้หนี้นอกระบบที่ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการตัดเงินต้น จนกว่าจะหาเงินต้นมาชำระหนี้ในครั้งเดียว ยิ่งซ้ำเติมลูกหนี้ 

เมื่อดอกเบี้ยสูงและสัญญาไม่เป็นธรรม ลูกหนี้หลายรายที่จ่ายไม่ไหวจนเกิดการผิดนัดชำระหนี้ จึงใช้วิธีกู้หนี้ใหม่จากเจ้าหนี้อีกรายเพื่อเอาไปจ่ายหนี้เดิม วนไปแบบนี้จนทำให้หนี้สินล้นพ้นตัว และติดอยู่ในวงจรของหนี้นอกระบบแบบหาทางออกไม่ได้

ที่น่าห่วง คือ การทวงหนี้มักจะใช้ความรุนแรง เช่น การข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สินของลูกหนี้ เจ้าหนี้ส่วนมากเป็นนายทุนนอกพื้นที่ 32% แก๊งหมวกกันน็อก 30% นายทุนในพื้นที่ 27% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 10–11% ต่อเดือน แต่แก๊งหมวกกันน็อกคิดดอกเบี้ยโหดกว่า เฉลี่ย 20% ต่อเดือน ที่น่าตกใจก็คือเยาวชนอายุ 20–24 ปี 25–29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้น้อยเป็นหนี้ อาชีพที่กู้เงินนอกระบบมากที่สุดคือ อาชีพค้าขาย 52% และอาชีพอิสระ 50% เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี คนต้องไปกู้หนี้นอกระบบ แม้ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่า 20% ต่อเดือนก็ตาม นั่นเท่ากับว่ารายได้ทั้งหมดของประเทศ จะเหลือสำหรับใช้จ่ายน้อยลง เพราะต้องรับภาระหนี้สูงขึ้น

จะแก้หนี้นอกระบบต้องเข้าใจก่อนว่า ต้นเหตุเกิดจากคนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงเจ้าหนี้ในระบบหรือแหล่งทุน คือสถาบันการเงิน ทางแก้จะทำอย่างไรที่จะให้คนเหล่านี้มีความสะดวกในการเข้าไปใช้บริการสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าหนี้นอกระบบ รวมถึงการทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ถ่างกว้างให้แคบลง กำไรอาจจะลดลง แต่จะทำให้แบงก์หันมาให้ความสนใจลูกค้าเหล่านี้ที่ทำมาหากินแบบสุจริต มีศัยยภาพแต่ขาดโอกาสมากขึ้น 

สำคัญที่สุดรัฐบาลต้องเลิกนโยบายประชานิยมแบบลดแลกแจกแถมกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภค หันมาส่งเสริมให้คนรู้จักเก็บออมใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลจะดีกว่า

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ทำไม “นักท่องเที่ยวจีน” ไม่มาตามนัด?

“วิกฤติ” หรือ “ไม่วิกฤติ”

“ขยะใต้พรม” กับดักนักลงทุน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ