TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“3 สูง 3 ต่ำ”... สัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจ

“3 สูง 3 ต่ำ”… สัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจ

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมประจำปี 2563 เพื่อสรุปผลงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2561-2565) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันถือว่ามาครึ่งทางแล้วในหัวข้อ “ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด”

ในงานนี้ “ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้รายงานว่า เศรษฐกิจไทยในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2550–2563 หนี้สินครัวเรือนคนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอยู่ในระดับสูงสุด 80% ของจีดีพี ซึ่งในปัจจุบันจีดีพีไทยปี 2562 อยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท และประเมินจีดีพีไทยปีนี้จะติดลบ 7.3% ถึงติดลบ 8%

เนื่องจากประเทศไทยอาศัยรายได้จากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว เมื่อปัจจัย 2 ตัวนี้หายไป เศรษฐกิจไทยจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง รวมถึงหากประเมินจากอันดับความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ ไทยยังย่ำอยู่กับที่ โดยเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันปี 2563 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 จาก 63 ประเทศ

สำหรับความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนพบว่า คนมีรายได้สูง 10% มีรายได้มากกว่าคนที่มีรายได้ตํ่าสุดถึง 20 เท่า นั่นหมายความว่า การกระจุกตัวของรายได้จะจับกลุ่มเฉพาะในกลุ่มบนเท่านั้น สะท้อนว่าการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้กระจายลงมาสู่คนชั้นล่างอย่างทั่วถึง ส่งผลให้คนจนที่มีรายได้ตํ่ากว่าเส้นยากจนในปี 2561 มี 9.85% หรือ 6.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านคนจากปี 2560 แต่ข้อเท็จจริงคนจนมากกว่านี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ดร.ทศพรตั้งข้อสังเกตว่า สัดส่วนคนจนที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจาก เทคโนโลยีดิสรัปชัน สงครามการค้า และ เศรษฐกิจโลกตกต่ำ

น่าสนใจตรงที่ด้านการศึกษานั้นปรากฏว่า ลูกคนรวยมีโอกาสเรียนต่อปริญญาตรีสูงถึง 65.6% แต่ลูกคนจนมีโอกาสเรียนต่อปริญญาตรีเพียง 3.8% เท่านั้น ทั้งที่งบประมาณการศึกษาได้รับมากสุดทุกปี และยังมีกระทรวงศึกษามากที่สุดในโลกถึง 2 กระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ แต่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยกลับย่ำแย่อยู่กับที่

กล่าวสำหรับ “ชีวิตวิถีใหม่” ประเทศไทยหลังโควิด” ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะต้องเจอกับสภาวะ “3 สูง 3 ตํ่า” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดย 3 สูง ก็คือ อัตราการว่างงานสูง หนี้สาธารณะสูง หนี้ภาคเอกชนสูง ส่วน 3 ตํ่า ก็คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตํ่า อัตราเงินเฟ้อตํ่า อัตราดอกเบี้ยตํ่า

หนี้สาธารณะ ที่รัฐบาลคสช. กู้มาใช้จ่ายตลอด 6 ปี วันนี้กำลังท่วมหัว โดยก่อนโควิดหนี้สาธารณะอยู่ที่ 40% ของจีดีพี ปีนี้ 2563 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 47% ของจีดีพี และ ปีหน้า 2564 หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 57% ของจีดีพี อีก 3% ก็จะทะลุ 60% เพดานตามที่กฎหมายกำหนดว่าห้ามเกิน

ด้านภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลกนั่นแสดงให้เห็นถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมีแต่เพิ่มขึ้นไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด กลายเป็นตัว “ถ่วงรั้ง” การพัฒนาประเทศอย่างมาก

ดร.ทศพร อาจจะไม่พูดตรง ๆ ว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากอะไร แต่ก็พอจะรู้ว่าปัญหาที่เป็นตัวถ่วงรั้งการพัฒนาประเทศมาจาก “ระบบราชการ” ที่เป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้เดินหน้า ก็คงไม่แปลกในห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลคสช.เสีย 6 ปี ใคร ๆ ก็รู้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลคสช.ขับเคลื่อนประเทศด้วย “ระบบราชการ”

ในห้วงที่รัฐบาลคสช.บริหาร ประเทศไทยมีกฎหมายเพิ่มขึ้นกว่า 500 ฉบับและเกินครึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจให้ระบบราชการทั้งสิ้น

ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลประกาศว่าจะปฏิรูปกฎหมายกว่า 5,000 ฉบับ เพื่อลดขั้นตอนของระบบราชการ และการใช้ดุลพินิจลดลงถึงกับมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างภาคราชการกับภาคเอกชน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

อย่าเพิ่งตกใจหากจะบอกว่าข้อมูลประเทศไทยที่ ดร.ทศพร เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ รายงานมา ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของรัฐบาลก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 แต่หลังจากนี้ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรไม่อยากจะนึกเลยจริง ๆ

ทวี มีเงิน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ