TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewโลกของ 'อเล็ก ชนกรณ์' ศิลปะดิจิทัลของเด็กพิเศษกับ #ไม่ยอมแพ้

โลกของ ‘อเล็ก ชนกรณ์’ ศิลปะดิจิทัลของเด็กพิเศษกับ #ไม่ยอมแพ้

“You can do it. I can do it เมื่อคุณทำได้ผมก็ทำได้” 

เสียงสะท้อนบอกสังคมจาก “โลกของอเล็ก” ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ เด็กพิเศษผู้ก้าวข้ามขีดจำกัดแอลดีสู่การสื่อความคิดและจินตนาการที่แสดงออกผ่านงานเขียนและการสร้างสรรค์ภาพศิลปะดิจิทัล เพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจ และส่งต่อโอกาสที่เท่าเทียมให้กับเพื่อน ๆ เด็กพิเศษด้วยหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ #nevegiveup

เมื่อโลกที่สงบสุขถูกความมืดกลืนกิน

แม่กบ โสภี ฉวีวรรณ ย้อนความหลังถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอเล็กตอนอายุราว 4-5 ขวบ จากการมีพัฒนาการด้านการสื่อสารที่ช้ากว่าน้องสาวที่ห่างกันราว 3 ปี ตอนแรกเข้าใจว่า ลูกอาจจะพูดช้าเหมือนพี่ชายคนโตซึ่งกว่าจะพูดได้ก็อายุเข้า 3 ขวบ แต่เมื่อนานไปยิ่งเห็นว่าน้องสาวก้าวหน้ากว่าพี่ไปมากชนิดถามเองตอบเป็น ขณะที่อเล็กยังคงพูดเป็นคำ ๆ แต่ไม่สามารถผูกคำให้เป็นประโยคได้

ความ “เอ๊ะ” ทำให้เธอตัดสินใจพาอเล็กไปพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบจนพบความจริงว่า ลูกเป็นเด็กพิเศษออทิสติก มีความบกพร่องที่เด่นชัดเรื่องการสื่อสาร หรือ LD (Learning Disabilities) แต่ความฉลาดทางเชาว์ปัญญา (IQ) นั้นอยู่ในระดับปกติ  

“พี่ร้องไห้อยู่เกือบชั่วโมง ประโยคสะเทือนใจสุด ๆ ก็ตอนที่คุณหมอบอกว่า ลูกคุณแม่สามารถทำบัตรผู้พิการได้ เมื่อทำแล้วจะได้ลดค่าใช้จ่าย แล้วความพิการที่เราเข้าใจ ลูกต้องแบบเป็นใบ้ หูหนวก แขนหัก แต่ลูกเราปกติแค่อาจสื่อสารเข้าใจยากหน่อย ในใจพี่ตอนนั้นคือ ชั้นจ่ายได้ ไม่มีความจำเป็นต้องให้ลูกทำบัตรผู้พิการ” 

คำฝังใจว่า “พิการ” นี่เอง ที่ทำให้แม่กบกลัวว่า อเล็กจะอยู่บนโลกนี้ได้อย่างไร 

“มาปวดใจอีกครั้งก็ตอนวันจบการศึกษาประถมหกของอเล็ก เพื่อน ๆ กอดกัน เซ็นชื่อหลังเสื้อให้กัน แต่ไม่มีใครเซ็นชื่อให้ลูกเรา และไม่มีใครให้อเล็กเซ็นชื่อเลย ตอนร้องเพลงอำลา อเล็กไปจับเพื่อนแล้วเพื่อนสะบัดหนี พี่เลยขอให้ไปพาลูกลงมา กอดเค้าไว้แล้วบอกว่า กลับบ้านกันนะลูก” 

เมื่อความเจ็บปวดกลายเป็นพลัง เป็นแรงผลักดันสมาชิกในครอบครัวร่วมใจจับมือพาอเล็กก้าวข้ามทุกข้อจำกัด อะไรที่อเล็กพร่อง แม่เติมให้หมด การฝึกฝนการพูดให้เป็นประโยค ออกเสียงให้ชัดกับนักบำบัด การเข้าคลาสเรียนร้องเพลงเพื่อฝึกการออกเสียงและได้สังคม การเรียนวิชาคุมองเพื่อฝึกวินัยและการมีสมาธิ การฝึกเข้าสังคม ฝึกการใช้ชีวิตที่เป็นปกติโดยมีคุณหมอ พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนเป็นผู้ดูแลรักษา รวมถึงเข้ารับการประเมินทุกปีกับอาจารย์หมอ ศ.พิเศษ พญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา ผู้เชี่ยวชาญการรักษาออทิสติกมาตลอดสิบปี เพื่อขอการรับรองขีดความสามารถของอเล็กเพื่อการศึกษาต่อในระดับมัธยมและอุดมศึกษา 

“คุณหมอชมว่า เราเก่งที่หาลูกเจอได้เร็วและฝึกลูกได้ดี จะพาลูกไปเข้าเรียนที่ไหนก็ได้ แต่สุดท้ายเราเลือกโรงเรียนสาธิตบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อจบแล้วสามารถเรียนต่อหลักสูตรปริญญาตรีได้เลย ลูกไม่ต้องปรับตัวเยอะเพราะคุ้นเคยชินกับสภาพแวดล้อมที่นี่มาตั้งแต่เด็ก” 

แม่กบยอมรับว่า ตนเองท้อมาหลายครั้ง อยากให้ลูกออกจากโรงเรียนตั้งแต่ยังเรียนประถมปีที่ 3-4 เพราะลูกสาวมักจะกลับมาเล่าให้ฟังบ่อยครั้งว่า วันนี้พี่อเล็กโดนว่าบ้าง โดนล้อบ้าง มีเด็กมาถุยน้ำลายใส่ โดนตบศีรษะแล้วพี่ชายไม่สู้ อารมณ์แม่ก็จะนอยด์แบบป๊าเอาลูกออกจากโรงเรียนเถิด ลูกไม่ต้องเรียนก็ได้ อยากให้ลูกมีความสุข แต่สามีบอกว่าไม่ได้เพราะสังคมเป็นแบบนี้ ต้องสู้ แล้วสามีก็หลอกมาเรื่อย ๆ แบบจบม.3 ค่อยลาออกแล้วกัน ก็ประคับประคองกันมาจนถึงวันที่อเล็กใกล้จบ ม.6  และกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว

การเดินทางของเด็กชายซึ่งมีพลังแสงสว่าง

“ผมไม่รู้หรอกว่าตัวเองมีบุคลิกยังไง ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเพื่อนถึงล้อ ผมเสียใจแต่ก็ชินเพราะโดนแกล้งโดนล้อมาตั้งแต่เด็ก จนวันเรียนจบประถมแล้วต้องยืนเหงา ๆ คนเดียวบนเวที มองลงมาเห็นแม่ร้องไห้ก็รู้ตัวแล้วว่าไม่มีเพื่อน ผมก็แค่ยอมรับตัวเอง” อเล็กบอกกับเราอย่างนั้น

คำปลอบใจที่ดีที่สุดสำหรับอเล็กจึงมาจากแม่และครอบครัว เพระแม้ว่าคุณหมอจะมีจดหมายแนะนำการดูแล คุณครูที่โรงเรียนเข้าใจ แต่จะไปห้ามเด็กที่อยู่ในโรงเรียนคงจะเป็นไปไม่ได้ การมี บัดดี้คู่ใจ จึงเป็นทางออกซึ่งมองไปมองมาแล้วคงไม่มีใครสวมบทผู้พิทักษ์ได้ดีเท่าน้องสาว เอิน กรกานต์ พุกะทรัพย์

แม้การสื่อสารของอเล็กซ์จะสลับคำไปมา เรียบเรียงประโยคได้ไม่ชัดเจน ต้องฝึกวิธีการพูดใหม่เพราะพูดบางตัวอักษรไม่ชัด แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์พล็อตนิทานใหม่ ๆ ที่แต่งขึ้นเองตามจินตนาการโดยมีน้องสาวเป็นแฟนตัวยง จากถ้อยคำที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าสู่งานเขียน กลายมาเป็นนิยายแชทที่ปรากฏในแอปพลิเคชันจอยลดา (Joylada) จากการที่สองพี่น้องชวนกันส่งงานไปให้พิจารณา

“ผมเริ่มเขียนนิยายลงในจอยลดาตอนเรียน ม.1- ม.2 ช่วงนั้นติดเกมส์ ชอบเรื่องราวที่อยู่ในเกมส์เลยลองคิดพล็อตแต่งนิยายของตัวเอง เรื่องแรกคือ หัวใจกระดาษ (Paper Heart) เล่าถึงตัวเอกของเรื่องชื่อ ทามะ นามะ และผองเพื่อน เรื่องที่สอง คือ House แต่งขึ้นเพราะอยากช่วยแมว แม่เลยคิดโปรเจกต์ขายคุกกี้ แถมด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับแมวมหัศจรรย์ที่แข็งแรง” 

อเล็กเล่าว่า ตัวเองชอบวาดรูปมากกว่าแต่ตอนนั้นยังวาดรูปไม่เป็น เลยได้น้องสาวมาช่วยวาดรูปประกอบนิยายแทนแต่ก็ไม่ถูกใจ จึงเริ่มต้นวาดรูปลงกระดาษโดยการเรียนรู้จากยูทูป พอได้ไอแพดมาก็ขอให้แม่และพี่ชายช่วยโหลดโปรแกรมวาดภาพเอาไว้ฝึกฝนด้วยตัวเอง และเริ่มวาดภาพสะสมทีละภาพทีละฉากไว้ประกอบนิยายในจอยลดา พอเขียนรูปได้ก็ไม่อยากเขียนเรื่อง เพราะการเล่าเรื่องด้วยภาพชัดเจนกว่าการบรรยายเป็นตัวอักษร อเล็กยกเรื่องทอมแอนด์เจอรี่ให้เป็นการ์ตูนที่ชอบมากเพราะใช้ภาพในการเล่าเรื่อง ดูปุ๊บเข้าใจปั๊บ รับรู้ความหมายได้หลากหลาย ส่วนสไตล์การวาดที่เรียกว่าเป็นซิกเนเจอร์ของอเล็ก คือ การวาดตัวละครหรือคนที่จัดเต็มองค์ประกอบและสีสันของฉากหลัง โดยมี “สีฟ้า” เป็นสีที่โปรดปราน

“ครั้งแรกที่รู้คือ ตอนที่ลูกมาขอให้ช่วยเปิดบัญชีเงินฝากให้ใหม่ไว้รอรับรายได้จากนิยายที่ได้ลงในจอยลดา เพราะเค้าไปมุบมิบทำกันเองสองคนพี่น้อง พอได้เข้าไปอ่านยิ่งตกใจเพราะอเล็กเริ่มต้นงานเขียนว่า เมื่อโลกที่สงบสุขถูกความมืดกลืนกินแสงสว่างจนไม่เหลืออีกแล้วเรื่องราวเดินทางของเด็กชายซึ่งมีพลังแสงสว่างจึงเกิดขึ้น…”  ซึ่งไม่ใช่การขึ้นต้นว่า กาลครั้งหนึ่ง…” อย่างที่เราคิดว่าเด็ก ๆ ทั่วไปมักเขียนกัน จนต้องถามย้ำว่าแต่งเองจริงรึเปล่า ไม่ได้ลอกใครเค้ามาแน่นะ ส่วนบทนำก่อนเข้าเรื่องก็บอกแบบไม่อายใครว่า ตัวเองเป็นเด็กพิเศษ มีน้องสาวเป็นคนวาดรูปประกอบให้ เราก็ชื่นชม ปลื้มใจว่า ลูกเก่ง”

ทว่า การที่ลูกได้รับการยอมรับจากสังคมและผู้อื่น คงเป็นสิ่งชูใจคนเป็นพ่อแม่มากที่สุด เมื่อนิยายของอเล็กที่ลงในจอยลดาและมีผู้อ่านมากพอสมควรถูกนับเป็นผลงานสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน เพื่อนกลุ่มใหม่ ๆ ที่เติมเข้ามาในชีวิตเมื่อขึ้น ม4. ทำให้อเล็กได้เพื่อนสนิทเป็นเด็กพิเศษด้วยกัน เริ่มมีสังคมที่ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป กระทั่งเพื่อนสมัยประถมที่ไม่อยากเป็นเพื่อนกับอเล็ก พอรู้ว่าอเล็กแต่งนิยาย วาดรูปได้ ยังทักไลน์มาว่า แกเก่งนะ

“พี่คิดว่า ความพยายามและการฝ่าฟันอุปสรรคด้วยกันมาตลอดหลายปีได้หล่อหลอมให้อเล็กเกิดความภูมิใจในตัวเอง กล้าพูดกล้าทำและพิสูจน์ตัวตนให้เป็นที่ยอมรับได้ในแบบฉบับของตัวเอง”

“รูปสร้างเรื่อง” สู่ตลาดงานศิลป์ NFT

ก่อนเข้าสู่ตลาดการค้างานศิลปะดิจิทัล NFT แม่กบเล่าว่า คอลเลคชันภาพวาดของอเล็กจากทั้งหมดกว่า 100 รูป ที่ถูกเลือกมาจัดแสดงในนิทรรศการ โลกของอเล็ก แล้วเชิญกลุ่มญาติและเพื่อน ๆ ที่รู้จักกันมาชมงาน เริ่มต้นจากความคิดแค่ต้องการทำ“พอร์ตโฟลิโอ” สรุปผลงานของอเล็กไว้ใช้สำหรับสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยตามคำแนะนำของ ครูจัน จันทร์ธดี จันทรเสน โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ซึ่งรู้จักอเล็กมาตั้งแต่เด็ก ตอนแรกวางแผนกันว่า จะจัดงานเล็ก ๆ ที่ออฟฟิศ แต่ความที่พื้นที่คับแคบจึงติดต่ออาคารด้านข้างที่ว่างอยู่ แต่วันดีคืนดีเพื่อนรัก ม่อน ณัฐกานต์ บุญสอน เจ้าของรายการสัมมนาการลงทุนและทำเพจ Business Line & Life ซึ่งเปิดคลาสสอนเล่นหุ้นที่แอมปาร์ค จุฬาฯ ใจดีให้ยืมพื้นที่จัดงานเมื่อช่วงวันเด็กที่ผ่านมา โดยพี่ชายอเล็กซึ่งจบโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลป์ มาช่วยคัดเลือกจนได้ภาพจัดแสดงรวม 19 ภาพ เป็นภาพวาดประกอบนิยายที่อเล็กเป็นคนแต่ง รวมทั้งได้เชิญคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาเป็นแขกพิเศษในงาน ภายหลังการฟังบรรยายภาพแต่ละภาพโดยอเล็กนานราว  3 ชั่วโมง อเล็กได้มอบภาพ“Hello Morning World” ให้คุณอภิสิทธิ์เป็นที่ระลึก ซึ่งเป็นภาพที่สื่อให้เห็นถึงด้านดีและร้ายที่มีอยู่ในตัวคนทุกคนเหมือน ๆ กัน แต่จะดีที่สุดถ้า เราได้เป็นตัวของเราเอง” 

“สุดท้ายการจัดนิทรรศการภาพวาดโลกของอเล็กกลายเป็นความตั้งใจของเราที่อยากส่งต่อแฮชแท็ก #อย่ายอมแพ้ #Nevegiveup ออกไป อเล็กบอกว่า เมื่อคนอื่นทำได้ ผมก็ทำได้ (You can do it. I can do it.) ซึ่งเป็นสิ่งที่นิยามความเป็นโลกของอเล็กที่ ใช่ที่สุด แล้วในความคิดพี่ เพราะการไม่ยอมแพ้ ทำให้เค้าไม่หยุดฝึกฝนเพื่อเอาชนะข้อจำกัดของตัวเอง”

เงินรายได้จากภาพทุกภาพในวันนั้น อเล็กและครอบครัวตัดสินใจมอบให้มูลนิธิออทิสติกไทย เมื่อถามว่า ไม่เสียดายเลยเหรอที่เอาเงินจากการขายรูปรวมตั้ง 8 หมื่นบาทไปบริจาคจนหมด อเล็กกลับบอกว่า เงินก้อนนี้เยอะเกินไป และเขาไม่รู้จะเอาไปทำอะไรดี เลยอยากยกให้เป็นประโยชน์กับคนที่เป็นเหมือนเขาดีกว่า

“อเล็กบอกพี่ว่า ข้าวมันไก่จานละ 50 บาท ผมกิน 2 จาน แค่ร้อยเดียว แม่เลี้ยงได้ 

จากภาพวาดจุดประกาย 19 ภาพในงานนิทรรศการ และอีกหลายภาพที่แม่กบแอบถ่ายไปโพสต์ลงเฟซบุ๊คส่วนตัว และเที่ยวถามใครต่อใครว่า เข้าใจความหมายของภาพที่ลูกวาดหรือไม่ จนได้พบกับ บอย วรพจน์ ธาราศิริสกุล CTO บริษัท เจ เวนเจอร์ส เจ้าของแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายงานศิลปะดิจิทัล JNFT ซึ่งกำลังจับมือกับไปรษณีย์ไทยทำโปรเจกต์แสตมป์ดิจิทัล ให้ความสนใจรูปวาดของอเล็ก และอยากเอามาทำสแตมป์ดิจิทัลขายในตลาด JNFT หลังจากนั้นจึงมีการแตกไลน์ผลงานออกไปเป็นที่คั่นหนังสือ และภาพวาดซึ่งโพสต์ขายในราคา 100 เหรียญ JFIN มีลูกค้าสนใจสั่งซื้อไปแล้วทั้งสิ้น 3 ภาพ 

ปัจจุบัน ผลงานภาพวาดของอเล็กไม่ได้จำกัดวงอยู่ในกลุ่มเพื่อนและคนใกล้ชิด หากได้รับการตอบรับจากบุคคลภายนอกที่สนใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ตัวละครที่อเล็กสร้างขึ้นก็กำลังเติบโตและกลายร่างแบบมีสไตล์ของตัวเอง อาทิ ตัวละคร “ทามะ” ซึ่งถูกซื้อลิขสิทธิ์ในร่างดัดแปลงใหม่เป็นภาพนางฟ้าเพื่อไปทำโลโก้เครื่องบินเล็กของบริษัท ไทยสกาย หรือ ทอมมี่ ธนา โพธิกำจร จาก Line BK ซึ่งสนใจให้อเล็กสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ตัวละครในเวอร์ชันใหม่ขึ้นมาเพื่อไปใช้กับแบรนด์

ไม่เพียงเท่านั้น ทางแม่กบยังริเริ่มโปรเจกต์พาอเล็กและเด็กพิเศษคนอื่น ๆ ไปเดินสายพบสื่อ เพื่อฝึกการพูด การพรีเซนเตชันเป็นปีแรก ซึ่งได้เสียงตอบกลับจากคุณครูว่า เด็ก ๆ ชอบมาก ภูมิใจมากและอยากให้พาไปอีก พ่อแม่ของน้อง ๆ ก็อิ่มใจมีความสุข จึงชักชวนกันว่าจะพาเด็ก ๆ ไปเดินสายกันอีกในปีหน้า

ความสุขเดียวกันของฉันและเธอ

แม้อเล็กจะบอกเราว่า สิ่งที่ทำบางครั้งก็ไม่ได้มีความสุข แต่ทุกครั้งที่ทำแล้วมองเห็นความสุขของแม่ลูกอย่างเขาก็มีความสุข ขณะที่หมุดหมายแห่งความสุขของคนเป็นแม่ คือ แต่ละก้าวที่ก้าวหน้าของอเล็กซึ่งกำลังเติบโตไปเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างที่หวัง มีผลงานศิลปะที่ได้รับการยอมรับ และที่สำคัญ คือ การที่ลูกได้ทำและเป็นในสิ่งที่ลูกมีความสุข  เช่นกัน

“จำได้ว่า สมัยเด็ก ๆ พี่พาอเล็กกับเอินไปฝึกเรียนร้องเพลงเล่นเปียโน ตอนนั้นคิดว่าหรือจะให้อเล็กเป็นครูสอนเปียโนดี ก็ซื้อเปียโนให้ อเล็กก็เครียด รู้สึกว่ายังไม่ใช่ตัวเค้า แต่พอเป็นการวาดรูป อันนี้พี่ไม่ต้องบอกแล้วว่า ให้ไปฝึก แต่ต้องบอกให้หยุดแล้วไปกินข้าว” 

และในหลาย ๆ ครั้งที่เรื่องราวของอเล็กได้รับการถ่ายทอดออกไป จะมีพ่อแม่ที่ประสบปัญหาอย่างเดียวกันโทรศัพท์มาขอคำปรึกษา สิ่งที่จะแนะนำก่อนเลย คือ พ่อแม่ต้องเปิดใจแล้วลองพาลูกเดินออกมา เพราะพ่อแม่หลายคนมักกลัวว่า คนอื่นจะมองลูกตัวเองว่าผิดปกติ เรื่องแบบนี้จึงต้องให้เวลา หมั่นเฝ้าสังเกตและหาให้เจอความสุขที่ลูกเราอยากได้และสมควรได้รับ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมไปในแต่ละช่วงชีวิตของเขาทีละขั้นละตอน  

“เด็กออทิสติกร้อยคนก็ร้อยแบบ เหมือนของขวัญแต่ละชิ้นที่ไม่เหมือนกัน ตัวพี่ได้ของขวัญชิ้นนี้มาแล้วบรรจงทำให้งอกงาม ทุกอย่างจึงเป็นเรื่องที่ต้องลองหรือนำไปปรับใช้ดู เผอิญจังหวะของอเล็กนั้นพอดี มีครอบครัวสนับสนุน คนรอบข้างพร้อมให้ความช่วยเหลือ แถมงานแสดงภาพที่จับพลัดจับพลูเกิดขึ้นสามารถต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทั้งกับตัวอเล็กเองและเด็กพิเศษคนอื่น ๆ”

ที่เหลือจากนี้คงปล่อยให้เดินไปตามวัย เวลา และการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ๆ ขออย่างเดียวแค่อเล็กมีความสุขกับตัวเองในทุกช่วงจังหวะชีวิต แม่ก็ไม่มีอะไรให้ห่วง

อเล็กส่งท้ายบทสนทนาในวันนั้นด้วยคำพูดจากใจ “ผมอยากขอบคุณแม่ ขอบคุณเอิน ขอบคุณคนอื่น ๆ ที่ทำให้มาถึงจุดนี้ และอยากขอบคุณตัวเองที่วาดรูปเก่ง”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

“บิทคับ เวนเจอร์ส” เพาะกล้า Fintech สตาร์ตอัพไทย

ธุรกิจไทยในกระแสสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เมื่อโลกพร้อมใจกระโดดไปพร้อมกัน

สะพานแห่งแสง “ทรานส์ลูเซีย” เมตาเวิร์ส เชื่อมโลกจริง-เสมือน สู่ความดีงามและความสุข

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ