TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnology'มิว สเปซ' จับมือพันธมิตร เตรียมส่งอุปกรณ์ทดลองสู่อวกาศ

‘มิว สเปซ’ จับมือพันธมิตร เตรียมส่งอุปกรณ์ทดลองสู่อวกาศ

มิว สเปซ จับมือกับองค์กรขนาดใหญ่ในไทยอย่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และอีกทั้งภาคส่วนของสื่อและศิลปินจากหลายสถาบันตลอดจนกลุ่มเยาวชนเด็กรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ ในเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศในไทยให้ก้าวหน้าทันสมัยมากยิ่งขึ้น

-จีนส่งดาวเทียมทำแผนที่ความละเอียดสูง ดวงใหม่ขึ้นอวกาศ
-นาซา-สเปซเอกซ์ ร่วมส่งมนุษย์สู่อวกาศอีกครั้งหลังปี 2011

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ บริษัท มิว สเปซ จะมีการส่งสัมภาระและวัตถุต่าง ๆ ขึ้นไปบนอวกาศร่วมกับบริษัท Blue Origin ซึ่งนำโดย เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้ง Blue Origin และ Amazon ซึ่งในครั้งนี้เป็นการนำส่งสัมภาระหรือวัตถุ (payload) ขนาดใหญ่พิเศษโดยทางบริษัท ทีโอที ได้เป็นผู้ร่วมพัฒนาระบบและเทคโนโลยีในครั้งนี้ด้วย

วัตถุและอุปกรณ์สื่อสารที่จะนำส่งไปพร้อมกับจรวดของ Blue Origin นั้นประกอบด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคและเซนเซอร์มากมาย จุดประสงค์เพื่อการสังเกตการณ์และวัดค่าต่าง ๆ ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง โดยกำหนดการปล่อยจรวดเพื่อทดสอบ Payload นี้ คาดว่านับเป็นการนำส่งสัมภาระ (payload) น้ำหนักรวมกว่า 10 กิโลกรัมและมูลค่ารวมกว่า 10 ล้านบาทเป็นครั้งแรกของไทยในปี 2020

เจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง วิศวกรไทยและประธานกรรมการบริหารบริษัทด้านอุตสาหกรรมดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “เป้าหมายหลักสำคัญของเราในปีนี้คือการจับมือกับบริษัท ทีโอที เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจดาวเทียมโดยเริ่มที่ โครงการการส่งอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถทํางานบน Space Environment ไปทดสอบบนอวกาศ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศให้กับประเทศไทย”

'มิว สเปซ' จับมือพันธมิตร เตรียมส่งอุปกรณ์ทดลองสู่อวกาศ

หากจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของมิว สเปซ นั้น คงต้องย้อนไปถึงประวัติของ เจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัท มิว สเปซ ณ ปัจจุบัน “เจมส์” ถือเป็นบุคคลผู้มากประสบการณ์ทางด้านอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมการบินและอากาศยาน และปริญญาโทสาขาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) จากนั้นได้เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกรระบบดาวเทียมในโครงการของ นอร์ทธรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) บริษัทด้านอวกาศและเทคโนโลยีการป้องกัน จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าทีมโครงการระบบพาหนะไร้คนขับที่ นอร์ทธอรป

ในขณะที่หน้าที่การงานของคุณเจมส์กำลังไปได้ดีในอุตสาหกรรมการบินระดับท้อปของโลก “เจมส์” กลับตัดสินใจกลับประเทศไทยด้วยความตั้งใจที่จะนำความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาประเทศโดยมีแผนในการมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจด้านดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศของไทย

จากวิศวกรด้านการบินและอวกาศผู้มากด้วยประสบการณ์จากอุตสาหกรรมการบินขนาดยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้ผันตัวเองเข้าสู่วงการธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์ที่หนักแน่นและชัดเจนในการพัฒนากิจการดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย “เจมส์” ได้ย้ำถึงแนวคิดดังกล่าวว่า “ตัวผมเองมีความมุ่งมั่นมาตลอดในการผลักดันให้ธุรกิจดาวเทียมและอวกาศให้เกิดขึ้น และการนำส่ง payload ในครั้งที่ 4 ของมิว สเปซนี้ ถือเป็นสัญญานที่ดีของการก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมนี้เพื่อคนไทยในอนาคต”

เป้าหมายที่สำคัญในอนาคตของ มิว สเปซ คือการสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์ เนื่องจากปัจจุบันประชากรบนโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบให้ทรัพยากรบนโลกลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เราจึงมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะสามารถช่วยหาทรัพยากรใหม่ ๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ของมนุษย์ในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้ “เจมส์” ยังได้ส่งทีมวิศวกรของ มิว สเปซ ไปช่วยเหลือในภารกิจกู้ภัยทีมนักฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี่ทั้ง 13 คน และรวมถึงโค้ชที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง เมื่อปี 2561 โดยทีมมิว สเปซได้ทำงานร่วมกับบริษัทสเปซเอ็กซ์ (Space X) และบริษัทบอริ่ง (The Boring Company) ของ อีลอน มัสก์ เพื่อสนทนาร่วมกันถึงแผนการกู้ภัยครั้งนี้ และยังได้รับความร่วมมือจากกูเกิลโดยอาศัยเทคโนโลยีการคำนวณสภาพอากาศ เพื่อให้นักกู้ภัยได้รับข้อมูลการพยากรณ์สภาพอากาศในบริเวณถ้ำได้อย่างแม่นยำ

ส่วนรูปแบบการทำงานในองค์กรของ มิว สเปซ นั้น เจมส์ วรายุทธ เล่าว่า สิ่งสำคัญสำหรับเขาในการทำให้มิว สเปซ โตได้อย่างก้าวกระโดด คือ ความเชื่อใจและเชื่อมั่นในทีม “ผมใช้เวลากับทีมเยอะมาก เพื่อให้มี vision เดียวกันต้องอธิบายให้เเน่ชัดเหมือนสอนวิธีเล่นเกมให้ลูกทีม พอรู้เทคนิคเเล้วให้พวกเขาไปลองทำกันเลย เชื่อมั่นในทีม เพราะถ้าไม่เชื่อใจก็จะไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำตามเป้าหมายลำบาก” และสิ่งสำคัญคือการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแสดงไอเดียและความสามารถออกมาให้ได้มากที่สุด กล้าเสี่ยงที่จะลองทำในสิ่งใหม่ เราต้องเข้าใจ และมีพื้นที่ให้สำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

และด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของบริษัท มิว สเปซ แอนแอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัทที่ดำเนินกิจการดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยที่กำลังเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยเป้าหมายในการเป็นผู้นำประเทศไทยเข้าสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างทัดเทียม

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-ผลสำรวจเผย พนักงานใน SEA คาดหวังการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานหลังโควิด-19
-ขยายฐานแฟน-สร้างช่องทางรายได้ใหม่ ทางรอดธุรกิจ “ไอดอล”
-5 เทรนด์ใหม่ ขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยีในทศวรรษหน้า
-ไขข้อข้องใจ “ภาษีที่ดิน” จ่ายเท่าไหร่ จ่ายที่ไหน และใครได้ประโยชน์?

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ