TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“อาวุธใหม่” ในสงครามการค้า

“อาวุธใหม่” ในสงครามการค้า

ขณะที่บ้านเรายังสาละวนอยู่กับความวุ่นวายทางการเมือง ไม่จบไม่สิ้น รัฐบาลใหม่ก็ยังไม่มีทีท่าจะตั้งสำเร็จง่าย ๆ รัฐบาลที่รักษาการอยู่ก็มีสภาพเหมือนเป็ดง่อย ข้าราชการเกียร์ว่าง ประชาชนก็มัวแต่จิกกันเหมือนไก่ในเข่ง โดยลืมไปว่า ภยันตรายนอกบ้านกำลังคืบคลานเข้ามา เฉพาะอย่างยิ่งสงครามการค้ากำลังเข้มข้น ที่มีเศรษฐกิจประเทศเป็นเดิมพัน

ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันนี้ สหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกา เพิ่งมีประกาศออกมา2ฉบับที่ส่งผลกระทบเกษตรกรโดยเฉพาะชาวสวนยางบ้านเราแบบเต็ม ๆ ฉบับแรก ว่าด้วยเรื่อง ”มาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างเข้มงวด” ขององค์กรภาคเอกชน และฉบับที่สอง กฎหมายว่าด้วย ”สินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า” ของสหภาพยุโรป

สำหรับมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างเข้มงวด ขององค์กรภาคเอกชน ซึ่งได้บังคับใช้เป็นการทั่วไปแล้ว โดยกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ ได้ตั้งเงื่อนไขการรับซื้อขายยางพารา ไม้ยางพารา จะต้องเป็นยางพาราที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาได้อย่างครบถ้วน ต้องไม่เป็นการปลูกยางพาราที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ไปทำสวนบุกรุกป่าสงวน ป่าวนอุทยาน และป่าชุมชน ปัจจุบันมีอยู่สวนยางในบ้านเราอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 5-6 ล้านไร่ เลยทีเดียว

ส่วนฉบับที่ 2เป็นการออกกฎหมายที่ว่า ”ด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า” ปัจจุบันคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว และกำลังเข้าสู่กระบวนการประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในปี 2567สำหรับกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรปนั้น มีวัตถุประสงค์ห้ามการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป 

ทั้งนี้เพื่อควบคุมสินค้า 7 กลุ่มที่มีส่วนในการทำลายป่าได้แก่ ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, เนื้อวัว, ไม้, กาแฟ, โกโก้ และถั่วเหลือง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ โดยสินค้าที่จะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายหรือส่งออกได้จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบที่เรียกว่า due diligence เสียก่อน จึงจะนำเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปได้

สาระกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดเงื่อนไขที่ผู้นำเข้าและส่งออกจะต้องปฏิบัติไว้ 3 ประการคือ 1) ต้องปลอดจากการทำลายป่า 2) สินค้านั้นต้องผลิตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเทศผู้ผลิต และ 3) ผู้ประกอบการจะต้องทำ due diligence ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ก่อนการวางจำหน่ายหากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน มีการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย 

ทั้งสองมาตรการดังกล่าวข้างต้นส่งผลกระทบกับการส่งออกยางพาราของไทย ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางไปยังต่างประเทศเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยยางพาราเฉลี่ยส่งออกปีละประมาณ 4 ล้านตัน และไม้ยางพาราหลายล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะไม้ยางพาราที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีมูลค่าประมาณ100,000-120,000 ล้านบาทจะได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ในห้วงเวลา 10 กว่าปีมานี้ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ได้มีการนำเรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’ มาเป็นเงื่อนไข หรือข้อกีดกัน มาเป็นอาวุธมาทำลายล้างทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละประเทศไม่รีบตั้งหลักปรับตัวก็จะพบแต่ความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม หาก ”มองแบบเหรียญสองด้าน”ด้านหนึ่งใช้เป็นข้ออ้างว่า เป็นกติกาที่ออกแบบมาเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเช่นกรณี ‘Climate Change’ และพาโลกไปสู่ ‘Net Zero’ โลกที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ฟังแล้วก็ดูดีแต่ถ้ามองอีก ด้านหนึ่ง กติกาสิ่งแวดล้อมนี้ถูกนำไปใช้นั้นไม่ต่างจากเป็นเครื่อง ”มือกีดกันทางการค้า” แบบเนียน ๆ จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ซึ่งแต่ละประเทศจึงต้องเตรียมตัวให้ดี 

ล่าสุด สหภาพยุโรปกงัดมาตรการอาวุธใหม่ของเศรษฐกิจโลกที่เรียกว่า CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) คือ มาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของยุโรปพูดง่าย ๆ ‘เรียกเก็บภาษีเพิ่ม’ กับผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป อาวุธใหม่ของเศรษฐกิจโลกจะเห็นผลในปีนี้

โดยช่วง 3 ปีแรก 2566-2568 จะเป็นการบังคับให้แต่ละประเทศเมื่อส่งออกสินค้าที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมของโลกไปยุโรปจะต้องมีการรายงานข้อมูลผลกระทบต่างๆต่อสิ่งแวดล้อม จากนั้นก็จะเริ่มมีการเก็บภาษีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2569 โดยมีอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ต้องเตรียมตัวหลัก ๆ เลย 6 อุตสาหกรรม คือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน

เชื่อว่า 6 อุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นเป็นแค่น้ำจิ้ม ต่อไปมาตรการ CBAM จะครอบคลุมสินค้ามากขึ้นและนับรวมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อมด้วย ซึ่งจะกระทบอีกหลายธุรกิจยาวเป็นหางว่าวเลยทีเดียว 

น่าห่วงว่าไทยรับมืออย่างไร เนื่องจากกลุ่มสินค้าไทยที่เข้าข่ายมาตรการ CBAM ล้วนมีความสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศ กล่าวคือ เหล็กและเหล็กกล้า มูลค่าส่งออกที่ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ส่งออก 3.6 พันล้านบาท โดยมีมูลค่าส่งออกรวมไปสหภาพยุโรปไม่ต่ำกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.1% ของการส่งออกของไทยไปยุโรปดังนั้นถ้าไม่ปรับตัวก็จะถูกมาตรการ CBAM เล่นงานแน่ ๆ

ไม่ใช่แค่ยุโรป ฝั่งสหรัฐอเมริกาก็ออกร่างกฎหมายที่เรียกว่า Clean Competition Act (CCA) เก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงในกระบวนการผลิต อาทิ เชื้อเพลิง ฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และถ่านหิน เช่นกัน

จะเห็นว่ามูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐรวมกันแล้วมีสัดส่วนค่อนข้างมาก ดังนั้นภาครัฐและผู้ประกอบการไทย ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับกับมาตรการที่กำลังประกาศใช้อย่างเร่งด่วนและเชื่อว่าในอนาคต กติกาใหม่ ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมการค้าโลกให้อยู่บนเส้นทางสายสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ 

การใช้มาตรการสิ่งแวดล้อมมีทั้งความชอบธรรมและไม่ชอบธรรมอยู่ในตัวเนื่องจากเป็นทั้งมาตรการช่วยโลกบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวนและรักษาระบบนิเวศของโลกที่พังลงไปทุกวันแต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นมาตรการกีดกันการค้าบางประเทศไปในตัวด้วยเช่นกัน…ยิงนัดเดียวได้นกสองตัว

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

หนี้ครัวเรือน หลอนเศรษฐกิจ

เมื่อ “ตลาดส่งออกทุเรียนไปจีน” ของไทย ถูกท้าทาย

เงินเฟ้อชะลอ แต่ดอกเบี้ยยังไม่ลด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ