TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“ขยะใต้พรม” กับดักนักลงทุน

“ขยะใต้พรม” กับดักนักลงทุน

นับว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย สำหรับ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีที่ไปร่วมประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก (เอเปก) ซานฟรานซีสโก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากจะได้พบผู้นำประเทศต่าง ๆ ยังได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มนักธุรกิจของสหรัฐฯ พร้อมเชื้อเชิญบริษัทบิ๊กเทคฯ หลายรายเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Google ได้ประกาศแผนการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลในไทย และเริ่มโครงการนำ AI มาใช้งานในภาครัฐฝึกทักษะแรงงาน ด้าน AI และทักษะขั้นสูงอื่น ๆ ยังมี Amazon Web Service ผู้ให้บริการคลาวด์ อันดับ 1 ของโลก ที่จะมาลงทุนเทคโนโลยีคลาวน์ AI, data analytic, IoT และลงทุน Data Center ด้วยงบประมาณ 5 พันล้านเหรียญ เจรจา Walmart บริษัทค้าปลีกของสหรัฐให้จัดซื้อสินค้าท้องถิ่น เช่น โอท็อปของเรามากขึ้น และ Western Digital ผู้ผลิต Hard Disk Drive ระดับโลก ขยายการลงทุนเพิ่มในไทย

แม้เป็นข่าวดี แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างไม่เพริศแพร้วอย่างที่ตั้งใจ ถ้ารัฐบาลยังไม่กวาดขยะซุกอยู่ใต้พรมอาจจะฝันสลาย การที่นักลงทุนต่างประเทศจะขนเงินเข้ามาลงทุนจะต้องดูว่าไทยมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เอื้อประโยชน์ให้เขาหรือไม่ หลาย ๆ รัฐบาลได้พยายามชักชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในบ้านเรา แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายเรื่อง

สะท้อนจากผลสำรวจนักลงทุนญี่ปุ่นของ เจโทร (JETRO) พบว่า ปัญหาที่บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยระบุให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไข เช่น 1) พิธีการศุลกากรที่ล่าช้า ไม่โปร่งใส 2) การคิดภาษีเงินได้ที่ซับซ้อนมากขึ้น 3) กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 4) ใบอนุญาตทำงาน ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาเดิม ๆ ซ้ำซาก

ไทยเป็นประเทศที่มีกฏระเบียบยิบย่อย กติกายุบยับเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เช่น กฎระเบียบเรื่องการคุมคนต่างชาติทำให้เราไม่สามารถดึงดูดคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน ฉะนั้น ต้องเร่งลดกฎระเบียบที่เป็นปัญหา หรือ Regulatory Guillotine “กิโยตินกฎหมาย” จะเห็นได้จากกรณีแบงก์ชาติได้ทำกิโยติน เพียงแค่เฉพาะส่วนแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเรื่องเดียวสามารถช่วยภาครัฐและภาคเอกชนลดต้นทุนได้ปีละ 1.8 พันล้านบาท

ที่สำคัญการทำกิโยตินกฏหมายช่วยยกระดับการทำธุรกิจของไทยให้ง่ายขึ้น มีการศึกษาว่าหากมีการทำกิโยติน 1,094 ของกระบวนการอนุญาต 198 เรื่อง ซึ่งเสนอแก้ไข 43% และเสนอเลิก 39% จะลดต้นทุนได้ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี ทำให้เศรษฐกิจโตได้ 0.8% ต่อปี เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว

อย่าลืมว่ากฎหมายนั้นเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจโดยตรง และยิ่งมีกฎหมายมากยิ่งเพิ่มต้นทุนในการประกอบกิจการทำให้เป็นที่มาของการคอร์รัปชัน วิธีแก้ต้องยกเลิกกฎหมายที่กีดกันการแข่งขันและการประกอบธุรกิจ ต้องผลักดันการทำกิโยตินกฎหมายสำเร็จให้ได้

นอกจากนี้ รัฐต้องเร่งการยกระดับทักษะแรงงาน ที่ผ่านมาเราใช้นโยบายแรงงานราคาถูกจูงใจนักลงทุน สมัยก่อนบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับโลกจึงไม่สนใจมาลงทุนในไทย หันไปลงทุนในมาเลย์เพราะมีวิศวกรจำนวนมาก ปัจจุบันบริษัทต่างชาติเน้นลงทุนในเวียดนาม เพราะมีบุคคลากรด้านไอทีรองรับ ซึ่งไทยยังขาดแคลน

ถ้าหากต้องการให้เกิดการลงทุน และแรงงานได้ประโยชน์ เกิด productivity สูงสุดจริง ๆ ในเบื้องต้นต้องเปิดรับนวัตกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ขั้นต่อไปต้องสร้างนวัตกรรมเป็นของตัวเอง และถ้าอยากจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูงจะต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้นเรื่องนี้พูดกันมานาน ที่ผ่านมามีการเพิ่มงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา 1% กว่า ๆ ของ GDP เท่านั้น

อีกเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของไทย คือ ความสามารถสื่อสารกับประชาคมโลกพบว่า คนไทยไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ คะแนนภาษาอังกฤษของไทยอยู่ที่อันดับ 100 ใน 112 ประเทศ ทั้งที่รายได้เข้าประเทศมาจากการทำมาค้าขายกับต่างประเทศ เปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ นี่คือโจทย์ใหญ่ ฉะนั้นจะต้องสร้างรากฐานการพัฒนาการศึกษาไทย คาดว่าในอนาคตอาเซียนจะเป็นศูนย์กลางการเติบโตใหม่ แต่การเติบโตของไทยต่ำกว่าอาเซียนโดยรวม ซึ่งเป็นปัญหาด้านทักษะของคนไทยที่ยังไม่พร้อมกับการทำงานที่ใช้ทักษะสูง

อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง คือปัญหาคอรัปชั่นในวงราชการและการเมือง ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย รัฐบาลหลายๆประเทศมีนโยบายไม่สนับสนุนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศที่ไม่โปร่งใส มีคอรัปชั่น อีกทั้งการเมืองต้องมั่นคง รัฐบาลมีเสถียรภาพไม่มีนักลงทุนคนไหนจะเสี่ยงลงทุนในประเทศที่มีรัฐบาลอ่อนแอ นโยบายขาดความต่อเนื่อง

ที่สำคัญ รัฐบาลไม่ควรจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนโดยประเคนสิทธิประโยชน์แบบไม่บันยะบันยัง แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทไทย ให้คนไทยมีโอกาสเป็นผู้บริหารระดับสูง และ SME เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมเขาด้วย มิเช่นนั้นเราก็จะได้แค่ค่าเช่าที่ดินและค่าแรงราคาถูกเหมือนที่ผ่านมา

บทเรียนจากการลงทุนของญี่ปุ่นกว่า 30 ปีที่เข้ามาลงทุนในไทยได้สิทธิประโยช์เพียบ แต่ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่เปิดทางให้คนไทยได้เป็นผู้บริหารระดับสูง ทำให้ประเทศไทยได้แค่ค่าแรงราคาถูก อุตสาหกรรมของคนไทยจึงอยู่กับที่ไม่ไปไหน

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

จุดตาย “ดิจิทัล วอลเล็ต”

“หนี้ครัวเรือน” ไม่แก้ ประเทศเดินต่อไม่ได้

แจก “เงินดิจิทัล” หนึ่งหมื่นบาท … ยาแรงที่ต้องระวัง

“5 แสนล้านบาท”… ใช้อย่างไรให้คุ้มค่า

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ