TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyมิว สเปซ จับมือ ทีโอที พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ดันธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ

มิว สเปซ จับมือ ทีโอที พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ดันธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ

มิว สเปซ แถลงความร่วมมือกับ ทีโอที ร่วมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit หรือ LEO) ทดลองส่งอุปกรณ์ขึ้นสู่อวกาศระดับ Sub-Orbital ด้วยจรวดของบริษัท Blue Origin ประเทศสหรัฐฯ โชว์ศักยภาพการให้บริการเกตเวย์ภาคพื้นดิน บริการ Space IDC และ Space Digital Platform ในอนาคต มั่นใจเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำจะเป็น Disruptive Technology ที่จะมาทดแทนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มีสาย และบริการดิจิทัลรูปแบบอื่น ๆ พร้อมช่วยส่งเสริมการใช้ 5G อย่างเต็มรูปแบบ

-‘มิว สเปซ’ จับมือพันธมิตร เตรียมส่งอุปกรณ์ทดลองสู่อวกาศ
-นาซา-สเปซเอกซ์ ร่วมส่งมนุษย์สู่อวกาศอีกครั้งหลังปี 2011

วรายุทธ เย็นบํารุง กรรมการและ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จํากัด กล่าวว่า มิว สเปซ ก่อตั้งมาประมาณ 3 ปี โฟกัสธุรกิจในเรื่องของดาวเทียมอินเทอร์เน็ต อุตสาหกรรมอวกาศ เทรนด์ในอนาคตคนจะเริ่มไปหาทรัพยากรจากนอกโลก เริ่มเดินทางไปนอกโลก ซึ่ง มิว สเปซ มองดวงจันทร์เป็นที่แรก ขณะที่ประเทศไทยมีโรงงานและพลังงานพร้อมที่จะปรับรูปแบบโรงงานเป็นฐานการผลิตดาวเทียมได้

ความร่วมมือกับ ทีโอที ในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้บริการใหม่ ๆ เกี่ยวกับดาวเทียมวงโคจรต่ำ ซึ่ง มิว สเปซ มีประสบการณ์การร่วมงานกับนาซา การพัฒนาอุปกรณ์โครงสร้าง โดยมีทีมงานประมาณ 30 คน

“เมื่อเราเจอเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเข้าไปศึกษาพื้นฐาน และดูว่าประสิทธิภาพของระบบสามารถทำอะไรได้บ้าง ส่งผลให้เรารู้เทคโนโลยีในเชิงลึก” วรายุทธ กล่าว

จะมีบริการ Gateway & Satellite Service เป็นจุดกระจายสัญญาณโดย ทีโอที ได้เริ่มศึกษาจุดที่ตั้งเครือข่าย ตั้งเป้าจะให้บริการกับบริษัทขนาดใหญ่ก่อน ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์คือผู้ใช้บริการในไทยและในเอเชีย

เป้าหมายต่อไปของ มิว สเปซ คือการส่งคนขึ้นไปในอวกาศ และสร้างโรงงานไว้บนนั้นเป็นจุดทดสอบ

วรายุทธ มองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมดาวเทียมและอินเทอร์เน็ต โดยโฟกัสไปที่ความเร็วและประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยเคยชินกับการจ้างคนอื่นมาติดตั้งระบบโครงข่าย แต่ไม่เคยทำด้วยตัวเอง จึงจัดงานแถลงข่าวขึ้นเพื่อเป็นการประกาศให้นักลงทุน พาร์ทเนอร์ และผู้ใช้บริการที่ต้องการอะไรใหม่ ๆ เข้ามารวมตัวกัน

“เราพร้อมสนับสนุนกิจการภาครัฐในด้านการรับส่งสัญญาณในระบบดิจิทัลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ เพิ่มศักยภาพการให้บริการเครือข่ายสถานีภาคพื้นดิน บริการการรับและส่งสัญญาณดาวเทียมในระบบวงโคจรต่ำ รองรับการใช้งาน เทคโนโลยีเครือข่าย 5G ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จะทําให้การสื่อสารกระจายครอบคลุมไป ทั่วทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น ทั้งพื้นที่ที่ห่างไกลซึ่งเสาสัญญาณไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นประโยชน์และมีความสําคัญอย่างมากต่อการสื่อสารในอนาคตที่กําลังจะเกิดขึ้น ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถเข้าถึงการศึกษา ความรู้ อาชีพ และโอกาสต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม” วรายุทธ กล่าว

มิว สเปซ จับมือ ทีโอที พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ดันธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ

ด้าน มรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า เทคโนโลยีก้าวไปเร็วมาก และเป็น The Next Game Changer เพราะจิ๊กซอว์มาครบแล้ว มีเทคโนโลยีที่ส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำได้ และในปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ทำเรื่องดาวเทียมวงโคจรต่ำอยู่ ในสหรัฐฯ มีการผลิตดาวเทียมเหมือนกับการผลิตรถยนต์ เช่นเดียวกับที่จีนถึงแม้จะไม่ได้มีข่าวออกมา

“การร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างรวดเร็วแต่เรามองว่ามันน่ากลัว เราจึงควานหาคนที่เรียนรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญที่ได้เจอกับ คุณวรายุทธ และได้นั่งคุยกัน หลังจากได้พูดคุยก็พัฒนามาเรื่อย ๆ” มรกต กล่าว

ทีโอทีมีความรู้เรื่องดาวเทียมวงโคจรต่ำไม่มาก แต่รับการถ่ายทอดจากทีมงานของ มิว สเปซ ซึ่ง ทีโอที มีทีมงานประมาณ 50-60 คน เข้ามารองรับโดยมาจากทุกสาขาวิชาชีพเพื่อจะได้มุมมองที่ต่างกัน

“เราจะต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่เอาไว้เพราะถ้าไม่ทำก็จะถูกดิสรัปต์” มรกต กล่าว

มรกต กล่าวต่อว่า ธุรกิจอวกาศจะมาอย่างแน่นอน แต่จังหวะเวลาที่มาจะปราณีแค่ไหน หมายความว่าให้เวลาปรับตัวมากแค่ไหน ซึ่งเมื่อ 3 เดือนที่แล้วทีโอทีประเมินว่ามีเวลาเตรียมตัวอีก 10 ปี แต่วันนี้คาดว่าอาจจะไม่ถึง 5 ปีก็ได้ ซึ่งจะดูถูกเทคโนโลยีไม่ได้ เพราะขณะที่เรานั่งอยู่เฉย ๆ คนอื่นเขาทำกันอยู่ สิ่งสำคัญคือต้องติดตามความรู้ ซึ่ง มิว สเปซช่วยได้เยอะมาก

ด้านจุดแข็งของทีโอที คือ มีฐานลูกค้าอยู่จำนวนมาก และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่พร้อมทั้งในเรื่องท่อร้อยสายใต้ดิน เสาสัญญาณสื่อสารโทรคมนาคม และสายไฟเบอร์ออปติก ซึ่งถือเป็นโครงสร้างสำคัญที่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำต้องการ แม้ว่าดาวเทียมวงโคจรต่ำจะเข้ามา แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาเสริมธุรกิจให้ทำงานร่วมกันได้

ถึงแม้ว่าการควบรวมระหว่าง ทีโอที และ กสท. จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่เชื่อว่าทั้งสององค์กรมีมุมมองเรื่องดาวเทียมไม่ต่างกัน วันนี้จะต้องลงมือทำ หาคนที่ใช่และเข้าไปร่วมมือกับเขา เมื่อคนที่ทำจริงเข้ามารวมตัวกันมาก ๆ ก็จะเกิดสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันการเซ็น MOU ครั้งนี้จะเป็นแค่เรื่องการศึกษา แต่เชื่อว่าในอนาคตจะต่อยอดความร่วมมือเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ