TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewฝันบุกฟ้า พัฒนานิเวศอวกาศไทย ฉบับ 'เจมส์-มิวสเปซ'

ฝันบุกฟ้า พัฒนานิเวศอวกาศไทย ฉบับ ‘เจมส์-มิวสเปซ’

เมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ (Aerospace) ไม่ใช่แค่การเดินทางเพื่อค้นพบความก้าวหน้าด้านดาราศาสตร์ หากได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล และการแสวงหาความมั่นคงด้านทรัพยากรจากนอกโลก จึงเป็นความท้าทายใหม่สำหรับประเทศที่ต้องการพัฒนาระบบนิเวศอวกาศ และลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ซึ่งหากเอ่ยถึงสตาร์ตอัพไทยในแวดวงเทคโนโลยีการบิน-อวกาศ ชื่อของ เจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง ซีอีโอ มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี คือ หนึ่งในผู้เล่นแถวหน้าในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจอวกาศไทยโดยมีความยั่งยืนเป็นหมุดหมายปลายทาง 

เมื่อคนกล้าท้าฝัน

แม้การเริ่มต้นสิ่งใหม่ต้องกล้าเสี่ยง กล้าท้าทาย และการเข้าสู่ธุรกิจอวกาศแบบเริ่มต้นจากศูนย์ของผู้ค้าหน้าใหม่เป็นงานสุดหิน แต่ ‘เจมส์ วรายุทธ’ ตัดสินใจเลือกท่ายากด้วยการสร้างบริษัทซึ่งสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ด้วยตัวเอง เพราะมั่นใจในศักยภาพของไทยมีโอกาสสูงเนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานและฐานความรู้ในมิติต่าง ๆ จึงเกิดเป็น “มิว สเปซ (mu Space)” ในปี 2560 ธุรกิจที่มาจากความฝันและความชื่นชอบส่วนตัวเรื่องเครื่องบินและอวกาศ ประกอบกับการศึกษา 15 ปี ที่สหรัฐฯ ก็คลุกคลีอยู่ในแวดวงโครงการอวกาศ พอได้รับโอกาสก็เริ่มจับที่ตัวดาวเทียม ก่อนขยับไปที่ภาพรวมของเทคโนโลยีอวกาศจนมาจบที่เครื่องบินไร้คนขับและงานด้านคลื่นรังสีวิทยุ (Radiation)

ตอนที่สเกลธุรกิจยังเล็กอยู่ ผู้ใหญ่มักคิดต่างว่า ทำไมไม่ทำธุรกิจพลังงานหรือเคมี แต่ก็ฝืนทิศทางมาเรื่อย ๆ ท้าทายตัวเองมาตลอดที่จะพาธุรกิจให้รอด ให้ทะลุเข้าไปผู้เล่นในอุตสาหกรรมอวกาศของสหรัฐฯ เจมส์บอกว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการวางแผนล่วงหน้า แม้ตลาดนี้ผู้ค้าหน้าใหม่เข้ายากก็จริง แต่เมื่อเข้ามาแล้วเริ่มต้นสร้างแต่ละชิ้นส่วนแต่ละองค์ประกอบแบบเริ่มต้นจากศูนย์ที่ไม่ใช่โมเดลแบบซื้อมาขายไป จะทำให้มิว สเปซโตอย่างมีเอกลักษณ์ หาตัวจับยากเพราะมีฐานทางเทคโนโลยีที่แน่นในการต่อยอดธุรกิจได้เร็ว แม้อนาคตจะมีคู่แข่งเพิ่มเข้ามาเร่งการเติบโตของตลาดก็ตาม

“เทคโนโลยีอวกาศเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคที่มีศักยภาพพร้อมเติบโตสูงในอนาคต ตัววัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผลิตยังสามารถนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น รถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ ปิโตรเคมี ได้ จึงเป็นทั้งความท้าทายและความเสี่ยงหากเราไม่มีโรงงานหรือฐานการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ในประเทศ หรือสร้างระบบนิเวศให้พร้อมรองรับธุรกิจอวกาศ  ซึ่งมิว สเปซเองพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ จุดไหนที่เทคโนโลยียังมาไม่ถึงก็ต้องพยายามโฟกัสในจุดที่เป็นไปได้ก่อน”

ส่องภาพรวมธุรกิจอวกาศ

ในอดีตเทคโนโลยีอวกาศเกิดขึ้นเพื่อรองรับภารกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐและความมั่นคง แต่ปัจจุบันถูกเปิดกว้างให้นำไปใช้ในงานกิจการพลเรือนและการพาณิชย์ต่าง ๆ ซึ่งถ้าประเมินมูลค่าตลาดซัพพลายเชนของธุรกิจด้านอวกาศ ตั้งแต่ดาวเทียม ธุรกิจการส่งยานขึ้นสูอวกาศ (Launch) หรือโครงการในอวกาศอื่น ๆ คาดการณ์กันว่า จะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรืออาจถึง 2 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐหากนับรวมภารกิจบนอวกาศอื่น ๆ เช่น ภารกิจค้นหาทรัพยากรบนดวงจันทร์ จะเห็นว่า เป็นตัวเลขที่เติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับตอนเปิดบริษัท เมื่อปี 2560 ซึ่งมูลค่าตลาด ณ ตอนนั้น ถูกประเมินไว้ราว 3-4 แสนล้านเหรียญ (300-400 พันล้านเหรียญ) เท่านั้น

ขณะที่ตลาดดาวเทียมขนาดเล็กน้ำหนัก 200-500 กิโลกรัม ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายของมิว สเปซ มีมูลค่าตลาดรวมเติบโตจากปีที่แล้วจาก 5 หมื่นกว่าล้านเหรียญ (50 พันล้านเหรียญ) มาเป็น 8 หมื่นล้านเหรียญ (80 พันล้านเหรียญ)ในปีนี้

โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนธุรกิจ คือ ธุรกิจการผลิตประกอบดาวเทียม มูลค่าตลาดราว 5 หมื่นล้านเหรียญ (50 พันล้านเหรียญ) และธุรกิจส่งยานขึ้นสู่อวกาศ มูลค่าราว 3 หมื่นล้านเหรียญ (30 พันล้านเหรียญ) 

“ดาวเทียม 200 กิโลกรัม จะเป็นดาวเทียมสื่อสารรับ-ส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว ทั้งเอสเอ็มเอส หริอแมสเสจ วีดีโอ และ Voice Calls ส่วนดาวเทียม 500 กิโลกรัม ใช้กับงานสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งมีการติดเลนส์กล้องขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นและความคมชัดของภาพถ่ายที่มากขึ้น”

ปักธงชิ้นส่วนดาวเทียม

มิว สเปซ ดำเนินธุรกิจครอบคลุมการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมและดาวเทียมทั้งดวง แบตเตอรี่และพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ และบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ได้แก่ เสาส่งสัญญาณ 5G สายไฟเบอร์ และโครงข่ายภาคพื้นดิน โดยทุกส่วนเกี่ยวข้องกับดาวเทียมทั้งหมด มีทั้งการออกแบบและผลิตขึ้นเองบางส่วน 

การเซ็นสัญญาความร่วมมือกับผู้ผลิตนวัตกรรม อาทิ AIRBUS Defense and Space เพื่อร่วมพัฒนาดาวเทียม THEOS-1 และการทำงานร่วมกับจิสด้า (GISTDA) ในการพัฒนาดาวเทียม THEOS-2 ความร่วมมือกับบริษัทลูกของแอร์บัสในการสร้างและพัฒนาระบบพลังงาน แบตเตอรี่เซลล์ พาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ความร่วมมือกับ One Web บริการอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายดาวเทียมวงจรต่ำรุ่นแรก ซึ่งเป็นเอกสิทธิสัญญาบริการแต่เพียงผู้เดียวใน 6 ประเทศ  ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และ พม่า ส่วนการเจรจาในรุ่น 2 ถือว่าเป็นดีลใหญ่ที่มีการลงทุนสูงถึง 2 พันล้านเหรียญ หากเจรจาสำเร็จน่าจะเป็นไปในแนวทางการจัดหาชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ

“เรื่องของอวกาศมันยาก และใช่ว่าทุกคนจะทำได้เองทั้งหมด เพราะซัพพลายเชนในธุรกิจอวกาศซับซ้อนเพียงแต่เราเลือกจะทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะสุดท้ายแล้วจะไปถึงจุดที่ใครจะเป็นผู้ผลิตที่เก่งกาจที่สุดในด้านใดของซัพพลายเชน เพื่อที่จะโตต่อ ลงทุนเพิ่ม หรือเข้าซื้อกิจการอีกฝ่าย” 

ในตลาดการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม มีผู้ผลิตรายใหญ่หลายราย เช่น Boeing-Lockheed กำลังมองหาสตาร์ตพที่สามารถจัดส่งชิ้นส่วนเหล่านี้ โอกาสของมิว สเปซ  คือ การเข้าไปเป็นหนึ่งในรายชื่อซัพพลายเออร์ที่สามารถสอบผ่านมาตรฐานด้านประสิทธิภาพของแต่ละทวีป หรือมาตรฐานของบริษัทลูกค้าเหล่านั้น ขณะเดียวกัน ความต้องการด้านชิ้นส่วนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ นำไปสู่การเพิ่มกำลังผลิตด้วยต้นทุนถูกลง ราคาขายแข่งขันได้ นอกจากนี้ แผนการพัฒนาชิปประมวลผลที่เมื่อผ่านมาตรฐานการทดสอบน่าจะส่งให้ธุรกิจเติบโตชึ้นได้อีกในช่วง 5 ปี

“โชว์เคสเด่น ๆ เรื่องชิ้นส่วน ก็จะมีอุปกรณ์ควบคุมทิศทางการหมุน เคลื่อนตัว และทรงตัว (Reaction Wheel) สายอากาศส่งสัญญาณ (Antenna) พาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการให้บริการ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทพาณิชย์ในอุตสาหกรรมอวกาศ โรงงานการผลิตขนาดใหญ่ ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา เอเชียเหนือ ญี่ปุ่น เกาหลี”

เดินหน้าผลิตดาวเทียมสื่อสาร-รีโมทเซ็นซิ่ง

เจมส์ มองว่า ธุรกิจดาวเทียมจะเป็นกำลังส่งสำคัญในการพามิว สเปซ ขึ้นไปเป็นผู้เล่นแถวหน้าของตลาดได้ในอนาคต เพราะด้วยศักยภาพในการสร้างดาวเทียมได้ทั้งดวง จะโชว์ให้เห็นถึงเทคโนโลยีการออกแบบซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญา การใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตจากวัสดุใหม่ ๆ  รวมถึงการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา 

เริ่มจาก “การพัฒนาดาวเทียม 200 กิโลกรัม” เพื่อภารกิจสื่อสาร โดยเน้นการออกแบบและสร้างสถาปัตยกรรมใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่ในตลาดมีอยู่ ตัวอย่างเช่น ความเร็วนาฬิกา (Clock Speed) ที่ 200 Mbps เพื่อให้ได้ความเร็วใกล้เคียงการทำงานโครงข่ายสื่อสารภาคพื้นดินอย่าง OneWeb การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนประกอบเองบางส่วน และจ้างบริษัทภายนอกเป็นผู้ผลิตบางส่วน เช่น โซลาร์เซล พื่อการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ “การพัฒนาดาวเทียมขนาด 500 กิโลกรัม” เพื่อให้มีระบบพลังงานใหญ่ขึ้น มีพื้นที่ในการติดตั้งเสาส่งเสาสัญญาณ รวมถึงแผงโซลาร์ได้มากขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าถึงดาวเทียมที่ทำเรื่อง Remote Sensing หรือ ดาวเทียมเรดาร์โดยใช้คลื่นวิทยุ (SAR) โดยทั้งสองขนาดจะถูกออกแบบบนโครงสร้างพื้นฐานเดียวกันอยู่ที่ว่าจะใส่ PayLoad เพื่อภารกิจงานแบบไหน เช่น เสาส่งสัญญาณพื่อส่งข้อมูล หรือใส่กล้องถ่ายภาพ สามารถผสมผสานการใช้งานให้เหมาะสมกับทุกพื้นที่ เช่น ผู้คนไม่หนาแน่น ไม่ใช่จุดตั้งของเมือง ก็ใช้ดาวเทียมดวงเล็ก แต่ถ้าต้องการความเข้มของสัญญาณในระดับส่งวีดีโอความละเอียดสูงไปยังโทรศัพท์มือถือจำนวนมาก มีรัศมีครอบคลุมกว้างก็ใช้ดาวเทียมดวงใหญ่ขึ้น 

“นโยบายด้าน ESG คาร์บอนเครดิตต่าง ๆ เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ความต้องการดาวเทียมด้าน Remote Sensing โตขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยเอง ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง จึงออกมาในรูปแบบของการทำเอ็มโอยูระหว่างธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมาก เช่น ธุรกิจปิโตรเคมี ในการพัฒนาดาวเทียมที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อตอนสิ้นปีที่ผ่านมา และยังมีแผนดึงภาคการเกษตร พลังงาน รถยนต์เข้ามาร่วมด้วย โดยมี AWS และ AWS Region มาทำโมดูลเรื่องสถานีภาคพื้นดิน และมิว สเปซ จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการเทคโนโลยีในการตรวจจับก๊าซคาร์บอน”

อย่างไรก็ตาม การสร้างดาวเทียมแต่ละดวงต้องผ่านการทดสอบที่เรียก่า Technology Readiness Level เพื่อประเมินความพร้อมและเสถียรภาพของเทคโนโลยีตามบริบทการใช้งานแบ่งเป็น 9 ระดับ เช่น ระดับ 8-9  หมายถึง การนำดาวเทียมทั้งดวงไปทดสอบบนอวกาศจริง (Orbit Testing) โดยเฉพาะระดับ 9 คือ ต้องทำซ้ำ ๆ หลายครั้ง ระดับ 5-6 เป็นการทดสอบในห้องแล็ปที่จัดสภาพแวดล้อมเสมือนอยู่บนอวกาศ ทำให้การซื้อขายดาวเทียมส่วนใหญ่จะเริ่มที่สัญญาการผลิต 1-2 ดวงก่อน จนเมื่อผ่านมาตรฐานทดสอบ จึงเพิ่มเป็น 10 หรือ 100 ดวงก็เป็นได้หากต้องการทำอยู่ในรูปแบบโครงข่ายดาวเทียม

“มิว สเปซเลือกไม่แตะธุรกิจการส่งยานขึ้นสู่อวกาศ แต่จะเป็นการใช้บริการผ่าน Falcon-9  ของ SpaceX ซึ่งตอนนี้มีค่าใช้จ่ายในการส่งดาวเทียมอยู่ที่ 2 พันเหรียญต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แต่เราก็หวังมากกับ Starship ที่กำลังออกมาซึ่งจะทำให้ราคาค่าส่งเหลือเพียงหลัก 200 เหรียญต่อกิโลกรัม และนำกลับมาใช้ซ้ำในภารกิจได้เป็น 100 ครั้ง ซึ่งทำให้ธุรกิจดาวเทียมวิ่งไปหาการเติบโตที่เร็วขึ้น เพราะต้นทุนการส่งถูกลง” 

แบตเตอรี่ S-Curve ใหม่ทางธุรกิจ

มิว สเปซได้เร่งการพัฒนาแบตเตอรี่เซลล์ให้สามารถจ่ายพลังงานกำลังสูงขึ้น เช่น แบตเตอรรี่ใช้อิเล็กโทรไลต์ชนิดแข็ง (Solid State) ตลอดจนการเติมแกลเลียมไนไตรด์ (GaN) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronics) ให้สามารถรับแรงดันไฟฟ้าที่มากขึ้นของแบตเตอรี่เซลล์รุ่นใหม่ 

“แบตเตอรี่นับเป็น S-Curve ตัวใหม่ของธุรกิจ ซึ่งเริ่มต้นทำเพื่อป้อนตลาดดาวเทียมก่อน เนื่องจากมีวิธีผลิตแตกต่างจากแบตเตอรี่ทั่วไป และไม่ใช่การผลิตสเกลใหญ่เลยทำให้ต้นทุนยังสูงอยู่  แต่ในอนาคตเมื่อความต้องการมากขึ้น จำนวนการผลิตเริ่มสูงขึ้น อาจมีการเจรจากับบริษัทพลังงาน บริษัทผลิตรถยนต์ หรือ บริษัทแบตเตอรี่ที่ญี่ปุ่น ในการผลิตแบตเตอรี่ที่สเกลใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจเป็นโมเดลธุรกิจที่ลงทุนเอง หรือร่วมกับพาร์ทเนอร์”

หากมองที่มาของรายได้ ณ ปัจจุบัน แบตเตอรี่หรือพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งตั้งใจใส่ไว้ในดาวเทียม กลับได้อานิสงฆ์จากตลาดด้านพลังงานไปด้วย ส่วนฝั่งอินฟราสตรัคเจอร์ เช่น สายไฟเบอร์ ถือว่าได้เต็ม ๆ จากธุรกิจเกตเวย์ภาคพื้นดินในการตรวจจับดาวเทียม และธุรกิจบริการด้านอินเทอรเน็ตโดยสามารถสร้างรายได้ถึงหลักพันล้านบาทได้เหมือนกัน รวมถึงรายได้การจำหน่ายชิ้นส่วนคอมโพเนนต์ในส่วนของกราวด์  ยกเว้นก็แต่การผลิตดาวเทียมทั้งดวงที่น่าจะสามารถรับรู้รายได้หลังจากปี 2567-2568 

กลยุทธ์สู้ตลาด สร้างนิเวศอวกาศยั่งยืน

ด้วยศักยภาพของมิว สเปซ ณ ขณะนี้ สามารถผลิตดาวเทียมได้เต็มที่เฉลี่ย 10 ดวงต่อปี การผลิตชิ้นส่วนสามารถทำได้เป็นหลัก 100 ชิ้น ส่วนจุดขายที่ลูกค้าชื่นชอบอยู่ที่บางชิ้นยังเป็น “งานทำมือ” สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามที่ลูกค้าต้องการ เป็นกลยุทธ์แบบ “วิน-วิน” ทั้งสองฝ่าย ตรงที่ลูกค้าสามารถเลือกเทคโนโลยีที่มองว่าเป็นจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบในการชิงส่วนแบ่งตลาด ขณะที่มิว สเปซ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจตลาดมากขึ้นเพราะมีลูกค้าร่วมด้วยช่วยคิด ยิ่งเมื่อทำการทดสอบและใช้งานได้จริง ก็ทำให้ได้ข้อมูลและตัวเลขความต้องการด้านการตลาดให้คิดต่อไปข้างหน้าว่า ชิ้นส่วนใดหรือดาวเทียมลักษณะไหนที่ควรผลิตแบบพร้อมใช้ หรือยังควรเป็นแบบ customize ต่อไป 

แต่เพราะการเติบโตบนเส้นทางธุรกิจซึ่งแตกต่างสตาร์ตอัพต่างประเทศรายอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่มักได้ลูกค้าจากหน่วยงานภาครัฐก่อน แต่มิว สเปซกลับได้ฐานลูกค้าเอกชนก่อนและเป็นลูกค้าต่างประเทศส่วนใหญ่ จึงมักถูกตั้งคำถามว่า “คุณเป็นบริษัทที่มีฐานในประเทศไทย คุณได้สัญญาหรือโครงการร่วมกับภาครัฐบ้างแล้วรึยัง” ทำให้แต่ละก้าวธุรกิจของมิว สเปซ จึงเป็นการจับตลาดโกลบอล และต้องไปต่อในการพิสูจน์ตัวเองให้มีความน่าเชื่อถือพอที่จะได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐของไทย 

จนได้รับการสนับสนุนทั้งจากบีโอไอ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถประเทศเพื่อลดต้นทุนการจ้างวิศวกรในการพัฒนาเซ็นเซอร์ คอมพิวเตอร์วิชั่น การได้รับ Capital Gain Tax ในการลดหย่อนภาษี การทุ่มงบวิจัยพัฒนาและโครงสร้างพินฐานในสเกล 500 ล้านขึ้นไป ทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้มา ประสิทธิภาพของการผลิตชิ้นส่วนที่ได้รับรองจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น สวทช. การให้บริการ Ground Monitoring ให้กับลูกค้าโดยใช้อุปกรณ์ของจิสด้า ความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น ล้วนเป็นตราสแตมป์ให้เห็นว่า “เราคือตัวจริงทางธุรกิจ”  ซึ่งเป็นเครดิตที่ต้องให้กับทีมงานทุกคน  

“เราพยายามดันสุดตัวเพื่อให้เกิดการใช้วัสดุหรือชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น (Local Content) ไม่ใช่แค่มิว สเปซบริษัทเดียวแต่อยากให้มีเทียร์สอง เทียร์สาม กระจายออกไปเพื่อให้ระบบซัพพลายเชน และนิเวศด้านอวกาศของไทยมีความมั่นคง และเกิดประสิทธิผลในระยะยาวมากขึ้น ลดการพึ่งพาจากนอกประเทศ และมีราคาถูกลง อย่างดาวเทียมดวงหนึ่งมีชิ้นส่วนราว 1,000 ชิ้น มีชิ้นส่วนหลักราว 10 ชิ้น เราก็เติมสัดส่วนการใช้ของที่ผลิตในประเทศเข้าไปอยู่ในการประกอบแล้ว 40% และอยากดันให้โตขึ้นไปได้อย่างน้อยสัก 20% รวมถึงต้องการันตีว่า แตะถึงทั้งมาตรฐานและประสิทธิภาพ”

ยกตัวอย่างกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ เซมิคอนดัคเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลังงาน ปิโตรเคมี ซึ่งมีมาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนของเขาอยู่แล้ว สามารถดึงเข้ามาร่วมอยู่ในซัพพลายเชนเพียงแค่เพิ่มส่วนของมาตรฐานการผลิตด้านการบินและอวกาศเข้าไป หากมาร่วมมือกัน โอกาสที่จะสำเร็จจะมีสูงและเป็นประโยชน์ต่อการอุดหนุนผู้ผลิตของไทยภายใต้การรับรองมาตรฐานและประสิทธิภาพที่มั่นใจได้ ขณะเดียวกัน การขยับก่อนก็จะได้เปรียบด้านเติบโตในอุตสาหกรรมอวกาศเพิ่มเติมจากธุรกิจเดิม 

อนาคตบนท้องฟ้าและดาวเทียม

จากความชื่นชอบเรื่องเครื่องบินและอวกาศ สู่การส่งเสริมภารกิจพิชิตดวงจันทร์เพื่อตามหาทรัพยากรและโลกใหม่ โอกาสที่ผ่านเข้ามาระหว่างทาง ทำให้เห็นศักยภาพในการสร้างเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับอนาคต กล้าเสี่ยงและแน่วแน่กับสิ่งนี้จนสามารถสร้างมูลค่าที่โตอย่างยั่งยืน ทั้งยังจุดประกายการผลักดันไทยสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ให้ได้

“ผมไม่ได้มองเรื่องยูนิคอร์นสักเท่าไหร่ เพราะใช่ว่าจะเป็นไปได้ตลอดหากเราพลาดการพัฒนาเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ได้ไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ มูลค่าของสตาร์ตอัพที่เพิ่มขึ้นจึงอยู่ที่การสร้างเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมดี ๆ ขึ้นมา หากทำไม่ได้จริง ธุรกิจก็จะด้อยค่าไปเอง”

จนถึงปีนี้ มิว สเปซ สามารรับรู้รายได้ที่น่าจะโตได้ถึงระดับ 20-30 ล้านเหรียญ ถ้านับเฉพาะในส่วนของบริการกับการขายผ่านช่องทางจำหน่าย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้นับรวมการผลิตชิ้นส่วน และสิ่งที่ลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง เช่น ดาวเทียมและการทำแผนทดสอบที่ต้องมีอย่างน้อย 3 ครั้งขึ้นไป ขณะที่ธุรกิจแบตเตอรี่เซลล์ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับตลาดรถยนต์ในอนาคต คาดการณ์ว่า จะทำให้ธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้นเกิน 100 ล้านเหรียญ และถึง 300-500 ล้านเหรียญในอนาคต และจากการระดมทุนในซีรี่ย์เอและบีทั้งหมดประมาณ 20 ล้านเหรียญ เมื่อมารวมกับการระดมทุนในรอบซีรี่ย์ซีช่วงไตรมาส 3 อีก 80 ล้านเหรียญ จะช่วยให้สามารถขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตดาวเทียมเฉลี่ย 10 ดวงต่อปี ไปเป็นหลัก 100 ดวงได้ 

“สตาร์ตอัพมักจะมีแรงกดดันหน่อย ๆ เรื่องการระดมทุนและการสร้างรายได้ รวมถึงงบวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ  ตัวอย่างเช่น ตลาดดาวเทียมรุ่น 200-500 กิโลกรัมที่เรามั่นใจว่าจะใหญ่ขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต ไม่ได้นับรวมแบตเตอรี่ซึ่งไปคาบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงานซึ่งเป็นธุรกิจที่โตต่อไปอีกได้ช่องทางหนึ่ง ยิ่งถ้า Starship เกิด ต้นทุนในการทดสอบดาวเทียมน้ำหนัก 200 กิโลที่วางแผนไว้ก็จะยิ่งถูกลงอีก และถ้ามีลูกค้าแชร์ค่าใช้จ่ายเพื่อขอส่งชิ้นส่วนขึ้นทดสอบร่วมกับเรา ก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนการทดสอบบนอวกาศได้มากขึ้น” 

เจมส์ชี้ว่า หากอยากให้แบรนด์มีมูลค่าราว 400 ล้านเหรียญ เราต้องโตอย่างน้อย 4 พันล้านเหรียญ เพื่อจะได้โต 10 เท่า และหากจะโตอย่างนั้นได้ ก็ต้องโฟกัสที่ตัวดาวเทียม นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ ตัวธุรกิจหลัก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ณ ปัจจุบันและอนาคตที่เหมาะสมกับตลาด  การจับคู่การระดมทุนกับโอกาสทางการตลาดที่เวิร์ค การชี้เป้าศักยภาพการเติบโตเพื่อจูงใจคู่ค้าและนักลงทุนให้เห็นชัดว่า ธุรกิจสามารถไปได้ถึง 8 หมื่นล้านเหรียญ (80 พันล้านเหรียญ) ได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความต้องการอินเทอร์เน็ตสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตและส่งยานขึ้นสู่อวกาศถูกลงและมีความถี่ในการส่งมากขึ้น การเติบโตของธุรกิจรีโมทเซ็นซิ่ง ประเด็น ESG ที่ทำให้รายได้เติบโต เป็นต้น

“ปัจจุบัน มิว สเปซมีผู้ถือหุ้นรวมกว่า 70 คน แต่มีคนร่วมฝันเป็นร้อย สิ่งที่เราทำเสมอ คือ การเอนเกจกับผู้ลงทุนทุกไตรมาส เพื่อทำเข้าใจถึงภัยคุกคามต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ถือหุ้นก็จะถือกันยาว ๆ หวังกำไรกันประมาณ 5 ปี และก็สนุกที่จะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ”  

ตัวตึงเรื่องอวกาศ

“ผมโชคดีที่อยู่ในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว มีชั่วโมงบินเป็นหมื่น ๆ ชั่วโมงที่พิสูจน์ได้ พอต้องทำงานกับลูกค้าหรือคู่ค้าที่เป็นวิศวกร เขามองออกว่าเป็นตัวจริงหรือไม่จริง การเป็นสตาร์ตอัพต้องทำให้คนรอบตัวเชื่อว่า เราสามารถชนะได้และมันท้าทายชีวิต ผมชอบเจอความน่ากลัว ยิ่งบอกว่าทำไม่ได้ยิ่งอยากทำ หากคิดว่าไม่ชนะก็แพ้ไปครึ่งหนึ่งแล้วอันนี้เรื่องจริง อย่างเรามองว่า ธุรกิจนี้คนทำแล้วรึยัง ถ้ายังและเราทำคนเดียวไม่ได้ ก็ต้องสร้างทีมที่ใช่ขึ้นมา” 

ส่วนน้อง ๆ ที่เป็น talent ในองค์กรที่ขึ้นมานำทีมส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิศวกร ส่วนทีมงานที่มีร่วม 100 คน ก็น่าจะครบทุกสาขาทางวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านอวกาศโดยตรง คอมพิวเตอร์ เครื่องกล เคมี โดยการคัดสรรคนที่พร้อมทำเรื่องยาก ๆ และทำซ้ำ ๆ ได้หลายครั้ง หากยังทำไม่ได้ก็ให้โอกาสเขา 

การเป็นวิศวกรที่สมบูรณ์พร้อมเพื่อไปสู่ในระดับโกลบอล “ต้องซ้อม ต้องอึด ทำงานดึก และแก้ปัญหาเป็น” 

ซึ่งเจมส์เล่าว่า ช่วงเริ่มต้นบริษัทเคยจ้างคนที่ประสบการณ์แต่ส่งต่อไม่ได้ เพราะเวลาที่คิดทำอะไร เค้าจะมีอะไรที่ไม่มั่นใจ ไม่กล้าเดิน พอผลักดันมาก ๆ ก็เดินแต่มากเกินไปก็หยุด ซึ่งกระทบการทำงานของคนอื่นเพราะที่นี่ทำงานเป็นทีม 

อย่างไรก็ตาม การจ้างผู้ชำนาญการด้านต่าง ๆ  เช่น เคมี วิศวกรรม และยานยนต์ เป็นต้น เพื่อลงลึกในเทคโนโลยีเฉพาะก็ยังจำเป็นสำหรับการพัฒนาบางผลิตภัณฑ์ อย่างเซมิคอนดัคเตอร์ ชิปประมวลผล แบตเตอรี่แบบโซลิดสเตต เป็นต้น

“มิว สเปซชอบทำเรื่องยาก ถึงเหนื่อยก็ไม่เคยท้อ ล้มก็บ่อยแต่ก็มีแรงผลักดันให้ลุกขึ้นใหม่ตลอด แต่ต้องเรียนรู้ให้ได้ว่า เราล้ม เราแพ้เพราะอะไร ความกลัวเป็นธรรมชาติที่มีอยูในตัวคน แต่จะกลัวมากกว่าหากความสำเร็จไม่เกิดขึ้นเป็นเพราะยืนนิ่งอยู่กับที่แล้วไม่ทำอะไร ผมยอมล้มเป็นสิบครั้งร้อยครั้งหากสามารถเดินจากจุดเอไปหาจุดบีได้ ผมทำแน่นอน” เจมส์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มที่หนักแน่นและเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่น

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

AMITY STORY ของ “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” เริ่มจากเพาะเมล็ดพันธุ์ เติบโตสู่ไม้ใหญ่ในโลกดิจิทัล

โลกของ ‘อเล็ก ชนกรณ์’ ศิลปะดิจิทัลของเด็กพิเศษกับ #ไม่ยอมแพ้

สะพานแห่งแสง “ทรานส์ลูเซีย” เมตาเวิร์ส เชื่อมโลกจริง-เสมือน สู่ความดีงามและความสุข

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ