TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“การเมือง” เดดล็อก ..“ตลาดหุ้น-ลงทุน-กำลังซื้อ” วูบ

“การเมือง” เดดล็อก ..“ตลาดหุ้น-ลงทุน-กำลังซื้อ” วูบ

ประเทศไทยมีการเลือกตั้งมาเกือบ ๆ จะ 3 เดือนแล้ว จนป่านนี้ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ มีการเสนอชื่อมาแล้ว 3 ครั้ง มีพรรคการเมืองผลัดเป็นแกนนำมาแล้ว 2 พรรค คือ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย และยังทำท่าว่าจะยังอีกยาว ล่าสุดประธานรัฐสภาฯเลื่อนออกไปอีก 2 สัปดาห์ต้องรอไปถึงกลางเดือนสิงหาคม ยังไม่รู้ว่าออกหัวหรือออกก้อย 

การที่ต้องเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีรอบที่ 3 ออกไป หนทางในการจัดตั้งรัฐบาลยิ่งเลือนราง จนถึงวันนี้ยังไม่รู้เลยว่า ใครจะมาเป็นแกนนำจัดรัฐบาล ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญทิศทางนโยบายจะไปทางไหน ทุกวันนี้มีแต่ความไม่แน่นอนหากยืดเยื้อออกไปเรื่อย ๆ ตั้งรัฐบาลไม่ได้สักที ลากยาวออกไป ทุกอย่างต้องเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ ทั้งการบริโภค การลงทุนทั้งนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนไทย ทั้งรัฐบาล เอกชน ต่างพากันใส่เกียร์ว่างดูทิศทางลมกันหมด หนีไม่พ้นเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก

ภาพใกล้ตัวที่เห็นทุกวันนี้ นั่นคือ บรรยากาศในตลาดหุ้นก่อนเลือกตั้งหลายคนคาดว่าหลังเลือกตั้งบรรยากาศจะกลับมาคึกคัก เศรษฐกิจดีขึ้นจากเม็ดเงินสะพัดช่วงเลือกตั้งหลายหมื่นล้าน ดัชนีตลาดหุ้นน่าจะขยับขึ้น เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกครั้ง แต่กลับผิดคาดปรากฏว่า หลังเลือกตั้งครั้งนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์รูดลงอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นทิ้งไป ขนเงินไปลงทุนที่อื่นที่ให้ผลประโยชน์ดีกว่าแทน

นับตั้งแต่ภายหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. จนถึงปัจจุบัน (15 พ.ค.-3 ส.ค. 2566) พบว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดตลาด “ดิ่งในแดนลบ” รวมแล้วทั้งหมด 30 วัน โดยลดลงหนักสุดคือเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ดัชนี ดิ่งกว่า 21.27 จุด ลดลง 1.37% จากดัชนีวันก่อนหน้า ขณะเดียวกันนับตั้งแต่ 15 พ.ค.-3 ส.ค. 2566 พบว่านักลงทุนต่างชาติเป็นกลุ่มเดียวที่ขายสุทธิ รวมทั้งสิ้น 55,336.19 ล้านบาท

เช่นเดียวกับการลงทุนโดยตรงซึ่งเป็นการลงทุนตั้งโรงงานผลิตตอนนี้ทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศต่างชะลอแผนการลงทุนทั้งหมด แม้ประเทศไทยจะมีความได้เปรียบในทางยุทธศาสตร์หลาย ๆ ด้าน แต่เมื่อการเมืองยังไม่ชัดเจนก็คงต้องรอดูสถานการณ์ พวกที่รอไม่ไหวก็หันไปลงทุน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งต่างก็มีจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกัน  

อย่าลืมว่าคู่แข่งของไทยอย่างเช่น มาเลเซีย มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี สาธารณูปโภค ไม่แพ้ไทย ส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียน่ากลัวที่สุด เป็นแหล่งวัตถุดิบนิกเกิล และยังเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับการลงทุนผลิตอีวี เวียดนามก็ได้เปรียบเรื่องรัฐบาลมีเสถียรภาพค่าไฟฟ้าและ ค่าแรงราคาถูกกว่าไทย ดังนั้นหากการตั้งรัฐบาลล่าช้าหรือไม่มีความชัดเจน การเมืองไม่เสถียรภาพจะเสียโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศแน่ ๆ 

มิหนำซ้ำช่วงนี้ สื่อต่างประเทศก็โหมกระพือข่าวความขัดแย้งในเมืองไทยในด้านลบ ยิ่งเท่ากับตอกย้ำจุดอ่อนให้เห็นชัดขึ้น อย่างล่าสุด แจแปน ไทม์ของญี่ปุ่น บอกว่าการที่ประธานรัฐสภาเลื่อนการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ออกไป และพรรคเพื่อไทยเลื่อนการแถลงชื่อพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่งผลให้นักลงทุนและตลาดสูญเสียความเชื่อมั่นขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการพิจารณางบประมาณรัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จะต้องล่าช้าออกไป 

อย่าลืมว่าไทยคือฐานการลงทุนสำคัญของญี่ปุ่น หากเกิดความไม่เชื่อมั่นในประเทศไทยอาจจะย้ายฐานบางส่วนลงทุนในเพื่อบ้านแทนก็เป็นได้ แม้ว่าตอนนี้นักลงทุนจากจีนก็สนใจเข้ามาลงทุนในไทยเมื่อการเมืองเปราะบางจึงรอดูท่าทียังไม่ตัดสินใจลงทุน

รวมถึงในฟากประเทศตะวันตก เดอะ ดิพโพลแมท จากสหรัฐก็รายงานบทวิเคราะห์ว่า ภาวะชะงักงันทางการเมืองของไทยจะยังคงดำเนินต่อไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ภายหลังการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง ซึ่งเริ่มมีผลต่อเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท ส่วนเพื่อนบ้านอย่างซีเอ็นเอจากสิงคโปร์ออกบทวิเคราะห์ว่า สถานการณ์การเมืองไทยกำลังมุ่งหน้าไปสู่ภาวะวิกฤติที่ไม่อาจคาดเดาได้ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ 

ข่าวที่ถูกกระพือโหมยิ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจง่ายขึ้นว่าจะลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ ที่สำคัญไม่เฉพาะการลงทุนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบล่าสุดเว็บไซด์ของรัฐบาลแคนาดาก็เตือนนักท่องเที่ยวแคนนาดาที่จะออกต่างประเทศ โดยได้กล่าวถึงประเทศไทยว่ามีความขัดแย้งจนอาจมีการประท้วงขึ้น จึงเตือนให้ใช้ความระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น ก็ย่อมนำมาสู่ผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายของคนในประเทศ ทั้งที่ในช่วงปลายปีกำลังซื้อควรจะดีกว่านี้ แต่ตอนนี้กำลังซื้อทั่วประเทศทรุดฮวบ ทั้งจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งเฉลี่ยครอบครัวละกว่า 500,000 บาท และปัญหาการเมืองไม่นิ่ง จะเห็นได้จากบรรดาธุรกิจในต่างจังหวัดประกาศเลิกกิจการ ให้เซ้งและให้เช่ากันเป็นแถว นักธุรกิจหลายคนมองว่าหากก้าวไกลถูกยุบพรรค อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่

นั่นหมายความว่าจากเดดล็อกการเมืองประเทศไทยอาจเข้าสู่รัฐล้มเหลวได้ เศรษฐกิจไทยในวันนั้นคงจะพังพินาศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากนักการเมืองยังเล่นเกมผลประโยชน์ ไม่คำนึงถึงชาติบ้านเมือง

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“วันหยุดยาว” กับ “ราคาที่ต้องจ่าย”

“อาวุธใหม่” ในสงครามการค้า

เศรษฐกิจไทย “หมดบุญเก่า”

หนี้ครัวเรือน หลอนเศรษฐกิจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ